ตั้งแต่ 24 ก.พ. จนถึง 3 มิ.ย. ผ่านมา 100 วันถ้วนแล้วสำหรับเหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษ นั่นคือ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน” หรือ “รัสเซียบุกยูเครน” เพื่อตอบโต้การขยายอิทธิพลของนาโต
วันแรกของการรุกราน ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศจะกำจัด “นาซี” ในยูเครน ปกป้องประชาชนผู้ใช้ภาษารัสเซียในยูเครน และก่อนหน้านั้นก็ประกาศรับรองเอกราชให้ลูฮานสก์และโดเนตสก์ พื้นที่ยูเครนที่ควบคุมโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งสนับสนุนรัสเซียและรัสเซียหนุนหลัง
รัสเซียเตือนศึกอาจรุนแรงขึ้น หลังสหรัฐฯส่งอาวุธเพิ่มให้ยูเครน
สหรัฐฯ กลับลำ ส่งขีปนาวุธแบบจำกัดพิสัยให้ยูเครน
รัสเซียใกล้ยึด "ซีวีโรโดเนตสก์" เมืองยุทธศาสตร์ในลูฮานสก์ได้แล้ว
รัสเซียเริ่มต้นด้วยการโจมตีทางอากาศและใช้ขีปนาวุธโจมตีในหลายเมือง รวมถึงเป้าหมายสำคัญแรกคือกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ด้านประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ให้คำมั่นว่า จะไม่หนีไปจากเคียฟ และจะอยู่เป็นผู้นำในการต่อต้านรัสเซีย ขณะที่มีรายงานว่า มีความพยายามตรงเข้ามาลอบสังหารเซเลนสกีถึง 2 ครั้งในวันที่ 24 ก.พ.
สงครามรัสเซีย-ยูเครนนี้ สร้างแรงกระเพื่อม ความกังวล และความเสียหายให้กับความมั่นคงและเศรษฐกิจทั้งต่อรัสเซีย-ยูเครนเอง และต่อทั่วทั้งโลก
100 วันกับภัยคุกคามจากนิวเคลียร์
ในวันแรกหลังการรุกราน รัสเซียสามารถยึดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ซึ่งเคยเกิดโศกนาฏกรรมนิวเคลียร์ปี 1986 จนหลายฝ่ายหวั่นเกรงว่า รัสเซียจะทำให้ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย
ต่อมาในวันที่ 4 มี.ค. ยูเครนรายงานว่า กองกำลังรัสเซียได้โจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “ซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia)” ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป จนเกิดเพลิงไหม้ในโรงไฟฟ้า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทั่วโลกวิตก เพราะหากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ระเบิด จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงกว่าโศกนาฏกรรมเชอร์โนบิลถึง 6 เท่า แต่นับว่ายังโชคดีที่สามารถคุมเพลิงไว้ได้ และไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้าซาโปริซเซีย
จากนั้นช่วงสิ้นเดือน มี.ค. รัสเซียก็ได้ถอยทัพจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล โดยพบร่องรอยว่า มีทหารรัสเซียการเข้าไปในพื้นที่บริเวณ “ป่าแดง” ซึ่งเป็นพื้นที่ต้องห้ามของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่มีค่าสารกัมมันตรังสีสูง และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ทราบจุดประสงค์ของพฤติกรรมดังกล่าว
นอกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทำให้ทั่วโลกวิตกแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัสเซียยังออกมาขู่อยู่เนือง ๆ ว่าพร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์หากรัสเซียเผชิญกับภัยคุกคาม แม้ในช่วงหลังจะมีการพูดถึงน้อยลงก็ตามแต่หลายฝ่ายยังคงไม่วางใจ
ถือเป็นเรื่องดีที่จนบัดนี้ยังไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์หรือโศกนาฏกรรมเกี่ยวกับนิวเคลียร์ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน 100 วันที่ผ่านมา และได้แต่ภาวนาว่ามันจะเป็นแบบนี้ต่อไป เพราะเชื่อว่าไม่มีใครอยากเห็นสงครามนิวเคลียร์ที่จะสร้างความเสียหายโดยตรงและโดยอ้อมต่อทั้งโลกอย่างแน่นอน
สหรัฐฯ เตรียมขายโดรนติดอาวุธ MQ-1C Grey Eagle ให้ยูเครน 4 ลำ
100 วันกับวิกฤตมนุษยธรรม รัสเซียก่ออาชญากรรมสงคราม?
สารหนึ่งที่รัสเซียพยายามสื่อสารมาตลอดคือ รัสเซียไม่ได้จงใจเล็งเป้าโจมตีพลเรือนในยูเครน แต่บอกว่า กองกำลังยูเครนใช้พลเรือนเป็นโล่ป้องกันเพื่อไม่ให้รัสเซียโจมตีต่างหาก
อย่างไรก็ดี จากเหตุที่รัสเซียโจมตีเมืองเอียร์ปินและบูชาใกล้กับกรุงเคียฟ กลับมีการรายงานพบศพพลเรือนยูเครนจำนวนมากที่ถูกทารุณสังหาร จนเข้าข่ายว่าเป็นการก่อ “อาชญากรรมสงคราม” ซึ่งบัญญัติไว้ในอนุสัญญาเจนีวาว่า ในช่วงสงคราม จะต้องไม่มีการสังหารหรือกระทำรุนแรงต่อพลเรือนโดยเด็ดขาด ซึ่งในประเด็นนี้ รัสเซียชี้แจงว่าเป็นการจัดฉาก
นอกจากนี้ ยังมีรายงานหญิงและชายยูเครนหลายรายแจ้งต่อทางการยูเครนว่า ถูกกองกำลังรัสเซียล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย
สำนักงานอัยการยูเครนประเมินว่า กองกำลังรัสเซียอาจก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครนมากกว่า 10,000 คดี ซึ่งขณะนี้มีบางคดีที่เริ่มสืบสวนและดำเนินการพิจารณาโทษไปแล้วในยูเครน ขณะที่ในระดับศาลโลกนั้นยังไม่ค่อยเห็นความคืบหน้าในการพิจารณาคดี
คดีอาชญากรรมสงครามแรกที่ยูเครนเพิ่งตัดสินไปคือคดีของ วาดิม ชิชิมาริน ทหารรัสเซียวัย 21 ปีที่ยิงพลเรือนยูเครนอายุ 62 ปีที่ไม่อาวุธเข้าที่ศีรษะจนถึงแก่ความตาย โดยศาลยูเครนตัดสินให้วาดิมมีความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงคราม ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต
นอกจากเรื่องของอาชญากรรมสงครามแล้ว การรุกรานยูเครนของรัสเซียยังทำให้เกิดวิกฤตมนุษยธรรมครั้งใหญ่ โดยปัจจุบัน มีประชากรยูเครนมากกว่า 6 ล้านคนต้องอพยพลี้ภัยออกจากบ้านเกิดของตนเอง ในจำนวนนี้คาดว่ามีถึง 2 ล้านคนเป็นเด็ก
ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิต เท่าที่ยืนยันได้ คือมีพลเรือนยูเครนเสียชีวิตแล้วมากกว่า 4,600 ราย (ตัวเลขประเมินคาดว่าอาจสูงถึง 11,000-27,000 ราย) และมีเด็กเสียชีวิตถึง 240 ราย
100 วันกับข้อสงสัย รัสเซียไม่มีแผนผนวกดินแดน จริงหรือ?
การบุกโจมตีในช่วงแรกของรัสเซียนั้น เน้นพื้นที่ทางเหนือเพื่อยึดเมืองหลวง ทางตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อหวังยึดคาร์คิฟ เมืองใหญ่อันดับสองของยูเครน และทางใต้ เพื่อยึดเมืองท่าต่าง ๆ ของยูเครนซึ่งมีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์
โดยรัสเซียยืนยันตลอดมาว่า “ไม่มีแผนยึดครองดินแดนของยูเครนอย่างแน่นอน”
ต่อมาในช่วงต้นเดือน มี.ค. รัสเซียสามารถยึดควบคุมเมืองแรกของยูเครนได้ นั่นคือ “เคอร์ซอน (Kherson)” เมืองท่าทางตอนใต้ของยูเครน จากนั้นรัสเซียได้ทุ่มความพยายามไปที่การโจมตีเมืองมาริอูโปล (Mariupol) ซึ่งเป็นอีกเมืองท่าที่สำคัญ
หลังจากที่ยึดเมืองเคอร์ซอนได้ เจ้าหน้าที่รัสเซียที่เข้ามาบริหารเมืองเคอร์ซอนได้ประกาศเปลี่ยนสกุลเงินที่ใช้ในเมืองให้เป็นเงินรูเบิลของรัสเซีย เปลี่ยนสื่ออย่างเช่นวิทยุให้เป็นสื่อของรัสเซีย และแม้แต่อินเทอร์เน็ตก็ถูกเปลี่ยนไปใช้เครือข่ายของรัสเซีย
และคีริลล์ สเตรมูซอฟ รองหัวหน้าคณะบริหารเมืองเคอร์ซอนที่แต่งตั้งโดยรัสเซีย ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการผนวกเคอร์ซอนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียด้วย ทางฝั่งยูเครนเอง ก็เริ่มมาตรการตอบโต้เพื่อพยายามยึดเคอร์ซอนคืนมาจากรัสเซีย
อีกเมืองที่ถูกโจมตีหนักและถูกรัสเซียยึดไปได้ในที่สุดคือมาริอูโปล ทั้งโรงพยาบาลเด็กถูกโจมตี มีคนท้องได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต หรือโรงละครที่มีพลเรือนไปหลบภัยก็ถูกโจมตีเช่นกัน รวมถึงรัสเซียยังพยายามเรียกร้องให้มาริอูโปลวางอาวุธยอมจำนนด้วย
เหตุผลที่รัสเซียต้องการมาริอูปอลนั้น เนื่องจากต้องการเชื่อมเส้นทางระหว่างแหลมไครเมียและภูมิภาคดอนบาสหรือยูเครนตะวันออกที่สนับสนุนรัสเซีย ซึ่งเดิมทีมาริอูโปลก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่ถูกกองกำลังอาซอฟ (Azov) ยึดมาได้
กองกำลังอาซอฟที่ประจำการอยู่ในมาริอูโปลเป็นกลุ่มขวาจัดติดอาวุธ ซึ่งเคยมีชื่อเสียว่าหัวรุนแรงและเป็นกลุ่มลัทธินีโอนาซีด้วย เมื่อถูกตราหน้าว่าเป็น “นาซี” จึงเท่ากับเป็นเป้าหมายที่รัสเซียต้องการกำจัด (ตามที่ปูตินประกาศในวันแรกของปฏิบัติการพิเศษ)
รัสเซียโจมตีมาริอูโปลอย่างหนักจนในที่สุดมีเพียงโรงงานเหล็กอาซอฟสตอลเป็นปราการด่านสุดท้าย ซึ่งภายในโรงงานมีทั้งพลเรือนและกองกำลังอาซอฟ
กองกำลังอาซอฟสามารถต้านการโจมตีของรัสเซียไว้ได้นานเกือบ 90 วัน และในที่สุดก็ยอมจำนนเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา และรัสเซียก็ประกาศว่าสามารถควบคุมมาริอูโปลได้อย่างเต็มรูปแบบในที่สุด ส่วนกองกำลังอาซอฟในโรงงานเกือบ 2,500 นายที่ยอมจำนนก็ถูกรัสเซียคุมตัวไว้
หลังจากยึดมาริอูโปลได้ ยังมีรายงานว่า ขณะนี้ รัสเซียได้นำรถตู้โฆษณาชวนเชื่อแบบเคลื่อนที่พร้อมโทรทัศน์จอใหญ่มาวิ่งในเมือง โดยจะฉายรายการข่าวช่องโทรทัศน์ของรัฐรัสเซีย และรายการสนทนาทางการเมืองที่จะมีผู้เชี่ยวชาญมาพูดสนับสนุนการบุกรุกยูเครนให้ชาวเมืองมาริอูโปลฟัง
เชื่อกันว่า นี่เป็นหนึ่งในความพยายามที่จะค่อย ๆ ผนวกรวมเอามาริอูโปลเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
เมื่อรวมกับความพยายามของรัสเซียที่กำลังโจมตีภูมิภาคดอนบาส (ยูเครนตะวันออก) ซึ่งเป็นที่ตั้งของลูฮานสก์และโดเนตสก์ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักจึงประเมินว่า รัสเซียน่าจะต้องการผนวกเอายูเครนตะวันออกและยูเครนใต้มาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย อย่างที่เคยทำกับไครเมียมาแล้วเมื่อปี 2014
หากรัสเซียมีแผนผนวกดินแดนจริง เชื่อว่าอาจเป็นชนวนเหตุที่ทำให้เกิดการปะทะรุนแรงระหว่างสองฝ่ายได้อีกครั้ง และนานาชาติอาจยื่นมือเข้ามาช่วยต่อต้านรัสเซียมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความตึงเครียดยิ่งขึ้นไปอีก
100 วันที่ทำให้ราคาเชื้อเพลิง-อาหารพุ่งทะลุเพดาน
ไม่กี่วันหลังรัสเซียเริ่มบุกยูเครน บรรดาชาติตะวันตกก็ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และเสนอความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน โดยมีทั้งการแบนทางเศรษฐกิจเบื้องต้น แบนเที่ยวบินของรัสเซีย และแบนรัสเซียจากการแข่งขันกีฬาและงานวัฒนธรรมต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังมีการแบนน้ำมัน ถ่านหิน ของรัสเซีย รวมถึงแบนรัสเซียออกจากเครือข่ายการจ่ายเงินหลักของโลกหรือ Swift ด้วย จนรัสเซียออกมาตอบโต้ด้วยการปรับแผนการขายก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศ “ที่ไม่เป็นมิตร” เป็นเงินรูเบิล เพื่อตอบโต้ประเทศตะวันตกมีคำสั่งแช่แข็งสินทรัพย์ชาวรัสเซีย
รัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซธรรมชาติมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ส่งออกก๊าซธรรมชาติรูปแบบต่าง ๆ ไปยังเกือบ 40 ประเทศทั่วโลก เป็นประเทศในยุโรปเกือบ 30 ประเทศ
แน่นอนว่าหลายประเทศในยุโรปไม่ยอมจ่ายค่าก๊าซด้วยเงินรูเบิล เพราะจะเท่ากับเป็นการสนับสนุนเงินทุนในการทำสงครามให้กับรัสเซีย ซึ่งล่าสุดรัสเซียก็ได้ระงับการส่งก๊าซธรรมชาติให้กับโปแลนด์ บัลแกเรีย ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และเยอรมนีแล้ว
สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังส่งผลกระทบต่อตลาดเชื้อเพลิงทั่วโลก เป็นผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในหลายประเทศพุ่งสูงทะลุเพดาน รวมถึงประเทศไทยที่ราคาน้ำมันไต่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์
นอกจากเชื้อเพลิงแล้ว ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนยังทำให้เกิดวิกฤตอาหารที่ยังคงหาทางออกไม่ได้
ยูเครนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเตาอบของโลก เพราะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของโลก เคยส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ผ่านทางท่าเรือทะเลดำและทะเลอาซอฟ แต่หลังถูกรัสเซียรุกราน ก็ทำให้ท่าเรือเหล่านี้ถูกยึด การส่งออกข้าวสาลี น้ำมันดอกทานตะวัน และผลผลิตทางอาหารหรือการเกษตรอื่น ๆ รวมถึงปุ๋ยสำหรับพืชผลการผลิตหยุดชะงัก โดยเฉพาะธัญพืชที่ราคาตลาดโลกพุ่งสูง
แม้ยูเครนจะพยายามส่งออกธัญพืชและสินค้าด้านอาหารผ่านทางถนน แม่น้ำ และทางรถไฟ เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงวิกฤตอาหารโลก แต่ก็ยากที่จะไปถึงที่หมายได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย
ขณะที่ยูเครนและชาติตะวันตกกำลังพยายามหาทางส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตร ทางฝั่งรัสเซียมีข้อเสนอเป็นนัย ๆ ว่า ให้พิจารณาเกี่ยวกับการคว่ำบาตรรัสเซียใหม่ แลกกับการเปิดเส้นทางขนส่ง
หากปัญหาการส่งออกของยูเครนยังไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววัน มีการประเมินว่า ผู้คนกว่า 190 ล้านคนทั่วโลกจะประสบวิกฤตความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างรุนแรง
“อีลอน มัสก์” สั่งพนักงานเทสลากลับเข้าออฟฟิศ ชี้ใครทำไม่ได้ก็ออกไป
อนามัยโลกชี้ “ฝีดาษลิง” เป็น “ภัยเสี่ยงระดับปานกลาง” ต่อสาธารณสุขโลก
100 วันผ่านไปแล้ว อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?
ขณะนี้ เป้าหมายหลักของรัสเซียคือยูเครนตะวันออก โดยรัสเซียสามารถยึดส่วนหนึ่งของเมือง เซเวโรโดเนตสก์ (Severodonetsk) ทางตะวันออกของยูเครนไปได้แล้ว
ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักยังคงมีความเห็นตรงกันว่า วิกฤตความขัดแย้งครั้งนี้น่าจะจบลงได้ด้วยการเจรจา แต่ที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดคุยเจรจาสันติภาพกันหลายครั้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย
โดยเงื่อนไขที่ผ่านมาของรัสเซียคือ เรียกร้องให้ยูเครนยอมรับไครเมียเป็นดินแดนของรัสเซีย และยูเครนต้องปลอดทหารและลัทธินาซี รวมถึงยูเครนต้องให้การรับประกันว่า จะไม่เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรทางทหารของชาติตะวันตกนาโต
แน่นอนว่าจนถึงบัดนี้ การเจรจายังไม่บรรลุผลใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากการเปิดเส้นทางมนุษยธรรมเป็นครั้งคราวในหลายเมืองก่อนหน้านี้เพื่อให้พลเรือนอพยพออกไปจากพื้นที่ที่มีการปะทะ
อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปเพิ่งประกาศคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียเพิ่มเติม และสหรัฐฯ ก็เพิ่งส่งอาวุธให้ยูเครน ซึ่งสร้างความตึงเครียดให้สูงขึ้น และต้องรอดูว่า รัสเซียจะมีมาตรการรับมือตอบโต้อย่างไร
100 วันที่ผ่านมานี้ทำให้ทั่วโลกกังขาว่า ความขัดแย้งครั้งนี้จะจบลงได้ด้วยการเจรจาสันติภาพจริงหรือ และต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไร เพราะสถานการณ์ในขณะนี้ก็มีสัญญาณบ่งชี้ไม่น้อยว่า ความขัดแย้งอาจยกระดับขึ้นไปได้อีกเช่นกัน
ภาพจาก AFP / Getty Image / Shutterstock