การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ได้มีความสำคัญและเป็นที่จับตามองแค่ต่อประชาชนชาวไทยเท่านั้น แต่ยังอยู่ในความสนใจของ “ชาวเมียนมา” ซึ่งมาพำนัก หาเลี้ยงชีพ หรือกระทั่งลี้ภัยอยู่ในไทย รวมประมาณ 1.5 ล้านคน
ประเด็นสำคัญที่ทำให้ชาวเมียนมาจับตามองการเลือกตั้งของไทยครั้งนี้คือ พวกเขาสนใจว่า รัฐบาลใหม่จะเปลี่ยนท่าทีต่อรัฐบาลทหารเมียนมาที่มาจากการรัฐประหารหรือไม่?
ในสายตาชาวเมียนมา ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ท่าทีของไทยในช่วงที่ผ่านมาต่อรัฐบาลทหารจะไม่ใช่การต่อต้านอย่างรุนแรง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอง แรกเริ่มเดิมทีก็ขึ้นสู่อำนาจจากการรัฐประหาร และด้วยความเป็นผู้นำทหาร ก็ทำให้กลายเป็นโมเดลที่กองทัพเมียนมาและ มิน อ่อง หล่าย อาจมองเป็นแบบอย่าง
แต่หากการเลือกตั้งครั้งนี้มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจที่ไม่ใช่ทหารอีกต่อไป ชาวเมียนมาก็อาจได้มองเห็นความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะเพิ่มแรงกดดันต่อเมียนมา และสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา
มะ ข่าย เต็ด (นามสมมติ) นักวิจัยจากเมียนมา บอกว่า การเลือกตั้งทำให้เกิดความหวังริบหรี่ว่า หากประเทศไทยเปลี่ยนตัวผู้บริหารที่แตกต่างกันออกไป อาจมีโอกาสที่ไทยจะสนับสนุนขบวนการต่อต้านรัฐประหารที่นำโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่จัดตั้งขึ้นโดยสภาเมียนมาเดิมที่ถูกโค่นล้ม
“หากฝ่ายค้านของไทยจัดตั้งรัฐบาล พวกเขาน่าจะสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยของเมียนมาได้ โดยอาจร่วมมือกับสหรัฐฯ แต่ฉันกังวลว่าจีนที่สนับสนุนมิน อ่อง หล่าย จะกดดันรัฐบาลชุดใหม่ของไทย” มะ ข่าย เต็ด กล่าว
เธอบอกว่า เธอลี้ภัยมายังประเทศไทยหลังจากอดีตเพื่อนร่วมงานของเธอถูกทหารจับเข้าคุกเมื่อปีที่แล้ว และจนถึงตอนนี้เธอยังคงกังวลเกี่ยวกับการถูกส่งตัวกลับประเทศ เนื่องจากหากกลับไปเธออาจถูกจำคุกและอาจถูกทรมานได้
“รัฐบาลทหารไทยและรัฐบาลทหารพม่ามีความสัมพันธ์แบบ ‘พี่กับน้อง’ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่รักษาความสัมพันธ์ทางการทูตที่แน่นแฟ้นกับรัฐบาลทหารเมียนมา และมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมาย เช่น ก๊าซในทะเลอันดามัน ความสนใจดังกล่าวกระตุ้นให้พวกเขาบ่อนทำลายการปฏิวัติของเรา” เธอบอก
เลือกตั้ง 2566 : เปิดไทม์ไลน์ หลัง "บิ๊กตู่" ประกาศยุบสภาฯ ยังประชุม ครม.ได้ - ห้ามแต่งตั้งโยกย้าย
เลือกตั้ง 2566 : เลขาฯ กกต.แจงละเอียด หลังยุบสภา ห้ามอะไรบ้าง
ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติชี้ กองทัพเมียนมาอาจเจริญรอยตาม “ประยุทธ์โมเดล”
ด้าน ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสให้ไทยได้รีเซตยุทธศาสตร์และเปลี่ยนท่าทีต่อเมียนมา
“ประเทศไทยต้องการรัฐบาลที่มีคุณภาพที่แตกต่างกันภายใต้การนำที่แตกต่างกันเพื่อรับมือเมียนมา เนื่องจากแนวทางที่มีอยู่กำลังเป็นไปในทิศทางที่แย่” โดยอาจารย์ให้เหตุผลว่ารัฐบาลใหม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมกับ NUG
“แนวทางความสัมพันธ์เมียนมาของไทยกำลังทำลายสถานะระหว่างประเทศของเรา ทั้งสองประเทศมีพรมแดนติดกันยาว แน่นอนเราไม่อยากเห็นเมียนมาเป็นอย่างคาบสมุทรบอลข่าน แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยควรเชื่อฟังสภาบริหารแห่งรัฐ (ชื่อทางการของรัฐบาลทหารเมียนมา) ... การต่อต้านการรัฐประหารมีมากขึ้น พวกเขามีความมุ่งมั่นและแรงกล้า เราควรทำงานร่วมกับพวกเขาด้วย และประเทศไทยควรจัดให้มีช่องทางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย”
หนึ่งในพรรคการเมืองฝ่ายค้านของไทยที่ออกมาแสดงท่าทีเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาคือพรรคเพื่อไทย โดยเมื่อรัฐบาลของ มิน อ่อง หล่าย ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 4 คนเมื่อปีที่แล้ว พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ว่า “เราสนับสนุนอย่างแน่วแน่ต่อสิทธิในการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยและได้รับการคุ้มครองโดยหลักนิติธรรม รวมถึงการพิจารณาคดีอย่างเสรีและเป็นธรรม พลเมืองของทุกประเทศรวมถึงไทยควรได้รับสิทธิ์ในการประกันตัว”
อย่างไรก็ตาม แซ็ก อาบูซา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากวิทยาลัยการสงครามแห่งชาติในสหรัฐฯ มองว่า รัฐบาลใหม่ของไทยอาจเจอกับความท้าทายหากต้องการเปลี่ยนท่าทีต่อรัฐบาลทหารเมียนมา
“รัฐบาลใหม่ของไทยจะต้องเดินเบา ๆ และเลือกการต่อสู้อย่างระมัดระวัง และต้องไม่เข้าข้างกองทัพไทย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทหารเมียนมา” อาบูซากล่าว
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่แสดงการสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อผู้นำทหารเมียนมาในเวทีระหว่างประเทศ โดยเมื่อปีที่แล้ว ทูตพิเศษของไทยประจำเมียนมาเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เปิดรับแผนการเลือกตั้งของรัฐบาลเมียนมามากขึ้น
ด้าน เลทิเทีย ฟาน เดิน อัสซัม อดีตเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ กล่าวว่า “มิน อ่อง หล่าย และนายพลของเขาสร้างความหวังในการเลือกตั้งด้วยโมเดลของไทย แต่ระยะหลังมานี้ ประเทศไทยถูกตำหนิอย่างมากจากภายในอาเซียนและนอกประเทศเกี่ยวกับวิธีที่อินโดนีเซียได้ก้าวข้ามแผนการของอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน”
“มีนักการเมืองไทยหลายคนที่มีจุดยืนที่มั่นคงกว่าในเมียนมาร์ และผู้นำไทยจำนวนมากควรตระหนักว่าเมียนมาร์กำลังสร้างปัญหามากมายให้กับไทย ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย อาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น ระลอกคลื่นของผู้ลี้ภัย เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ควบคุมโดยจีนตามแนวชายแดนซึ่งเป็นแหล่งกบดานของอาชญากรรมข้ามชาติ” อาบูซากล่าว
เขาเสริมว่า “คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จงใจเพิกเฉยต่อต้นตอของปัญหาเหล่านั้น”
เรียบเรียงจาก Al Jazeera
ภาพจาก AFP