งานวิจัยใหม่พบว่า โควิด-19 สามารถติดเชื้อในเซลล์ที่ผลิตอินซูลินในตับอ่อนและเปลี่ยนการทำงานของมันได้ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่า ทำไมคนที่มีสุขภาพดีก่อนหน้านี้บางคนถึงเป็นเบาหวานหลังจากติดเชื้อโควิด-19
แพทย์ในต่างประเทศกำลังมีความกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในขณะติดเชื้อโควิด-19 หรือหลังจากหายจากโรคได้ไม่นาน
แพทย์แนะ “ผู้ป่วยเบาหวาน” รีบฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 หวั่นติดเชื้อแล้วป่วยหนัก
ผู้ป่วยเบาหวานเตรียมตัวอย่างไรก่อนไปฉีดวัคซีน โควิด-19
ก่อนหน้านี้มีการยกทฤษฎีต่าง ๆ มาอธิบายอัตราการป่วยเบาหวานในผู้ป่วยโควิด-19 หนึ่งคือไวรัสแพร่เชื้อไปยังเซลล์ตับอ่อนผ่านทางตัวรับ ACE2 ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่พบในเซลล์ปอด และขัดขวางความสามารถในการผลิตอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อีกทฤษฎีหนึ่ง คือการตอบสนองของแอนติบอดีที่มากเกินไปต่อไวรัสอาจทำให้เซลล์ตับอ่อนเสียหายโดยไม่ได้ตั้งใจ
ในการหาสาเหตุที่แน่ชัด ศ.เฉินสุ่ยปิง จาก Weill Cornell Medicine ในนิวยอร์ก ได้คัดกรองเซลล์และออร์กานอยด์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเซลล์ที่ปลูกในห้องปฏิบัติการซึ่งเลียนแบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เพื่อหาว่า เซลล์ใดกันแน่ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้งทำงานผิดปกติ
ผลการวิจัยชี้ว่า อวัยวะในปอด ลำไส้ใหญ่ หัวใจ ตับ และตับอ่อนสามารถติดเชื้อโควิด-19 ได้ทั้งหมด รวมถึงเซลล์สมองที่ผลิตโดปามีน หรือสารแห่งความสุข
การทดลองเพิ่มเติมพบว่า เซลล์ที่ผลิตอินซูลินภายในตับอ่อนมีความอ่อนไหวต่อเชื้อ และเมื่อติดเชื้อโควิด-19 แล้ว เซลล์เหล่านี้จะผลิตอินซูลินน้อยลง
ยังไม่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการติดเชื้อโควิดจ-19 ะคงอยู่นานหรือไม่ “อย่างไรก็ตาม เรารู้ว่าผู้ป่วยบางรายที่มีระดับน้ำตาลในเลือดไม่คงที่มากเมื่ออยู่ในห้องไอซียูและหายจากโรคโควิด-19 บางรายก็กลับมามีการควบคุมระดับน้ำตาลที่ปกติ” ศ.เฉินกล่าว
ในงานวิจัยที่แยกกันต่างหากของ ศ.ฟรานเชสโก ด็อตตา จากมหาวิทยาลัยเซียนาในอิตาลียืนยันว่า โควิด-19 สามารถโจมตีเซลล์ตับอ่อน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่โปรตีน ACE2 บนพื้นผิวของเซลล์
พวกเขายังพบว่า ระดับ ACE2 เพิ่มขึ้นภายใต้สภาวะการอักเสบ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากผู้ที่เป็นเบาหวานประเภท 2 อยู่แต่เดิม อาจมีการอักเสบภายในตับอ่อนอยู่แล้ว “ซึ่งหมายความว่าเซลล์ที่ผลิตอินซูลินเหล่านี้อาจไวต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากขึ้นเมื่ออักเสบ” ด็อตตากล่าว
นี่อาจหมายความว่า ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีข้อบ่งชี้เสี่ยงเป็นเบาหวาน ต่างมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติของตับอ่อนมากขึ้นหากพวกเขาติดเชื้อโควิด-19
ศ.ฟรานเชสโก รูบิโน หัวหน้าแผนกศัลยกรรมเมตาบอลิซึมที่คิงส์คอลเลจลอนดอน กล่าวว่า “การศึกษาเหล่านี้ดูเหมือนจะสอดคล้องกันในการสนับสนุนเหตุผลทางชีวภาพสำหรับแนวคิดที่ว่า โควิด-19 สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานในผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นเบาหวานได้ หรือแม้กระทั่งอาจจะทำให้เป็นได้ทั้งที่ไม่เคยมีข้องบ่งชี้เสี่ยงมาก่อน”
เขาร่วมเป็นผู้นำความพยายามระดับนานาชาติในการสร้างฐานข้อมูลทั่วโลกของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เชื่อมโยงกับโควิด-19 เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นว่า การติดเชื้อโควิด-19 สามารถทำให้เกิดโรคเบาหวานรูปแบบใหม่ หรือกระตุ้นการตอบสนองต่อความเครียดที่นำไปสู่โรคเบาหวานประเภท 1 หรือ 2 ได้หรือไม่
“การเปลี่ยนแปลง (ในเซลล์ตับอ่อน) ดังกล่าวเพียงพอที่จะทำให้ไวรัสโควิด-19 นี้ก่อให้เกิดโรคเบาหวานได้หรือไม่นั้นเป็นคำถามที่การศึกษาเหล่านี้ยังตอบไม่ได้ แต่มันก็เป็นเหตุผลที่เป็นไปได้” เขากล่าว
ดร.ลูซี แชมเบอร์ส หัวหน้าฝ่ายสื่อสารการวิจัยของ Diabetes UK กล่าวว่า “โรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงที่แน่ชัดสำหรับการเจ็บป่วยที่รุนแรงจากโควิด-19 และมีหลักฐานใหม่ปรากฏว่าโควิด-19 อาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่เกิดขึ้นได้ ... งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้เราเข้าใจลึกซึ้งขึ้นว่าโรคเบาหวานและโควิด-19 อาจมีความเกี่ยวข้องกันทางชีววิทยาได้อย่างไร”
เรียบเรียงจาก The Guardian
ภาพจาก AFP
ภัยเงียบ "ไขมันพอกตับ" มีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้กับทุกคน
งานวิจัยสวิสพบ โควิด-19 โจมตีหลอดเลือดทั่วร่างกาย