“มะเร็งลำไส้ใหญ่” สัญญาณคล้ายโรคทั่วไป แต่ห้ามละเลยเสี่ยงลุกลามรุนแรง
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นชนิดมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 3 ของคนไทย เกินครึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เผยสัญญาณเตือน ละเลยรักษายากอันตรายถึงชีวิต
มะเร็งลำไส้ (Colorectal cancer) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เซลล์มะเร็งเริ่มลุกลามที่บริเวณลำไส้ใหญ่ที่เป็นอวัยวะลำดับสุดท้ายของระบบทางเดินอาหาร พัฒนามาจากติ่งเนื้อหรือการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเยื่อบุลำไส้ แน่นอนว่าในระยะแรกของมะเร็งทุกชนิดแทบไม่มีสัญญาณเตือน หรือต่อให้มีอาการก็มีความคล้ายคลึงกับโรคที่ไม่ได้รุนแรง และกว่าคนไข้จะรู้ตัวก็ลุกลามรุนแรงไปไกลมากแล้ว
4 ความเสี่ยงออกกำลังกายหนักเกินไป สุขภาพพังแทน หากไม่ใส่ใจสมดุล
ความเสี่ยง “ไขมันสะสม” อันตรายต่อตับ-ค่าไขมันในเลือด บั่นทอนสุขภาพ!
7 อาการและสัญญาณเตือนโรคมะเร็งลำไส้
- ถ่ายเป็นเลือด หากพบว่ามีเลือดปนกับอุจจาระควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษา ทั้งนี้อาการถ่ายเป็นเลือดอาจไม่ได้มีสาเหตุจากมะเร็งลำไส้เสมอไป อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ได้เช่น โรคริดสีดวงทวาร
- ระบบขับถ่ายเปลี่ยนแปลง เมื่อระบบขับถ่ายผิดปกติเช่น ท้องผูกหรือท้องเสียอย่างต่อเนื่องระยะเวลาหนึ่ง หาสาเหตุไม่ได้
- ปวดบริเวณหน้าท้องไม่ทราบสาเหตุ อาการปวดท้องเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ควรพบแพทย์หากมีอาการปวดบริเวณหน้าท้องอย่างต่อเนื่องและหาสาเหตุไม่ได้
- ท้องอืดต่อเนื่อง ท้องอืดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุเช่นเดียวกับอาการปวดท้อง ควรพบแพทย์เมื่อเกิดอาการท้องอืดอย่างต่อเนื่องและหาสาเหตุไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยเช่นอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด
- น้ำหนักลดผิดปกติ อาการนี้เป็นสัญญาณเตือนที่ค่อนข้างเด่นชัดโดยเฉพาะเมื่อน้ำหนักลดลงโดยไม่ได้จงใจลดน้ำหนัก
- อาเจียนผิดปกติหาสาเหตุไม่ได้ อาการนี้มีความรุนแรงและอันตราย โดยเฉพาะเมื่ออาเจียนถี่ภายใน 24 ชม. และหาสาเหตุไม่ได้
- เหนื่อยหอบและหายใจถี่ อาการนี้เป็นอาการหนึ่งของโรคโลหิตจาง ซึ่งอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคมะเร็งลำไส้
เดินวันละ 1 หมื่นก้าว ช่วยฟื้นสุขภาพ โรคประจำตัวดีขึ้นจริงหรือไม่?
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้
มะเร็งลำไส้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ได้มีสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งอย่างชัดเจน อาจเป็นปัจจัยด้านสุขภาพและพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งสภาพแวดล้อม การรับการรับประทานอาหาร เช่น
- การสูบบุหรี่ รวมถึงการเคี้ยวใบยาสูบและสูบบุหรี่ไฟฟ้า
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- การบริโภคอาหารไขมันสูง ใยอาหารต่ำ เนื้อแดงและผลิตภัณฑ์แปรรูปมากเกินไป
- ขาดการออกกำลังกาย
- อายุที่มากขึ้น ในความเป็นจริงมะเร็งลำไส้สามารถตรวจเจอได้ในคนทุกวัย แต่ในเชิงสถิติโดยส่วนใหญ่มักตรวจพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป
- เคยตรวจเจอติ่งเนื้อหรือเคยรักษามะเร็งลำไส้มาก่อน
- มีภาวะลำไส้อักเสบ เช่น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคโครห์น(โรคในกลุ่มลำไส้อักเสบชนิดหนึ่ง)
- กลุ่มโรคทางพันธุกรรมที่เพิ่มโอกาสการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ การกลายพันธุ์ หรือ mutation ของยีนบางอย่างสามารถส่งต่อและเพิ่มโอกาสการเป็นโรคในรุ่นถัดไปได้ อย่างไรก็ตามกรณีนี้มีเปอร์เซ็นต์เพียงน้อยนิดเท่านั้น
- คนในครอบครัวมีประวัติหรือกำลังเป็นโรคมะเร็งลำไส้ โรคเบาหวาน ผู้ที่มีโรคเบาหวาน หรือภาวะดื้ออินซูลินจะมีโอกาสเสี่ยงมะเร็งลำไส้มากกว่าปกติ
- โรคอ้วน มีปัจจัยหลายอย่างในแง่ของโภชนาการและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนซึ่งเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้มากกว่าปกติ
จะเห็นได้ว่าอาการที่กล่าวมา มีความคล้ายคลึงกับโรคทั่วไปจึงทำให้สังเกตได้ยาก แต่หากมีอาการผิดปกติอย่างต่อเนื่องหาสาเหตุไม่ได้ แม้สาเหตุนั้นไม่ได้เกิดจากมะเร็งลำไส้ อาจมาจากภาวะหรือโรคบางอย่างก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา
คัดกรองไขมันพอกตับ- มะเร็งตับ รู้เร็วช่วยป้องกันลดความเสี่ยงได้
ขี้โมโห หดหู่ง่าย สัญญาณโรคซึมเศร้า เป็นนานเกิน 2 สัปดาห์รีบพบแพทย์