น้ำมันปลาและน้ำมันตับปลา ต่างกันอย่างไร? ใครบ้างควรกินเสริมสุขภาพได้!
หลายคนสับสนว่า น้ำมันตับปลาและน้ำมันปลา ต่างกันอย่างไร? สกัดจากตรงไหนของปลา ชนิดไหนมีส่วนช่วยลดระดับไขมันในเลือด?
ปลา ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพที่ดีที่สุด เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการบดเคี้ยว หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคไต และผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะ นิ่มเคี้ยวง่าย ย่อยง่าย ไขมันต่ำ มีรสชาติหวานอร่อย แถมยังอุดมไปด้วยวิตามินบี1 บี2 บี6 และวิตามินดี มีโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว มีความจำเป็นต่อร่างกายเพราะช่วยในกระบวนการเผาผลาญให้เกิดเป็นพลังงาน
"โอเมก้า 3” ช่วยลดไขมันเลว กินปลาไทยชนิดไหนได้เยอะสุด
“ปลา” โปรตีนชั้นดีย่อยง่าย ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ-ลดความดันโลหิต

ยังไม่ก่อให้เกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง ทำเมนูได้หลากหลายไม่จำเจ นับเป็นโปรตีนทางเลือกจากเนื้อสัตว์ที่อยู่ในระดับท็อปเลยทีเดียว!
ซึ่งนอกจากปลาสดๆที่ทำได้หลากหลายเมนูด้วย น้ำมันตับปลา และ น้ำมันปลา ยังเป็นตัวช่วยเรื่องสุขภาพที่หลายคนสนใจ แต่รู้หรือไม่ 2 ชนิดนี้ไม่เหมือนกัน!
น้ำมันตับปลา VS น้ำมันปลา
- น้ำมันตับปลา (Cod liver oil) สกัดจากตับของปลาทะเล นิยมรับประทานเพื่อเสริมวิตามินเอ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเยื่อบุผิวให้เป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีวิตามินดี ที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมรวมทั้งฟอสฟอรัสบริเวณลำไส้เข้าสู่ร่างกาย ทำให้การสร้างกระดูกเป็นไปอย่างปกติ
- น้ำมันปลา (Fish oil) น้ำมันที่สกัดมาจากปลาจากแหล่งธรรมชาติ สกัดจากเนื้อ หนัง หัว และหางปลาทะเล อาทิ ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอร์ริ่ง ปลาแมคคอเรล ปลาแซลมอน ปลาทูน่า น้ำมันปลามีกรดไขมันที่ร่างกายคนเราไม่สามารถสร้างเองได้ โดยเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ในกลุ่มโอเมก้า 3
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมักได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้รับประทานน้ำมันปลา เพราะมีส่วนช่วยลดระดับไขมันในเลือด และยังช่วยลดการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
3 เมนูโปรตีนสูง ทำง่ายได้ทุกวัน เพิ่มกล้ามเนื้อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
รับประทานน้ำมันปลาอย่างไรจึงจะปลอดภัย
- บุคคลทั่วไป ควรรับประทานปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมทั้งอาหารที่มีกรด alpha – linolenic acid สูง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง เมล็ดธัญญพืช เต้าหู้ เป็นต้น
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรรับประทานน้ำมันปลา ประมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้ป่วยที่ต้องการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ควรรับประทานวันละ 2-4 กรัม
ก่อนตัดสินใจรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสียก่อนเพื่อความปลอดภัย และพึงระวังว่าการรับประทานน้ำมันปลาขนาดสูง อาจทำให้ระดับวิตามินอีในร่างกายลดลง อย่างไรก็ตามแม้เลือกกินน้ำมันตับปลา หรือ น้ำมันปลา ก็ควรกินเป็นเพียงวิตามินเสริมเพื่อให้ช่วยเสริมสุขภาพมากขึ้น และควรกินเนื้อปลาและอาหารให้ครบ 5 หมู่ ด้วย อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นต้องซื้อปลาแพง ๆ มารับประทาน แนะนำให้เลือก ปลาทู ปลาตะเพียน ก็มีสารอาหารเหล่านี้ครบถ้วนแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
3 โปรตีนคุณภาพสูงเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง ลดภาวะแทรกซ้อน เพิ่มโอกาสรอดชีวิต