ปูตินชี้ชาติตะวันตกหวังจะหลอกล่อรัสเซียเข้าสู่สงคราม
รัสเซีย-สหรัฐฯ โต้เดือดกลางที่ประชุมยูเอ็น ปมชายแดนยูเครน
คำตอบของสหรัฐฯ สร้างความกังวล เพราะหมายความว่า สหรัฐฯ ไม่มีวันทำตามคำขอของรัสเซีย หลังจากรอมาหลายวัน ในที่สุดระบุผู้นำรัสเซียประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินก็ออกมาตอบกลับสหรัฐฯ แล้ว
หลังจากเงียบมาตลอดตั้งแต่เดือนธันวาคมซึ่งเป็นช่วงที่ความตึงเครียดบนแนวชายแดนยูเครน-รัสเซียกำลังพุ่งขึ้นสูง จากการที่รัสเซียระดมกำลังหทารกว่า 100,000 นายเข้าประชิดตะเข็บชายแดนหลายด้าน ในที่สุดประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ก็ออกมาพูดเรื่องนี้ เปิดเผยจุดยืนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตยูเครนเป็นครั้งแรก
โดยผู้นำรัสเซียระบุว่า ได้รับจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษรจากทั้งสหรัฐฯ และนาโตที่บอกปัดข้อเรียกร้องของรัสเซียแล้ว และจดหมายของสหรัฐฯ และนาโตคือการตั้งใจที่จะเพิกเฉยต่อความกังวลของรัสเซียในเรื่องความมั่นคง
ผู้นำรัสเซีย กล่างถึงรายละเอียดด้วยว่า จดหมายของสหรัฐฯ และนาโตไม่ได้แสดงถึงการยอมรับข้อเรียกร้องหลักของรัสเซียที่มีทั้งหมด 3 ข้ออย่างจริงใจ นั่นก็คือ
1.ยุติหรือป้องกันการขยายอิทธิพลของนาโต
2.สัญญาว่าจะไม่รับยูเครนเป็นสมาชิก
3.ยกเลิกการประจำการอาวุธในประเทศยุโรปตะวันออก และให้กลับไปยึดข้อตกลงที่รัสเซียทำกับนาโตไว้เมื่อปี 1997
สิ่งที่ผู้นำรัสเซียกล่าวถึง คือ ชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ และนาโตคือตัวก่อปัญหา ไม่ใช่รัสเซีย เนื่องจากเป็นคนที่ละเมิดและฉีกข้อตกลงเรื่องความมั่นคงที่ทำไว้กับรัสเซีย
ข้อตกลงไม่ขยายนาโต รัสเซียหรือชาติตะวันตก ที่ผิดสัญญา
ในช่วงที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน อ้างว่าชาติตะวันตกละเมิดสัญญาที่ให้ไว้ที่จะไม่ขยายสมาชิกนาโตมาทางตะวันออกและพยายามจะใช้ข้ออ้างนี้ในการบุกยูเครน สัญญาที่ผู้นำรัสเซียพูดถึงคืออะไร
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ปี 1990 เจมส์ เบเกอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในตอนนั้นได้ให้ความเชื่อมั่นกับประธานาธิบดี มิคาอิล กอบาชอฟ ของอดีตสหภาพโซเวียตในการหารือสถานะการรวมเยอรมนีตะวันออกและตะวันตก โดยทั้งสหรัฐฯ และโซเวียตเห็นพ้องว่านาโตจะไม่ขยายพื้นที่เกินเยอรมนีตะวันออก แต่หลังจากนั้นนาโตกลับขยายพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ มาทางตะวันออก ซึ่งเป็นอดีตประเทศของสหภาพโซเวียต
ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า การกระทำของนาโตจะเรียกว่าหักหลังคงไม่ถูก เพราะหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายได้เกิดการจัดระเบียบความมั่นคงใหม่ในยุโรป อีกทั้งคำมั่นที่ให้เป็นเพียงวาจาไม่ได้มีการทำเป็นสนธิสัญญา นาโตจึงอ้างว่า สามารถขยายขอบเขตขององค์กรได้
การขยายขอบเขตของนาโตเริ่มขึ้นราว 4 ปีหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตคือในช่วงปี 1995 โดยการขยายสมาชิกเป็นการร้องขอเองจากประเทศอดีตสหภาพโซเวียตซึ่งในตอนนั้นเป็นประเทศเกิดใหม่ และต้องการแสวงหาหลักประกันด้านความมั่นคง โดยกลุ่มประเทศแรก ๆ ที่เข้าร่วมกับนาโต ได้แก่ ฮังการี โปแลนด์และสาธารณรัฐเชค ทำให้สมาชิกนาโตขยายจาก 17 ประเทศในปี 1990 เป็น 30 ประเทศในปัจจุบัน และสมาชิกใหม่ที่เพิ่มเข้ามาส่วนใหญ่เป็นประเทศในอดีตสหภาพโซเวียต
ไม่เพียงแต่การรับเป็นสมาชิก นาโตยังมีการติดตั้งระบบขีปนาวุธในประเทศเหล่านั้น เช่นในโรมาเนีย และกำลังจะมีการติดตั้งระบบนี้ในโปแลนด์ด้วย โดย รัสเซีย ได้เฝ้ามองการขยายตัวของนาโตด้วยการสร้างสาธารณูปโภคทางการทหารอย่างการติดตั้งขีปนาวุธในประเทศอดีตสหภาพโวเวียตด้วยความไม่พอใจ
ในการแถลงข่าวเมื่อคืนที่ผ่านมา ผู้นำรัสเซียพูดถึงประเด็นนี้ว่า นี่คือ การคุกคามอย่างชัดเจนต่อความมั่นคงของรัสเซีย และนี่คือเหตุผลที่รัสเซียคัดค้านไม่ให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายบอกว่ารัสเซียไม่ควรกังวลมาก เพราะได้มีการสร้างหลักประกันให้กับรัสเซียไปแล้วว่านาโตจะไม่ทำอะไรที่เป็นการละเมิดความมั่นคงของรัสเซีย
โดยนาโตและรัสเซียได้มีการลงนามในข้อตกลงเมื่อปี 1997 ที่ทำให้ทั้งคู่เป็นหุ้นส่วนและสร้างหลักประกันเพื่อสันติภาพและความมั่นคงในยูโรแอตแลนติกรวมถึงบูรณภาพเหนือดินแดนของประเทศสมาชิก แต่รัสเซียก็ไม่วางใจ เมื่อคืนที่ผ่านมาในระหว่างการแถลงข่าว ผู้นำรัสเซียระบุว่า ชาติตะวันตกพยายามฉีกสัญญานี้ทิ้งและต้อนรัสเซียให้จนมุม
ท่าทีของผู้นำรัสเซียทำให้คาดเดาได้ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถึงแม้จะมีการระบุในการแถลงข่าวว่า รัสเซียยังเปิดทางเจรจา แต่ในอีกด้านทูตรัสเซียประจำยูเอ็น ระบุว่า ความตึงเครียดกำลังพุ่งสูงและอะไรก็เกิดขึ้นได้
ล่าสุดในวันนี้ กระทรวงกลาโหมรัสเซียได้ปล่อยภาพขบวนรถถังและกองทหารรัสเซียที่ซ้อมรบกับกองทัพเบลารุส ภาพดังกล่าวถูกระบุว่า ถ่ายมาจากพื้นที่ในเบลารุส และอันที่จริงตามกำหนดการแล้วยังไม่ถึงวันที่ทั้งสองจะร่วมซ้อมรบกัน
แต่กลับมีภาพกิจกรรมทางการทหารปล่อยออกมาแล้วในช่วงเวลาที่สถานการณ์กำลังตึง
อังกฤษเข้าพบยูเครน ชาติตะวันตกเสริมกำลังเตรียมพร้อม
ส่วนท่าทีของชาติตะวันตกก็ไม่มีการผ่อนเท่าไหร่ ยังมีท่าทีแข็งกร้าวแม้จะเปิดทางให้กับการทูต รวมถึงยังมีการเสริมกำลังต่อเนื่อง
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาแถลงข่าวหลังจากประธานาธิบดีปูตินแสดงจุดยืน และความผิดหวังต่อท่าทีของสหรัฐและนาโต โดยเขาระบุว่า สหรัฐพร้อมรับมือกับทั้งสองทาง ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาหรือสงคราม
ขณะที่สหราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ เดินไปกรุงเคียฟและพบหารือกับ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน โดยย้ำว่า จะสนับสนุนยูเครนจะต่อต้านทุกการรุกรานที่เกิดขึ้น เพราะประธานาธิบดีปูตินกำลังถือปืน จ่อไปที่หัวของยูเครน เพื่อต้องการระรานชาติตะวันตก ให้เขียนแผนที่ความมั่นคงในยุโรปใหม่ หลังยุคสงครามเย็น
ถึงแม้จะดุดัน และผู้นำอังกฤษก็ยังเปิดทางให้กับการเจรจาโดยระบุว่า การคลี่คลายวิกฤตด้วยหนทางการทูตยังพอมีอยู่
สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการส่งอาวุธให้กับยูเครน โดยเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักรได้ทำการจัดส่งขีปนาวุธต่อต้านรถถังพิสัยใกล้ไปที่นั่น พร้อมด้วยบุคลากรที่ทำหน้าที่ฝึกฝนการใช้งานอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการป้องกันประเทศหากรัสเซียตัดสินใจเคลื่อนทัพเข้ามาบุกรุก
และนี่คือการฝึกซ้อมของทหารยูเครนในการใช้ขีปนาวุธต่อต้านรถถังที่อังกฤษส่งมาให้ โดยการฝึกซ้อมมีรายงานว่า มีทหารของอังกฤษเป็นผู้ช่วยฝึกการใช้งาน
ส่วนความเคลื่อนไหวด้านการทหารอื่น ๆ เมื่อวานนี้ที่เอสโตเนีย หนึ่งในประเทศสมาชิกนาโตที่มีชายแดนติดกับรัสเซีย เครื่องบินรบเอฟ 15 ของสหรัฐได้เดินทางมาถึงฐานทัพอากาศของเอสโตเนีย อันเป็นส่วนหนึ่งของการที่นาโตเสริมศักยภาพของกองทัพให้แก่พันธมิตรในฝั่งตะวันออก
โดยผู้อำนวยการปฏิบัติการดังกล่าวเปิดเผยว่า เอสโตเนียนั้นยึดมั่นในความมั่นคงของนาโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลบอลติก
นาโตเริ่มเสริมศักยภาพของประเทศต่าง ๆ ในทะเลบอลติก หลังรัสเซียเพิ่มการประจำการทหารริมชายแดนติดกับยูเครน อย่างเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ก็มีการส่งเครื่องบินรบเอฟ 16 สี่ลำจากเดนมาร์กไปให้ลิธัวเนีย อีกหนึ่งประเทศเพื่อนบ้านของเอสโตเนีย แต่นาโตย้ำว่า นี่เป็นการแสตนบาย เตรียมความพร้อมไว้เท่านั้น