เมื่อวานนี้ (15 ก.พ.) ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เปิดแถลงข่าวจากทำเนียบขาว ซึ่งถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ ระบุว่า ขณะนี้ รัสเซียสะสมกำลังพลอยู่โดยรอบชายแดนยูเครนกว่า 150,000 นายแล้ว แต่สหรัฐฯ ยังไม่ได้ตรวจสอบว่าทหารบางส่วนเริ่มถอนกำลัง กลับไปยังฐานที่มั่นเดิม ตามที่มีการกล่าวอ้างแล้วหรือไม่ ขณะที่ผลการวิเคราะห์บ่งชี้ว่า รัสเซียยังอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมที่จะสร้างภัยคุกคาม และยังมีโอกาสจะบุกโจมตียูเครนต่อได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง สหรัฐฯ และประชาคมโลกพร้อมจะตอบโต้อย่างเด็ดขาด
เว็บไซต์กระทรวงกลาโหมยูเครนและธนาคาร 2 แห่ง ถูกโจมตีทางไซเบอร์
TikTok กลายเป็นเครื่องมือสำคัญ ให้ข้อมูล-แชร์ความเห็นประเด็นรัสเซีย-ยูเครน
ราคาทองคำวันนี้ ลดลง 50 บาท ตลาดต่างประเทศร่วง หลังรัสเซียถอนทหาร
ไบเดนยอมรับว่า มาตรการลงโทษรัสเซีย อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เองด้วย โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันและพลังงาน ซึ่งรัฐบาลเตรียมหาแผนสำรองเพื่อรับมือแล้ว
อย่างไรก็ตาม ไบเดนเน้นย้ำว่าตนเองเห็นด้วยกับข้อเสนอของรัสเซียที่จะเดินหน้าแก้ปัญหาความตึงเครียดกรณียูเครนด้วยวิธีทางการทูตต่อไป พร้อมกันนี้ ยังได้ส่งสารไปถึงชาวรัสเซียอีกด้วย
"สหรัฐฯ และนาโตไม่ใช่ภัยคุกคามต่อรัสเซีย ยูเครนก็ไม่ใช่ภัยคุกคามของรัสเซีย ทั้งสหรัฐฯ และนาโตต่างไม่มีขีปนาวุธในยูเครน และเราไม่มีแผนจะติดตั้งขีปนาวุธในยูเครนด้วย เราไม่ได้มุ่งเป้าคุกคามชาวรัสเซีย เราไม่ได้จะทำลายเสถียรภาพของรัสเซีย"
"ถึงประชาชนชาวรัสเซียทุกคน คุณไม่ใช่ศัตรูของเรา และผมไม่เชื่อว่าคุณต้องการทำสงครามนองเลือดทำลายล้างกับยูเครน ประเทศเพื่อนบ้านที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันมายาวนาน"
ถ้อยแถลงของผู้นำสหรัฐฯ มีขึ้นหลังจากเมื่อวานนี้ (15 ก.พ.) นาย อิกอ โคนาเชนคอฟ (Igor Konashenkov) โฆษกกระทรวงกลาโหมรัสเซียประกาศว่า กำลังพลบางส่วนที่เสร็จสิ้นจากภารกิจซ้อมรบ เดินทางออกจากเขตตอนใต้และตะวันตก ซึ่งอยู่ติดกับยูเครนแล้ว แต่ไม่มีการเปิดเผยอย่างชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าใด
และล่าสุด มีการประกาศเพิ่มเติมว่า การซ้อมรบในแคว้นไครเมียเสร็จสิ้นแล้ว และกำลังพลที่เข้าร่วมในภารกิจกำลังเดินทางกลับฐานที่มั่นเดิม โดยจะมีการขนส่งรถถัง ยานหนะทางทหาร และยุทโธปกรณ์ ออกจากพื้นที่ด้วยรถไฟ
นอกจากนี้ ทำเนียบเครมลินของรัสเซีย ยังเผยแพร่ผลการหารือกันระหว่างประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย กับนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ที่กรุงมอสโก เมื่อวานนี้ (15 ก.พ.) ซึ่งปูตินยืนยันว่ารัสเซียไม่เคยต้องการทำสงครามในยุโรป และสนับสนุนให้แก้ไขปัญหานี้ผ่านการเจรจามาโดยตลอด
แต่ก็ยังยืนยันจุดยืนเดิมว่า ข้อเรียกร้องของรัสเซียที่ไม่ต้องการให้นาโตรับยูเครนเข้าเป็นชาติสมาชิก ควรได้รับการแก้ไขเดี๋ยวนี้
นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ยังมีอีกหลายชาติตะวันตกที่ยังไม่วางใจกับประกาศถอนทหารของรัสเซีย โดยนาย เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต (NATO) ระบุว่า แม้จะมีสัญญาณบวกจากผู้นำรัสเซียว่าพร้อมใช้วิธีทางการทูต แต่คำกล่าวอ้างเรื่องการถอนทหารและยุทโธปกรณ์บางส่วนนั้นยังพิสูจน์ไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าเป็นการถอนทหารถาวรหรือเป็นการสับเปลี่ยนกำลังพล
ขณะที่อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ขานรับท่าทีของรัสเซีย แต่เชื่อว่ายังเร็วเกินไปที่จะปักใจเชื่อว่ามีการถอนทหารจริง โดยนาย บอริส จอห์นสัน ผู้นำอังกฤษ ชี้ว่า ข้อมูลข่าวกรองยังทำให้ไม่สามารถไว้ใจได้ เนื่องจากพบว่ารัสเซียมีการตั้งโรงพยาบาลสนามในเบลารุส ด้านที่ติดกับพรมแดนยูเครน
ฝั่งยูเครนเองก็ยังสงวนท่าที และขอรอดูหลักฐานที่ชัดเจนต่อไป โดยนาย ดมิโทร คูเลบา (Dmytro Kuleba) รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครน ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า ที่ผ่านมา รัสเซียออกมาประกาศหลายต่อหลายครั้ง แต่เรามีกฎของเราเอง เราจะไม่เชื่อทุกสิ่งที่ได้ยิน เราจะเชื่อก็ต่อเมื่อได้เห็นเองกับตา
ขณะเดียวกัน วันนี้ (16 ก.พ.) ยังมีรายงานว่าเว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหม และธนาคารขนาดใหญ่ 2 แห่งในยูเครน ตกเป็นเป้าการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของทางการยูเครนถูกโจมตีทางไซเบอร์มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของรัสเซีย
ผู้เชี่ยวชาญเคยตั้งข้อสังเกตว่า ปฏิบัติการโจมตีของรัสเซีย อาจไม่ได้มาในรูปแบบของการยกพลรุกรานอย่างเต็มรูปแบบ แต่อาจเป็นวิธีที่แยบยล และป้องกันได้ยาก เช่น การโจมตีทางไซเบอร์เพื่อก่อกวนระบบโครงการพื้นฐานสำคัญของยูเครน
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้น คือ การแสดงพลังของชาวยูเครน เนื่องในวันแห่งความสามัคคี (Day Of Unity) ตามการประกาศของประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ที่ขอความร่วมมือให้ประชาชนติดธงชาติ หรือริบบิ้นสีฟ้า-เหลือง และร่วมกันร้องเพลงชาติโดยพร้อมเพรียงในเวลา 10.00 น. วันนี้ ซึ่งเป็นวันที่สื่อตะวันตกเคยคาดการณ์กันว่า รัสเซียจะบุกโจมตียูเครน
ภาพ AFP