สัญญาณ “ฮอร์โมนเพศบกพร่อง”ก่อนกระดูกพรุนโรคที่ผู้หญิงเสี่ยงมากกว่า
ฮอร์โมน คือ สารเคมีทางธรรมชาติที่ต่อมไร้ท่อต่างๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายและสภาวะจิตใจสมดุลแข็งแรง เมื่อไหร่ที่เกิดความบกพร่องมักมีปัญหาต่างๆตามมา เช็กเลย อาการแบบนี้ ฮอร์โมนเพศบกพร่อง หรือไม่ ?
ฮอร์โมนเป็นสารเคมีทางธรรมชาติที่ต่อมไร้ท่อต่างๆ ในร่างกายผลิตขึ้น เมื่อยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ฮอร์โมนของคุณจะมีมากจนเต็มล้น ซึ่งทำให้คุณผู้หญิงมีผิวพรรณที่สวยสดใส มีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส ส่วนคุณผู้ชายก็จะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง เต็มไปด้วยพละกำลัง เมื่ออายุที่มากขึ้น ก็ทำให้การผลิตฮอร์โมนต่างๆ ของต่อมไร้ท่อนั้นลดลง ส่งผลต่อสุขภาพในที่สุด เผยสัญญาณและอาการที่บ่งชี้ว่าระดับฮอร์โมนในร่างกายบกพร่อง
วัยไหนก็เป็นได้! “วัยทอง” สัญญาณ-พฤติกรรมเสี่ยงทั้งชายและหญิง
อย่าละเลย! “วัยทอง” ฮอร์โมนไม่สมดุล ส่งผลเสียมากกว่าที่คิด
ฮอร์โมนมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น
- โกรท ฮอร์โมน (Growth Hormone) ที่สร้างจากต่อมใต้สมอง จะช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโตในวัยเด็ก และช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายในวัยผู้ใหญ่
- ฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid Hormone) ที่สร้างจากต่อมไทรอยด์ จะช่วยดูแลเรื่องระบบการเผาผลาญอาหาร หากฮอร์โมนไทรอยด์ลดต่ำลง ก็จะกลายเป็นคนอ้วนง่าย เชื่องช้า แต่จะโทษว่าความอ้วนเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะตราบใดที่คุณยังกินอาหารในปริมาณเท่าเดิมแต่ไม่ออกกำลังกายเลย เมื่ออายุมากขึ้นคุณก็จะมีรูปร่างที่อ้วนขึ้นได้ง่าย
ต่อมไร้ท่อที่ช่วยควบคุมการทำงานของร่างกาย ที่แบ่งแยกเพศอย่างชัดเจนจะมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ
- ในเพศหญิง รังไข่ จะสร้างฮอร์โมนเพศหญิง Estrogen และ Progesterone ซึ่งช่วยในเรื่องของการมีรอบเดือน การตั้งครรภ์หรือการมีบุตร สภาพของผิวพรรณ ความเต่งตึง ชุ่มชื้น ทั้งยังช่วยควบคุมเรื่องของอารมณ์ไม่ให้แปรปรวนง่าย รู้สึกสดชื่นกระฉับกระเฉง ไม่อ่อนเพลีย รับมือกับความเครียดได้ดี มีความจำดี นอนหลับสนิท ช่วยสร้างภูมิต้านทาน ป้องกันโรคหัวใจ และป้องกันโรคกระดูกพรุน
- ในส่วนของเพศชาย ต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย Testosterone ก็คือ อัณฑะ ฮอร์โมนเพศชายนี้จะช่วยทำให้รูปร่างของผู้ชายกำยำล่ำสัน มีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ เสียงห้าว มีการตัดสินใจที่เฉียบขาด มีความเป็นผู้นำ ชอบการแข่งขัน ความจำดี อารมณ์ไม่แปรปรวนง่าย และทำให้มีความต้องการทางเพศเพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์
สัญญาณและอาการที่บ่งชี้ว่าระดับฮอร์โมนในร่างกายบกพร่อง
- ในผู้ชายจะมีอาการ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ความจำพร่าเลือน ขาดสมาธิ ขาดแรงกระตุ้นทางเพศ สมรรถภาพทางเพศเสื่อมหรือลดลง ปวดหลัง ปวดข้อ ขาดความกระปรี้กระเปร่า พละกำลังลดลง หดหู่ ซึมเศร้า ท้อแท้ต่อชีวิต อารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ตื่นตระหนก วิตกกังวล มีความเครียดสูง
- ส่วนในผู้หญิง จะมีอาการค่อนข้างชัดเจนและสังเกตเห็นได้ง่ายกว่า เช่น ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน ที่เรียกว่าอาการวัยทอง หรือประจำเดือนหมด (menopause) ทำให้มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออก เฉื่อยชา ขาดชีวิตชีวา อารมณ์หดหู่ ซึมเศร้า หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย เครียด วิตกกังวล ความจำพร่าเลือนหรือขาดสมาธิ ปวดศีรษะ หน้าอกหย่อนยาน การตอบสนองทางเพศไม่เป็นที่น่าพอใจ ช่องคลอดขาดความชุ่มชื้น สุขภาพผมและผิวเสียสมดุล และที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ จะมีภาวะกระดูกพรุน
5 ช่วงวัยผู้หญิง ควรให้ความสำคัญอะไร? โรคไหนที่ควรระวัง?
ทำอย่างไรเมื่อฮอร์โมนเสียสมดุล?
จากอาการดังกล่าวทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย จะทำให้คุณภาพชีวิตของหลายๆ คนแย่ลง การให้ฮอร์โมนทดแทนจะช่วยให้การทำงานของร่างกายกลับมาใกล้เคียงกับเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มเป็นสาวได้ เช่น มีความจำดีขึ้น มวลกระดูกหนาแน่นขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง และไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถรับฮอร์โมนทดแทนได้
การดูแลสุขภาพตามหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิต
ความเครียดมีผลต่อการสร้างฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อ โดยเฉพาะฮอร์โมนไทรอยด์ และหากฮอร์โมนตัวใดตัวหนึ่งลดลงหรือมีความผิดปกติ ก็จะส่งผลต่อต่อมไร้ท่อและฮอร์โมนชนิดอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เราจึงควรดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีตามหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) อันประกอบด้วย 6 ส่วน ที่สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
- Food : การรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ มีโปรตีนสูง หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน ไม่กินอาหารแปรรูป กินผักใบเขียว ผลไม้ไม่หวาน เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนนั
- Exercise : ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- Sleep : นอนหลับให้มีคุณภาพ
- Stress Management : การจัดการกับความเครียด ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ
- Avoidance of Risky Substances : เลี่ยงพฤติกรรมอันตราย เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่
- Social Connection : มีความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมของเรา เพราะจะทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ดี
และอีกข้อที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อคัดกรองความเสี่ยงโรคต่างๆ จะได้รีบป้องกัน ลดความเสี่ยงการลุกลามรุนแรง และรักษาอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยหรือเข้าสู่ วัยทอง เราสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการดูแล และรักษาสุขภาพในขณะที่เรายังมีสุขภาพที่ดีได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท
“แอลกอฮอล์” ปัจจัยกระตุ้น “มะเร็งเต้านม”ในผู้หญิงขึ้น 15 %
ผู้หญิงรูปร่าง “ลูกแพร์-แอปเปิล” เสี่ยงมะเร็ง-โรคหัวใจกว่าหลายเท่า