วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด 2 ชนิด เชื้อเป็นกับเชื้อตายใครบ้างควรฉีด?
โรคงูสวัด โรคที่สามารถหายเองได้แต่จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหากผู้ป่วยภูมิตคุ้มกันต่ำ เผยวัคซีนป้องกันเชื้องูสวัด 2 ชนิดเกราะป้องกันสำคัญที่หลายคนจำเป็นต้องฉีด!
โรคงูสวัด คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส VZV (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส โรคงูสวัดมักจะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไปที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว เพราะเมื่อหายจากการเป็นโรคอีสุกอีใส เชื้อไวรัสอีสุกอีใสจะไปหลบอยู่ในปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันถดถอยตามวัย เชื้อจะถูกกระตุ้นขึ้นมาก่อให้เกิดโรคงูสวัด
ระยะโรคงูสวัด อาการนำก่อนผื่นขึ้นตามแนวเส้นประสาทอักเสบ
“โรคงูสวัด”สัญญาณแรกที่คนพักผ่อนน้อยต้องระวัง วิธีรักษา-ป้องกัน
ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคงูสวัด
- ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีภาวะที่ภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยลง และมากกว่า 90% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เคยติดเชื้อโรคอีสุกอีใสมาแล้ว ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดโรคงูสวัด
- ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคไต รวมถึงผู้ที่เคยติดเชื้อ Covid-19
- กลุ่มผู้ปวยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น กลุ่มที่ปลูกถ่ายไขกระดูกหรือปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองอย่างโรคเอสแอลอี ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
งูสวัด อาการเป็นอย่างไร
โรคงูสวัดอาการเริ่มแรก ผู้ป่วยจะมีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส มักเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นเเถวยาวตามแนวเส้นประสาท ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลและตกสะเก็ด และมักมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนังร่วมด้วย บางรายมีอาการปวดบริเวณผิวหนัง 4-5 วัน ก่อนที่จะมีตุ่มน้ำเกิดขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นโรคงูสวัด
- โรคปวดเส้นประสาท คือ มีอาการปวดเส้นประสาทตลอดเวลา อาจจะเกิดชั่วคราวหรือจะเกิดรุนแรงจนมีอาการปวดถาวรหลังจากผื่นหาย
- ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจนเกิดเป็นแผลเป็น อาการงูสวัดขึ้นตา ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง แม้พบไม่บ่อยแต่รุนแรงมาก เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้อหุ้มสมองตาย ใบหน้าเป็นอัมพาตครึ่งซีก (Ramsay Hunt syndrome)
ผู้ที่เคยเป็นโรคงูสวัด มีโอกาสเป็นซ้ำประมาณ ร้อยละ 6.2 โดยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อายุมากกว่า 50 ปี ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี เป็นโรคมะเร็ง เป็นต้น
การรักษาและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคงูสวัด
- ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันปกติอาจรักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาแก้ปวด เช่น paracetamol ibuprofen เนื่องจากโรคนี้สามารถหายได้เอง
- ผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก การได้รับประทานยาต้านไวรัส เช่น acyclovir ภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะช่วยให้รอยโรคทางผิวหนังหายได้เร็วขึ้นและลดความรุนแรงของโรค รวมถึงลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้
- ประคบแผลด้วยน้ำเกลือ ครั้งละประมาณ 10 นาที 3-4 ครั้ง/วัน จะช่วยทำให้แผลแห้งเร็วขึ้น
- ในรายที่ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะชนิดทาหรือรับประทานร่วมด้วย
- ถ้ามีอาการปากเปื่อยลิ้นเปื่อยให้ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก
- ตัดเล็บสั้น ไม่แกะเกา และอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมและกลายเป็นแผลเป็น
- ถ้ามีอาการปวดหลังการติดเชื้อ สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลแก้ปวด ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
- ไม่พ่นหรือทายา เช่น ยาพื้นบ้านหรือยาสมุนไพรลงไปตรงบริเวณตุ่มน้ำ เพราะอาจติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้แผลหายช้า และกลายเป็นแผลเป็นได้
การป้องกันการแพร่กระจายของโรคงูสวัด
การสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผลของผู้ป่วยงูสวัดอาจทำให้ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดเป็นโรคสุกใสได้ ดังนั้นควรแยกข้าวของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดตัว ที่นอนของผู้ป่วยโรคงูสวัดกับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน
งูสวัดพันรอบเอวตายจริงหรือไม่ ? เคยติดเชื้อแล้วป่วยซ้ำได้อีกหรือไม่?
วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ถือเป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุด ปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ
- วัคซีนป้องกันงูสวัด ชนิดใหม่ ซับยูนิตวัคซีน (ไม่ใช่เชื้อเป็น) Recombinant subunit zoster vaccine (RZV)
วัคซีนชนิดนี้ไม่มีไวรัสวาริเซลลา-ซอสเตอร์ที่มีชีวิต แต่จะใช้โปรตีนเฉพาะของไวรัสที่เรียกว่าไกลโคโปรตีนอีแทนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัด 97% และประสิทธิภาพในการป้องกันอาการปวดเส้นประสาท (PHN) 91.2% ในผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไปเมื่อติดตามยาวนานถึง 10 ปี พบว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัด 89% แนะนำฉีดในผู้ใหญ่ อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 2 เข็ม ห่างกัน 2-6 เดือน
ใครควรฉีดวัคซีนชนิดใหม่
แนะนำฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดมากกว่าปกติ เช่น
- ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา
- ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์
- ผู้ที่รับการรักษาด้วยรังสีวิทยาหรือเคมีบำบัด
เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าคนปกติ จึงทำให้เสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 2 เข็ม ห่างกัน 1-2 เดือน เนื่องจาก วัคซีนป้องกันงูสวัด ชนิดใหม่ ไม่มีไวรัสที่มีชีวิต จึงปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออ่อนแอ
- วัคซีนป้องกันงูสวัดชนิดเดิม เชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ - Live-attenuated zoster vaccine (ZVL) วัคซีน เชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์
หมายถึงวัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรคแต่เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดในผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป วัคซีนสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ 51% และป้องกันการเกิดอาการปวดปลายประสาทอักเสบได้ 39% อาจพิจารณาให้ ZVL ขนาด 0.65 มล. 1 โดส ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ในผู้ที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ห้าม ให้วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (ZVL) ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง หรือสตรีตั้งครรภ์ กรณีที่เคยได้รับวัคซีนงูสวัดชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (ZVL) มาก่อน สามารถรับวัคซีนชนิดซับยูนิตวัคซีนได้ โดยให้ 2 เข็ม และเว้นห่างหลังจากวัคซีนเดิม อย่างน้อย 2 เดือน
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล และ โรงพยาบาลสมิติเวช
ภาพจาก shutterstock
ป่วยอีสุกอีใสมาก่อนต้องระวังงูสวัด เผยอาการแทรกซ้อนอันตราย!
วิธีรักษาอาการปวดปลายประสาทโรคงูสวัด เทคนิคทำให้แผลผื่นหายเร็ว!