เปิดปม “สุขภาพจิต” ของวัยรุ่น รีบสังเกตเยียวยาก่อนรุนแรง!
อย่ามองข้ามปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น! เผยผลสำรวจอายุต่ำกว่า 18 ปีกว่า 3.6 แสนคน พบเสี่ยงซึมเศร้าฆ่าตัวตายสูง ขณะที่ข้อมูลจาก WHO พบปัญหาสุขภาพจิตคิดเป็น 16% ของปัญหาสุขภาพทั้งหมด
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยการสำรวจข้อมูลกลุ่มเด็กและวัยรุ่น อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 360,069 ราย ของกรมสุขภาพจิต ผ่านแอปพลิเคชั่น Mental Health Check-in ระหว่างวันที่ 12 ก.พ.65 - 27 ก.พ.67 พบเสี่ยงซึมเศร้าถึง 39,105 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.86 เสี่ยงฆ่าตัวตาย จำนวน 65,951 ราย คิดเป็นร้อยละ 19.12
“สุขภาพจิต”วัยทำงาน สาเหตุการสูญเสียระดับโลก ภัยเงียบไม่ควรมองข้าม
สัญญาณซึมเศร้า พบ 5 ข้อรีบพบแพทย์ ผ่อนหนักเป็นเบาหายขาดได้!

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อปี 2564 พบว่า ในประชากรวัยรุ่น อายุระหว่าง 10-19 ปี ปัญหาสุขภาพจิตคิดเป็น 16% ของปัญหาสุขภาพทั้งหมด โดยกว่าครึ่งของผู้มีปัญหาสุขภาพจิต เริ่มมีปัญหาตั้งแต่อายุ 14 ปี แต่ไม่เคยได้รับการตรวจหรือบำบัด รักษา
ทั้งนี้พบว่าในวัยรุ่น ปัญหาสุขภาพจิตเป็นตัวการสร้างความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และการฆ่าตัวตายจัดเป็นสาเหตุลำดับ 3 ของการเสียชีวิตของประชากรวัย 15-19 ปี
นอกจากนี้ จากจำนวนประชากรวัยรุ่นทั่วโลก ที่ 90% อาศัยในประเทศรายได้ขั้นกลางและขั้นต่ำ จำนวนการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นกว่า 90% เกิดในประเทศเหล่านี้
ข้อมูลจาก Mental Health Foundation (UK) ระบุว่า มีเด็กและวัยรุ่นราว 1 ใน 10 ที่เผชิญปัญหาสุขภาพจิต โดย 70% ของเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหา ไม่ได้รับการตรวจหรือรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพกว่า ขณะที่ในยุโรป WHO ระบุว่ามีราว 8%-23% ของเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิต จากสถิติข้างต้นจะเห็นว่า ปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นเป็นเรื่องใหญ่ และกำลังเกิดขึ้นในทุกประเทศจริงๆ
ทั้งนี้ข้อมูลจาก นพ.พนม เกตุมาน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่มีปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุดวัยหนึ่ง แสดงออกมาในรูปพฤติกรรมต่างๆ เช่น ดื้อ ไม่เชื่อฟัง ละเมิดกฎเกณฑ์ มีเพศสัมพันธุ์แบบไม่เหมาะสม ใช้ยาเสพติด ทำผิดกฎหมาย ติดเกม ติดการพนัน โดยพฤติกรรมบางอย่างมักเกิดขึ้นมานาน ทำให้แก้ไขยาก
นอกจากนี้ในยุคดิจิทัล ที่วัยรุ่นใช้เวลาบนโลกอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ก็ทำให้มีปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งสื่อ ข้อมูล โอกาสเจอคนหลากหลายเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้เสี่ยงเพิ่มปัญหาสุขภาพจิตให้หนักขึ้นด้วย
ยุคโควิด-19 มีผลซ้ำเติมปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่นให้เพิ่มมากขึ้น HealthDay News (มี.ค. 2564) เปิดเผยผลสำรวจผู้ปกครองเกือบ 1,000 คนที่มีลูกวัยรุ่นพบว่า เกือบครึ่งของผู้ปกครองสังเกตุว่าลูกตนมีสัญญาณความเครียดหรือสุขภาพจิตที่แย่ลง ส่วนหนึ่งเพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่อยากอยู่กับเพื่อน ชอบเข้าสังคม แต่โควิดจำกัดให้วัยรุ่นเจอเพื่อนได้น้อยลง
ทั้งนี้ ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต มักมีปัญหาในการปรับตัว มีอาการทางจิตเวช เช่น เครียด ซึมเศร้า เมื่อเจอปัญหา แม้เป็นปัญหาเล็กๆ ก็ปรับตัวได้ลำบากการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นจึงมีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญกว่า
ปรับวิธีคิดแก้นิสัยขี้ระแวง ลดความเครียด เลี่ยงโรควิตกกังวล ซึมเศร้า
วิธีการป้องกันสุขภาพจิตวัยรุ่น
-
พ่อแม่และโรงเรียนสามารถมีส่วนในการป้องกันได้ โดยเริ่มตั้งแต่ส่งเสริมสุขภาพจิตในวัยเด็ก คุณหมอให้ข้อมูลว่า เด็กที่มีพัฒนาการของบุคลิกภาพดี จะมีภูมิต้านทานโรคทางจิตเวช และช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นได้มาก
-
ฝึกให้เด็กมีอีคิว ไม่กลัวปัญหา นอกจากเป็นคนเก่งและคนดีแล้ว ยังต้องมีความสุขให้ได้ด้วย
-
สร้างวงจรของความสุข เด็กทุกคนควรมีวิธีทำให้ตนเองมีความสุข สร้างความสุขด้วยตัวเองได้ ส่งเสริมให้เด็กได้ทำสิ่งที่ชอบหรือถนัด เพราะเด็กมักทำได้ดี ทำแล้วมีความสุข ช่วยสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากทำสิ่งนั้นอีก ช่วยสร้างวงจรแห่งความสุข วงจรนี้ช่วยให้เด็กไกลจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ยาเสพติด
สำหรับทริคอื่นๆ เช่น ปรับการนอนให้มีคุณภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เรียนรู้การคิดแบบแก้ปัญหา ไม่กลัวปัญหา พัฒนาทักษะทางสังคม และบริหารจัดการอารมณ์ มีส่วนสำคัญในการสร้างสุขภาพจิตที่ดีสำหรับวัยนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสุขภาพจิต
ผลสำรวจเยาวชนใน กทม. มีเครียดสูงเสี่ยงซึมเศร้าแนะสิทธิให้คำปรึกษาฟรี!
วิธีพูดคุยและดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาหายเร็วขึ้น