มัดรวมบทบาท “ทักษิณ” กับการเมืองไทย ในช่วงตลอด 30 ปี!

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ย้อนบทบาททางการเมือง “ทักษิณ” ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เกิดอะไรกับการเมืองไทย – จะมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยจากนี้อย่างไร?

จากกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพักโทษและเดินทางออกจากโรงพยาบาลตำรวจไปยังบ้านจันทร์ส่องหล้าเมื่อช่วงเช้าตรู่ที่ผ่านมา หลังจากรับโทษครบกำหนด 180 วันก่อนได้พักโทษ

ทำให้เกิดคำถามว่าหลังจากนายทักษิณได้รับการพักโทษแล้ว จะมีอิทธิพลหรือบทบาททางการเมืองในช่วงหลังจากนี้หรือไม่ แม่ขณะนี้จะยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบเรื่องดังกล่าวได้ แต่ “พีพีทีวี” จะพาไปย้อนรอยบทบาททางการเมืองของนายทักษิณ ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะสะท้อนบทบาททางการเมืองหลังจากนี้ได้ไม่มากก็น้อย

อัยการ นัด“ทักษิณ” 10 เม.ย.ฟังคำสั่งคดี ม.112 เชื่อ ป่วยหนักพูดแทบไม่มีเสียง-นั่งวิลแชร์

“ทักษิณ”โผล่เข้าพบ อสส. รับทราบคำสั่งนัดในคดีผิด 112

เปิดภาพล่าสุด “ทักษิณ” นั่งชิลริมสระในบ้านจันทร์ส่องหล้า

บทบาททักษิณ ช่างภาพพีพีทีวี
จุดเริ่มต้นบทบาททางการเมือง ทักษิณ ชินวัตร

 

จุดเริ่มต้นบทบาทการเมือง

โดยนายทักษิณ ชินวัตร ได้เริ่มต้นบทบาทบนเส้นทางการเมืองของเขา ในปี 2537 โดยในครั้งนั้น พลตรี จำลอง ศรีเมือง ได้ชักนำนายทักษิณเขาเข้าสู่การเมือง โดยเริ่มแรกนั้นเขาสังกัดพรรคพลังธรรม ซึ่งพลตรีจำลองเป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น

ต่อมานายทักษิณได้ลาออกจากพรรคพลังธรรม และก่อตั้งพรรคไทยรักไทยในปี 2541 หลังจากนั้น 3 ปีต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในสภา นายทักษิณจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก นโยบายเด่นของเขา ได้แก่ การขยายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การลดความยากจนและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการประกาศสงครามกับยาเสพติด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสมัยแรกจนครบวาระสี่ปี

หลังจากนั้นผลการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปปี 2548 ก็ทำให้นายทักษิณ สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

จุดวิกฤติบนเส้นทางการเมือง

ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 นี้ รัฐบาลนายทักษิณถูกกล่าวหาหลายอย่าง ขณะเดียวกันตัวของนายทักษิณเอง ก็โดนข้อกล่าวหาในหลายเรื่องดัวยเช่นกัน อาทิ การซุกหุ้น, การเลี่ยงภาษี, การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ การขายทรัพย์สินของบริษัทไทยให้นักลงทุนต่างชาติกรณีขายหุ้นชินคอร์ป ซึ่งจากข้อกล่าวหาข้างต้น ทำให้กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดการประท้วงใหญ่โดย กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี  2549

ซึ่งการประท้วงดังกล่าวนำไปสู่จุดวิกฤติทางการเมืองครั้งใหญ่ โดยในวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลนายทักษิณ ทำให้นายทักษิณพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นในเวลาต่อมา คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นผู้แต่งตั้ง ทำการอายัดทรัพย์ของทักษิณและครอบครัวในประเทศไทยรวม 76,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเขาร่ำรวยผิดปกติขณะอยู่ในตำแหน่ง

นอกจากนั้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 พรรคไทยรักไทยที่นายทักษิณก่อตั้งขึ้น ถูกศาลรับธรรมนูญสั่งยุบพรรค ด้วยข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ถอนสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค 111 คน เป็นเวลา 5 ปี

บทบาททักษิณ FB / Thaksin Shinawatra
ทักษิณ กับบทบาท คนแดนไกล

บทบาท “คนแดนไกล”

ทั้งนี้หลังจากถูกก่อรัฐประหาร นายทักษิณได้เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หลังพรรคพลังประชาชนซึ่งสืบทอดจากพรรคไทยรักไทย เอาชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่นานหลังจากนั้นนายทักษิณต้องออกนอกประเทศอีกครั้ง หลังคดีความต่างๆ มีแววที่จะเป็นลบต่อตัวเขา

ซึ่งการเดินทางออกนอกประเทศในครั้งที่สองของทักษิณนี้ ส่งผลให้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน เป็นเวลายาวนานถึง 15 ปี ซึ่งระหว่างนั้น นายทักษิณยังถูกตัดสินจำคุก 2 ปีในคดีที่ดินรัชดาฯ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้นายทักษิณไม่เดินทางกลับมายังประเทศไทยนับจากนั้น

 

จุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหว “คนเสื้อแดง”

แต่นายทักษิณได้ปรับบทบาทมาสู่ผู้สนับสนุนหลักของ กลุ่มคนเสื้อแดง และ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เริ่มมีการลุกฮือเคลื่อนไหวในขณะนั้น โดยมีชนวนเหตุมาจากการรัฐประหารและการดำเนินคดีกับนายทักษิณเป็นหลัก และส่งผลให้สถานการณ์การเมืองร้อนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อพรรคพลังประชาชน ที่เป็นพรรคใหม่ที่ถูกก่อตั้งหลังมีการยุบพรรคไทยรักไทย ถูกยุบพรรคซ้ำรอยพรรคไทยรักไทยอีกครั้ง

ต่อมาในปี 2552 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ทำการเพิกถอนหนังสือเดินทางของทักษิณ ถัดมาจากนั้นในปี 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ทรัพย์สินประมาณ 46,000 ล้านบาทของนายทักษิณ ตกเป็นของแผ่นดิน และนายทักษิณถูกถอดยศ พันตำรวจโท ในปี 2558

 

“คนแดนไกล” ที่มีอิทธิพลต่อการเมืองไทย

แม้ในระหว่างที่นายทักษิณต้องใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน แต่ปรากฎว่าเขามีอิทธิพลต่อการเมืองในประเทศไทยหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย มีบทบาททางการเมือง โดยในระหว่างเวลาที่นายทักษิณอยู่ต่างแดนมักจะมีพรรคการเมืองจากพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย เดินทางไปพบนายทักษิณที่ต่างประเทศบ่อยครั้ง จนนายทักษิณถูกมองว่ามีอิทธิพลต่อการเมืองไทยแม้จะอยู่ในต่างประเทศก็ตาม

และในช่วงเวลาเดียวกันนายทักษิณก็ยังมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง และการชุมนุมของ กลุ่มคนเสื้อแดง และ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่แยกราชประสงค์ ในปี 2553 ซึ่งมีการใช้กระสุนจริงในการปราบปรามผู้ชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 99 ศพ

บทบาททักษิณ FB / Yingluck Shinawatra
2 นายกรัฐมนตรี พี่น้องชินวัตร

 

2 นายกรัฐมนตรี พี่น้องชินวัตร

หลังการยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้เกิดพรรคเพื่อไทย ขึ้นมาทดแทน และในปี 2554 ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติเลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 1 เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของนายทักษิณ หรือ “สายตรงทักษิณ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยมีการออกแคมเปญหาเสียงที่สื่อถึงอิทธิพลของนายทักษิณต่อการเมืองไทยอย่างชัดเจน ด้วยสโลแกนที่ว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”

ซึ่งหลังการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หญิงคนแรกของไทย และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ที่มีนามสกุล ชินวัตร แต่อย่างไรก็ตามนายทักษิณได้วางตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์แยกออกจากพรรคเพื่อไทย จากบทเรียนการยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน ที่มักจะพ่วงด้วยการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคด้วย ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เป็นหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริการพรรคเพื่อไทย

 

นริโทษกรรม “ทักษิณ” วิกฤตการณ์การเมืองอีกรอบ

นอกจากบทบาทผู้มีอิทธิพลเบื้องหลังรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว นายทักษิณยังกลายเป็นชนวนเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเวลาต่อมาอีดด้วย โดยความพยายามออกพระราชบัญญัติอภัยโทษหรือการนิรโทษกรรม ที่ถูกสังคมมองว่าต้องการเปิดทางให้มีการนิรโทษกรรมนายทักษิณ

จนทำให้เกิดการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. หรือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเครื่อนไหวคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะประเด็นความล้มเหลวจากนโยบายจำนำข้าว ซึ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมการชุมนุม จนรัฐบาลยากจะควบคุมและต้องยุบสภาเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่

แต่ระหว่างนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง ขณะที่รัฐบาลอยู่ในสภาพของรัฐบาลรักษาการ จนสุดท้ายนำไปสู่การปฏิวัติ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร

และผลพวงของวิกฤตการณ์ทางการเมืองในครั้งนั้นยังส่งผลทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกับนายทักษิณ ซึ่งต้องเดินทางออกไปอาศัยในต่างแดนด้วยเช่นกัน

หลังจาก วิกฤตการณ์การเมือง และวิบากรรมที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เผชิญ ทำให้นายทักษิณเริ่มมีทีท่าลดบทบาทตัวเองต่อการเมืองในประเทศไทยลง มีความเคลื่อนไหวผ่านหน้าสื่อลดลง

บทบาททักษิณ care talk
ทักษิณ กับบทบาท Tony Woodsome

 

บทบาท “Tony Woodsome”

จนมาถึงช่วงปี 2564 นายทักษิณเริ่มบทบาททางการเมืองอีกครั้ง ผ่านการวิพากษ์วิจารณืการเมือง ผ่านแอปพลิเคชันสนทนาผ่านเสียง Clubhouse (คลับเฮาส์) โดยใช้ชื่อว่า Tony Woodsome ซึ่งหลายครั้งสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์พอสมควร ซึ่งตอกย้ำถึงอิทธิพลที่นายทักษิณมีต่อการเมืองในประเทศไทยที่ยังไม่หายไปแม้เจ้าตัวจะอยู่ในต่างประเทศ

และในช่วงตั้งแต่ปี 2564 – 2566 นายทักษิณ ในบทบาทของ Tony Woodsome มีการส่งสัญญาณพูดถึงความต้องการเดินทางกลับประเทศไทยถี่ขึ้น และมักจะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองตามมาเสมอ

 

บทบาท “ผู้ยอมรับกระบวนการยุติธรรม”

กระทั่งในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2566 กระแสข่าวลือว่านายทักษิณเตรียมเดินทางกลับประเทศไทยมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหลายครั้งที่นายทักษิณเป็นคนพูดเรื่องกลับบ้านด้วยตนเอง ก่อนที่ “อุ๊งอ๊งค์” จะออกมายืนยันว่านายทักษิณมีแผนที่จะเดินทางกลับประเทศไทย

แต่ด้วยช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในระหว่างการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา และเป็นช่วงการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง การประกาศแผนกลับประเทศไทยของทักษิณจึงถูกมองว่ามีนัยยะทางการเมืองพ่วงมาด้วย โดยเฉพาะเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองต่อการเลือกนายกและการจัดตั้งรัฐบาลในเวลาต่อมา

กนระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ทักษิณได้เดินทางกลับประเทศไทยตามที่เคยประกาศเอาไว้ โดยรวมระยะเวลาลี้ภัยในต่างประเทศนานกว่า 15 ปี

และทันที่ที่ถึงประเทศไทยเขาถูกนำตัวไปจำคุกที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครในวันเดียวกัน แต่ได้ย้ายไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจทันทีในคืนดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยลดโทษจำคุกให้ทักษิณ จากเดิม 8 ปี คงเหลือ 1 ปี ส่งผลให้ทักษิณได้รับการพักโทษเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 และได้กลับออกไปพักฟื้นที่บ้านจันทร์ส่องหล้าทันที

 

ดังนั้นคงจะต้องจับตากันต่อไปว่าบทบาทของนายทักษิณ หลังจากนี้จะมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยหลังจากนี้มากน้อยแค่ไหน และข้อสังเกตุที่หลายฝ่ายมองว่านายทักษิณจะมีสภาพเป็นเหมือนนายกรัฐมนตรีอีกคน คู่กับนายเศรษฐา ทวีสิน จะเป็นจริงหรือไม่

บทบาททักษิณ IG / ingshin21
จับตา ทักษิณกับบทบาททางการเมืองหลังจากพักโทษ

เปิดตำราข้อควรปฏิบัติของชาวพุทธ ใน “วันมาฆบูชา 2567”

ย้อนฟังเรื่องราว “ไอซ์ ปรีชญา” มรสุมทดสอบชีวิต

ราชทัณฑ์ แจงปล่อยตัวพักโทษ “ทักษิณ” เป็นไปตามกฎหมาย

Bottom-AllStar Bottom-AllStar

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ