ยูเครน ปัดข้อเรียกร้องรัสเซีย ให้คงสถานะความเป็นกลาง
รัสเซียเสียหายหนัก? ยูเครนอ้าง สังหารนายพลเพิ่ม-ทำลายทัพรัสเซียได้ 40%
การเจรจาระหว่างรัสเซียขณะนี้ทำกันผ่านทางออนไลน์ จากเดิมข้อเรียกร้องของรัสเซีย เป็นการยื่นคำขาด 3 ข้อหลัก คือ ยูเครนต้องแก้รัฐธรรมนูญระบุว่าจะไม่เข้าเป็นสมาชิกนาโตและอียู ต้องให้การรับรองเอกราชของแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ และต้องรับรองไครเมียว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และอีกประเด็นสำคัญคือ ปูตินประกาศชัดว่ารัสเซียต้องการปลดอาวุธของยูเครน
โดยหมายความว่า ปูติน ไม่ต้องการให้ยูเครนมีกองทัพอีกต่อไป
หลายคนมองว่าเป็นการบูลลี่สุดโต่ง ที่รัสเซียใช้กำลังทางการทหารบังคับประเทศที่มีเอกราชและอธิปไตยให้ทำตามใจตัวเอง
ผ่านไป 3 สัปดาห์ ท่าทีของรัสเซียเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?
บนโต๊ะเจรจาทั้งสองฝ่ายพูดตรงกันว่า พอจะหาจุดประนีประนอมกันได้บ้าง เซเลนสกีประกาศอีกครั้งเมื่อคืนที่ผ่านมาว่าถึงจะขมขื่นและยากลำบาก แต่ยูเครนก็จะเดินหน้าเจรจาต่อไป เพราะเป็นหนทางในการยุติสงคราม
โดยบนโต๊ะเจรจา เรื่องที่ถกเถียงต่อรองกันหนักที่สุดคือ เรื่องสถานะทางการทหารของยูเครน รัสเซียเคยบอกว่าต้องปลดอาวุธและกำลังทางทหารของยูเครน หรือ demilitarisation แต่ล่าสุดมีรายงานว่าผู้นำรัสเซียยอมให้ยูเครนมีกำลังทางการทหารได้ แต่ต้องคงสถานเป็นกลางหรือ Neutrality
สถานะเป็นกลาง หรือ Neutrality คือ ความเป็นกลางเป็นสถานะทางกฎหมายที่บ่งบอกว่ารัฐหรือประเทศใดประเทศหนึ่งจะไม่เข้าไปจากการมีส่วนร่วมกับสงครามของรัฐอื่น หรือสงครามใด ๆ ก็ตามที่จะขึ้นในอนาคต โดยหลักการนี้ยังไม่มีเกณฑ์เฉพาะเจาะจงในการพิจารณาว่ารัฐใดเป็นกลาง ส่วนใหญ่แล้วจะอาศัยพิจารณาจากสนธิสัญญา รัฐธรรมนูญ หรือคำประกาศที่ประเทศนั้น ๆ ได้ทำหรือประกาศไว้
ตอนนี้ทั่วโลกมีประมาณ 21 ประเทศ ที่ประกาศว่าประเทศของตนเองเป็นกลาง เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ สวีเดน ไอร์แลนด์ ออสเตรีย มอลตา วาติกัน สิงคโปร์เป็นต้น
ประธานาธิบดีปูตินประกาศเมื่อคืนที่ผ่านมาว่า สามารถคุยเรื่อง Neutrality และประเด็นอื่น ๆ อย่างการกำจัดลัทธินาซีได้ แต่รัสเซียจะไม่ลดกำลังทางทหารในรุกรานยูเครน ปฏิบัติการทุกอย่างจะดำเนินต่อไป
เป็นท่าทีที่แข็งกร้าวและหลายคนบอกว่า เชื่อใจปูตินไม่ได้ เพราะไม่สามารถเจรจาสันติภาพได้ในขณะที่กำลังโจมตียูเครน เหนือสิ่งอื่นใดในการเจรจา ยูเครนต้องการหลักประกันด้านความมั่นคงที่เป็นสนธิสัญญาที่ระบุว่ายูเครนจะไม่ถูกรังแกหรือถูกรุกรานในวันที่ดำรงความเป็นกลาง ทั้งหมดต้องมีพันธะผูกพันตามกฎหมายด้วย
แต่จะเชื่อได้อย่างไร? เพราะในอดีตมหาอำนาจก็เคยสัญญากับยูเครนไว้ในเรื่องหลักประกันด้านความมั่นคงหลายครั้งหลังปลดอาวุธนิวเคลียร์ แต่สัญญาทั้งหมดก็ถูกฉีกไป โดยเฉพาะข้อตกลงบูดาเปสต์
ข้อตกลงนี้ทำขึ้นเมื่อปี 1994 ซึ่งเพื่อให้ยูเครนซึ่งในขณะนั้นมีหัวรบนิวเคลียร์มากเป็นอันดับ 3 ของโลกยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ที่ได้เป็นมรดกตกทอดมาจากสหภาพโซเวียต ส่วนหนึ่งที่สำคัญของข้อตกลงบูดาเปสต์คือ รัสเซีย สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรให้สัญญาหลักประกันความมั่นคงต่อยูเครน ในวันนั้นยูเครนจึงยอมปลอดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดกลายเป็นรัฐที่ปลอดนิวเคลียร์
และวันนี้ข้อตกลงนั้นถูกละเมิด ยูเครนไม่ได้รับหลักประกันด้านความมั่นคงอีกต่อไปเมื่อถูกรัสเซียบุก เพราะข้อตกลงนี้ไม่มีพันธะผูกพันทางกฎหมายหรือ legally binding หากไม่ทำตามก็ไม่มีผลกระทบใด ๆ และอาจถูกยกเลิกเมื่อใดก็ได้และมหาอำนาจไม่จำเป็นต้องมาแบกรับภาระในการรักษาความมั่นคงให้ประเทศเหล่านี้
สิ่งเหล่านี้ทำให้ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนต้องคิดทบทวนอย่างหนัก ท่ามกลางทั้งสองฝ่ายที่เห็นข้อเสนอและช่องเจรจาแล้ว ต้องติดตามต่อไปว่าจะได้ข้อตกลงสงบศึก หรืออย่างน้อยที่สุดในตอนนี้คือข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวหรือไม่