“ก้าวไกล” มีโอกาสรอด นักวิเคราะห์เชื่อศาลอาจพิจารณา “ยังไม่ยุบพรรค”

โดย PPTV Online

เผยแพร่

จากกรณีตัดสินคดีพรรคก้าวไกลที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค. นี้ นักวิเคราะห์มองว่า น่าจะรอด แต่เป็นการรอดแบบ “ยังไม่ถูกยุบ” ไม่ใช่ “ไม่ยุบ”

สัปดาห์นี้การเมืองไทยร้อนแรงกว่าที่เคย เพราะวันที่ 7 ส.ค. นี้จะเป็นการชี้ชะตาแล้วว่า “พรรคก้าวไกล” จะถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคหรือไม่ ซึ่งผลของการตัดสินอาจสร้างแรงกระเพื่อมหรือผลกระทบบนเกมกระดานการเมืองไทย

ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่จับตาเรื่องนี้ เพราะแม้แต่ทูต องค์กรสากล และสื่อต่างประเทศ ต่างกำลังเฝ้าดูสิ่งที่กำลังจะเกิดกับประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสที่ประชาคมโลกฝ่ายประชาธิปไตยอาจไม่ต้องการคบหาสมาคมกับประเทศที่มีพฤติกรรมแปลก ๆ เหมือนจะเบี่ยงเบนไปจากความเป็นประชาธิปไตย

คอนเทนต์แนะนำ
“จิรัฏฐ์” แฉ! รมต.กระทรวงปล่อยน้ำ เสนอซื้อตัว 20-30 ล้าน หากก้าวไกลถูกยุบ
เดือนพิพากษา "พรรคก้าวไกล" โพลชี้ ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อพรรคไม่ถูกยุบ!
มั่นใจ "ก้าวไกล" รอดแน่! พร้อมเตรียมแผนขยายพรรคไม่หวั่นถูกยุบ

พรรคก้าวไกลมีโอกาสรอด นักวิเคราะห์เชื่อศาลอาจพิจารณา “ยังไม่ยุบ” ช่างภาพพีพีทีวี
พรรคก้าวไกลมีโอกาสรอด นักวิเคราะห์เชื่อศาลอาจพิจารณา “ยังไม่ยุบ”

และนี่คือประเด็นถูกหยิบยกมาพูดคุยกันในรายการ เข้มข่าวเย็น ช่วง Exclusive Talk ทางช่อง PPTV HD 36

เช็กโปรแกรมกีฬาโอลิมปิก 2024 เวลาแข่งขัน Olympic 2024 วันที่ 6 ส.ค.67

เปิดประวัติ "บี" จันทร์แจ่ม นักมวยสากลหญิงไทย ในศึกปารีสเกมส์ 2024

ผ้าคลุมรถกันความร้อน และ 4 ไอเทมที่ช่วยทำให้รถดูสวยใหม่ตลอดเวลา

สายตาจากภายนอกอาจมีผลต่อการพิจารณา

พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า เบื้องต้นขณะนี้มีความมั่นใจว่า “รอด” จากข้อต่อสู้เกี่ยวกับหลักการของคณะกรรมาธิการเวนิส (Venice Commission) หรือคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมองว่าการยุบพรรคเป็นเรื่องผิดหลักการ

“ตามหลักการ การยุบพรรคควรเป็นวาระสุดท้าย เป็นเงื่อนไขสุดท้าย เพราะพรรคการเมืองมาจากประชาชน การจะให้ยุบหรือไม่ยุบควรต้องเป็นหน้าที่ประชาชน ต้องมีมาตรการอื่นก่อน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องใช้” พล.ต.ต.สุพิศาลกล่าว และเสริมว่า การยุบพรรคไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลเสริมว่า “ที่มีน้ำหนักสุตอนนี้คือดคณะกรรมการเวนิส เพราะเป็นสิ่งที่สากลโลกใช้อยู่ เป้นที่มาของศาลรัฐธรรมนูญหลายศาลในโลก เรามีอธิปไตยของเราก็จริง แต่เรายังต้องสัมมนากับเขา เดือน ก.ย. นี้เขาจะมาไทยด้วย”

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เห็นด้วยว่า ต้องคำนึงถึงบรรยากาศและสภาพแลดล้อมจากประชาคมโลก

ถ้าถามว่าทำไมต้องสนใจ เพราะไทยยังอยู่ในประชาคมโลก อาจมีประเด็นเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศ “ทำไมต้องห่วง เพราะเขายังนับเราเป็นหนึ่งในประชาคมโลกอยู่ บทบาทรัฐบาลไทยส่งผลกับประชาคมต่าง ๆ เขาคงไม่อยากทำธุรกรรมกับประเทศที่ล้มลุกคลุกคลานทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง”

อาจารย์บอกว่า เท่าที่สัมผัสกับองค์กรสากลและสื่อต่างประเทศ พบว่ามีอาการห่วงในสิ่งที่เกิดกับประเทศไทย เพราะมีลักษณะเป็นการวนลูป จากเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ตั้งแต่ยุคเสื้อเหลืองเสื้อแดง มีลูปของปัญหา ความขัดแย้ง ความรุนแรง ยึดอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง แล้วกลับมาขัดแย้งอีก เขากังวลว่าไทยจะออกมาจากวังวนนี้อย่างไร

“ระยะยาวมองประเทศไทยอยู่ในโลกฝ่ายประชาธิปไตย ศาลต้องชั่งน้ำหนัก โดยเฉพาะถ้าไม่ได้ยุบเพราะผิดกฎหมายเลือกตั้ง หรือผู้นำมีคุณสมบัติต้งห้าม แต่โยงเรื่อง ม.112” ดร.สติธรกล่าว

เขาเสริมว่า สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่เพียงประมุขแห่งรัฐ แต่ยังเป็นศูนย์รวมใจ ถ้าใช้เหตุนี้ในการยุบพรรค อาจทำให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ ความไม่พอใจอาจขยายวงจนไม่ใช่แค่การแข่งขันชิงอำนาจระหว่างพรรค แต่ลึกซึ้งกว่านั้น

“ความขัดแย้งที่ผ่านมาพระมหากษัตริย์ทรงเป็นทางออกของความแตกแยกหลายครั้งด้วยซ้ำ ที่ไม่ขัดแย้งรุนแรงแบบต่างประเทศเพราะมีสถาบัน แต่ถ้าขัดแย้งจนดึงสถาบันลงมาด้วย เกิดรัฐประการอีก ต่างชาติอาจมองว่าไม่เป็นผลดี” อาจารย์สติธรบอก

ออกได้ 3 หน้า “ยุบ” – “ไม่ยุบ” – “ยังไม่ยุบ”

ดร.สติธรบอกว่า สถานการณ์ตอนนี้มีโอกาส 3 รูปแบบ คือ ยุบพรรคตามคำร้องของ กกต. หรือไม่ยุบพรรค ด้วยหลักใดก็ตาม และรูปแบบสุดท้ายที่น่าสนใจคือ “ยังไม่ยุบ”

อาจารย์สติธรมองว่า เหตุที่ยังไม่ยุบ อาจเกิดจากการที่ศาลไม่วินิจฉัย เพราะกระบวนการที่ กกต. ทำเรื่องมา ถ้าศาลบอกว่ากระบวนการไม่ชอบ ก็ต้องกลับไปทำมาใหม่ ซึ่งการจะยุบพรรคการเมืองกระบวนการไม่ชอบไม่ได้

ดร.สติธรบอกว่า ความคิดเห็นส่วนตัว ตอนนี้ให้น้ำหนักอยู่ตรงกลางว่ายังไม่ยุบ โดยมองว่าไม่ใช่เรื่องกฎหมายอย่างเดียว มีเรื่องการเมืองที่หลายฝ่ายต้องคิดผลดีได้ด้วย

“ในทางยุทธศาสตร์ สมมติถ้าเป็นผม ถ้าผมเป็นคนมีอำนาจที่ไม่ชอบก้าวไกล อยากยุบ หรือทำให้อ่อนแอ ก็ต้องคิดแล้วว่า เคยยุบพรรคอนาคตใหม่ไปแล้วในช่วงเวลาคล้ายกัน คือตั้งสภามาได้ 1 ปีกว่า ๆ แต่ยุบแล้วคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งถัดมาเพิ่มขึ้นคูณ 2 จะเดินซ้ำรอยเดิมทำไม ต้องเก็บไว้ก่อน” อาจาร์สติธรกล่าว

เขาเสริมว่า “เก็บก้าวไกลไว้อาจจะเป็นเสี้ยนหนามก็จริง แต่คดียุบพรรคหรือคดีอะไรก็ตามที่จะทำให้พรรคก้าวไกลต้องดิ้นรนสู้ก็เป็นหนามทิ่มแทงเขาเหมือนกัน แล้วเรื่องอะไรจะต้องยุบให้ก้าวไกลมีโอกาสตั้งหลักใหม่ เพราะเขาจะมีเวลา 3 ปีในการเตรียมเลือกตั้ง ดังนั้นปล่อยคาราคาซังไว้ดีกว่า”

ยุบหรือไม่ยุบก็ไม่หวั่น

พล.ต.ต.สุพิศาลยอมรับว่า กรณีของการยังไม่ยุบจะทำให้เดินยุทธศาสตร์ยากกว่าการยุบหรือไม่ยุบ และเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้เช่นกันในความเห็นตน

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.สุพิศาลมองว่า ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ก็มีสิ่งจะไม่เปลี่ยนแปลงอยู่

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า ตอนยุบพรรคอนาคตใหม่ครั้งแรก ทุกคนไม่เคยเจอ Original Voter มาก่อน เกิดการประมาทว่าการเมืองต้องซื้อเสียง ต้องเป็นระบบบ้านใหญ่ ระบบอุปถัมภ์ นั่นคือการเมืองเก่า แต่การเมืองใหม่เกิดหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ประชาชนเห็นบทบาททั้งหลังบ้าน ผู้สมัคร สส.ที่ทำการบ้านในสภาอย่างเข้มงวด จนเห็นว่าการตรวจสอบจากคนรุ่นใหม่ก็ถึงพริกถึงขิง มีการใช้เครื่องมือใหม่ ไม่มีวาทกรรม มีแต่เนื้อหาข้อมูลเด็ด ๆ ที่ไปขุดจนเจอ สร้างผลงานในสภา ใช้คำพูดเป็นหมุดมหายแล้วลงมือทำขับเคลื่อนให้ดู

หรือเรื่องการแก้กฎหมาย ม.112 ตนยืนยันว่าเป็นความพยายามเพื่อสร้างสะพานเชื่อมสองมิติที่ขัดแย้งกัน มิติที่กำลังก้าวเร็ว และมิติความอนุรักษ์นิยม พยายามเชื่อมสะพานให้สมดุล และสร้างความมั่นคงให้กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย้ำว่าไม่ต้องการให้ใครแตะต้องหรือทำให้สถาบันแปดเปื้อน โดยเฉพาะการอ้างเรื่องความมั่นคง

ดร.สติธรเสริมว่า ถ้าอิงจากผลการวินิจฉัยเดิมที่ศาลแค่สั่งให้หยุดพฤติกรรม บอกว่านำไปสู่การเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ที่ทำให้ระบอบการปกครองพังทลาย อาจจะตีความว่า ที่ทำอยู่ยังไม่ใช่ แต่ถ้าปล่อยให้ทำต่อจึงจะเป็นการทำลาย ซึ่งพรรคก้าวไกลก็หยุดตามคำสั่งแล้ว ดังนั้นอาจไม่สามารถนำมาใช้อ้างยุบพรรคโดยอัตโนมัติได้

พล.ต.ต.สุพิศาลย้ำว่า ไม่ว่าพรรคก้าวไกลจะถูกยุบหรือไม่ หมุดหมายของพรรคได้ถูกฝังชิปลงไปหมดแล้วจนถึงระดับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ผ่านมาพรรคได้ขยายโอกาสทางความคิด ทำให้เห็นคนธรรมดาเดินเข้าสภา สส.หลายจังหวัดเป็นคนธรรมดา เป็นกรรมกร พ่อค้า แอร์โฮสเตส หมอ ทนาย ไม่ใช่ลูกบ้านใหญ่ ทุกคนมีสิทธิเป็น สส. มีสิทธิพูดในสภา

“เราจะเห็นภาพนี้ตลอดไป ไม่ว่าหัวขบวนรถไฟจะเปลี่ยนไปยังไง เป็นไฮบริดแล้ว ทันสมัย คราวหน้าจะเร็วกว่านี้” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว

ส่วนเรื่องงูเห่า ตนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เชื่อว่าจะมีน้อย สส.บางคนผ่านการสรรหามาอย่างดี ในการสัมภาษณ์ถามเรื่องความจงรักภักดีต่อพรรค แน่นอนว่าทุกคนจะตอบว่าไม่ไป แต่ต้องตอบเพิ่มด้วยว่า ถ้าไม่ไปแล้วจะทำอย่างไร จะอยู่รอดอย่างไร ย้ำเชื่อว่า สส.พรรคก้าวไกลไม่คิดสั้น

ดร.สติธรกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงต่อการเมืองในภาพใหญ่ว่า จะมีโอกาสเปลี่ยนเมื่อมีคนคิดการใหญ่ เพราะอีกสัปดาห์มีเรื่องคดีนายกฯ ถ้าเกิดนายกฯ หลุดจากตำแหน่ง จะเป็นการเปิดประตูบานใหญ่ คือการตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ราคา สส.ก้าวไกลจะยิ่งแพงขึ้น

อาจารย์เสริมว่า หรือต่อให้นายกฯ รอด วันนี้ก็เกิดกระแสแล้วว่าอาจจะมีการปรับ ครม. หลังเดือน ส.ค. ก็ทำให้มีการอัปราคาของงูเห่า มีการเสนอแรงจูงใจ ล่อใจด้วยโอกาสในการทำงานฝ่ายบริหาร เพราะครั้งหน้าต่อให้พรรคก้าวไกลได้อันดับ 1 ก็อาจไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ถ้ามาตอนนี้ได้เป็นเลย

ต้องมารอชมกันว่า การเมืองไทยหลังจากนี้จะเป็นไปในทิศทางไหนกันแน่?

Bottom-PL-24 Bottom-PL-24

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ