"ผ่าตัดกระเพาะ" ทางเลือกลดน้ำหนักเพื่อสุขภาพ มีข้อดีข้อเสีย อยากทำต้องรู้อะไรบ้าง?
ปัจจุบันมีนวัตกรรมทางด้านการแพทย์สำหรับการลดความอ้วนเพิ่มมากขึ้น และการตัดกระเพาะ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยลดน้ำหนัก แม้จะมีข้อดีที่ช่วยลดน้ำหนักได้ทันตา แต่ก็มีข้อเสียที่ต้องพิจารณาก่อนคิดจะทำ
โรคอ้วน ภัยเงียบใกล้ตัวที่เป็นบ่อเกิดปัญหาสุขภาพและอาจนำไปสู่โรคอื่น ๆ ตามมาได้ จากสถิติผู้ป่วยโรคอ้วนในประเทศไทยสูงเป็นลำดับที่ 2 ของกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากประเทศมาเลเซีย คิดเป็น 16 ล้านคนที่เป็นโรคอ้วน ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ดังนั้นการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคอ้วนจึงเป็นสิ่งจำเป็น ปัจจุบันมีวิธีลดน้ำหนักมากมายเพื่อช่วยทำให้สุขภาพของผู้ป่วยโรคอ้วนดีขึ้นได้ แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงวิธีลดน้ำหนักโดย "การผ่าตัดกระเพาะ" ที่กำลังเป็นที่สนใจ มีความเสี่ยงอะไรบ้างที่จำเป็นต้องรู้ก่อนตัดสินใจทำ
วิธีการลดน้ำหนักที่แพทย์แนะนำ ซึ่งได้ผลและปลอดภัยในปัจจุบันมี 3 วิธี คือ
1.การควบคุมอาหาร โดยรับประทานไม่เกิน 800-1200 Kcal/วัน หรือใช้สูตรการลดอาหารที่เป็นที่ยอมรับอย่างถูกวิธี เช่น Atkins, Low carbohydrate, Intermittent fasting, Mediterranean diet สามารถลดน้ำหนักได้ประมาณ 6-9 %
2.การออกกำลังกาย ระดับปานกลาง, zone 2 ขึ้นไป, หรือให้ได้ 60-80% ของ Maximal heartrate เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ สามารถลดน้ำหนักได้ประมาณ 6-9 %
3.การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนัก สามารถลดน้ำหนักได้ประมาณ 18-40% ซึ่งมากพอจะลดโรคร่วมจากความอ้วนที่เกิดขึ้นแล้วได้ 60-93% และป้องกันโรคร่วมจากไขมันในร่างกายสูงสะสมได้หลายโรครวมถึงมะเร็งบางชนิด
เกณฑ์ของผู้ที่สามารถทำการตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักได้ คือ
1. อายุ ระหว่าง 18-65 ปี
2. เป็นผู้ป่วยโรคอ้วน คำนวณจากดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 32.5 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป
เนื่องจากมีผลการวิจัยพบว่าในคนกลุ่มนี้จะรักษาด้วยวิธีควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย หรือทานยาไม่ได้ผล เพราะในที่สุดก็จะกลับมาอ้วนอีก มีเพียงการผ่าตัดเท่านั้นที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้น้ำหนักลดลงได้ในระยะยาว อีกทั้งยังช่วยให้อาการโรคเบาหวานและความดันในคนอ้วนดีขึ้นด้วยหากไม่เป็นโรคอ้วน ผ่าตัดแล้วจะได้ผลไม่คุ้มกับความเสี่ยง
3. พยายามออกกำลังกายและควบคุมอาหารอย่างเต็มที่แล้วไม่ได้ผล
4. ไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัด เช่น โรคมะเร็ง ภาวะติดสุรา/สารเสพย์ติด โรคทางจิตเวช ผู้ที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้หลังผ่าตัด
การผ่าตัดกระเพาะสามารถลดน้ำหนักได้อย่างไร?
- ลดปริมาณอาหารเข้าสู่ร่างกาย โดยลดขนาดกระเพาะอาหาร ทำให้กินไม่มาก ก็อิ่มไว
- ลดการดูดซึมอาหาร โดยเปลี่ยนแปลงทางเดินอาหารให้อาหารที่เข้ามา มีระยะพบน้ำย่อยและดูดซึมลดลง
- ปรับฮอร์โมน ช่วยให้ร่างกายหิวน้อย, อิ่มเร็ว, อวัยวะทำงานดีขึ้น เช่น ฮอร์โมนรักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือด
1. Laparoscopic Sleeve Gastrectomy หรือเรียกสั้นๆ ว่า “สลีฟ (sleeve)” เป็นการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารให้เล็กลง โดยขนาดกระเพาะอาหารที่ยังคงอยู่หลังผ่าตัดเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย กระเพาะส่วนที่ตัดออกยังเป็นส่วนผลิตฮอร์โมนให้หิว จึงมีผลทั้งเรื่องลดปริมาณอาหารเข้าสู่ร่างกาย และปรับฮอร์โมน
2. Laparoscopic Gastric Bypass วิธีนี้เรียกสั้น ๆ ว่า “บายพาส (Bypass)” คือ การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารร่วมกับทําทางเบี่ยงทางเดินอาหาร ข้ามกระเพาะอาหารส่วนใหญ่และลำไส้เล็กส่วนที่ดูดซึมสูงไป โดยไม่มีการตัดส่วนใดออกจากร่างกาย ทําให้นอกจากลดปริมาณแคลลอรี่เข้าสู่ร่างกาย ปรับฮอร์โมน แล้วยังลดการดูดซึม เป็นการผ่าตัดที่มีขั้นตอนมาก ใช้เวลาในการผ่าตัดมากกว่า แต่ลดน้ำหนักได้มากกว่า และลดโรคร่วมจากความอ้วนได้ดีกว่า โดยเฉพาะเบาหวาน
ข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัดลดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก
ข้อดี
- แผลผ่าตัดเล็ก
- ใช้เวลาฟื้นตัวหลังการผ่าตัดน้อย
- ผู้ป่วยสามารถเริ่มกลับมาออกกำลังกายได้ตามปกติทันที (ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม)
- ทีมแพทย์เฉพาะทางมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์โดยตรง จะทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพต่างๆ- - เพื่อสนับสนุนและวางแผนการรักษาเป็นอย่างดี โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด
ข้อเสีย
- มีผลข้างเคียงเหมือนกับการผ่าตัดทั่วไป และอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดได้
- ไม่เหมาะกับคนที่มีโรคประจำตัว
เนื่องจากร่างกายของคนเรามีความแตกต่างกัน รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะปล่อยผ่านไม่ได้ จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์โดยตรง เพื่อวางแผนการรักษาให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และมีการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลพญาไท