ขณะที่ทวิตเตอร์ภายใต้ อีลอน มัสก์ กำลังเจอกับดราม่าปลดพนักงานครึ่งบริษัท อีกยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียอย่าง “เมตา (Meta)” เอง ก็เหมือนกำลังอยู่ในช่วงขาลงเช่นกัน
Wall Street Journal รายงานว่า บริษัทเมตาซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่างเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม มีแผนเตรียมปลดพนักงานทั่วโลกของบริษัทมากกว่า 8,000 คน หรืออย่างน้อย 10% จากพนักงานทั้งหมด 87,000 คน
ใครจองไว้ทำใจรอ! iPhone 14 Pro ผลิตไม่ทัน หลังโรงงานในจีนถูกล็อกดาวน์
กลับมาได้ไหม? ทวิตเตอร์วอนพนักงานที่ถูกปลดบางส่วนให้กลับมา
“เมตา” ลดแผนจ้างพนักงานใหม่ลง 30% เตรียมรับเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง
มีรายงานว่า เมตาเตรียมประกาศปลดพนักงานในวันพุธนี้ (9 พ.ย.) ซึ่งนี่จะถือนับเป็นการปลดพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 18 ปีของเมตา ซึ่งก่อนหน้านี้เติบโตอย่างมากในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19
ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เมตาก็เหมือนกับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมหาศาล เนื่องจากชีวิตของผู้คนและธุรกิจเปลี่ยนไปอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น โดยเมตาได้รับพนักงานเพิ่มมากกว่า 27,000 คนในปี 2020-2021 2563 และเพิ่มขึ้นอีก 15,000 คนในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่แล้ว มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเมตา ได้เปิดเผยว่า “ในปี 2023 เราจะเน้นการลงทุนของเราในพื้นที่ที่เติบโตได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าบางทีมจะเติบโตขึ้น แต่ทีมอื่น ๆ อาจจะคงตัวหรือหดตัวลงในปีหน้า”
เขาเสริมว่า “โดยรวมแล้ว ณ สิ้นปี 2023 องค์กรของเราอาจมีขนาดใกล้เคียงเดิม หรือแม้แต่เล็กกว่าที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน”
ซักเคอร์เบิร์กกล่าวว่า บริษัทจะมุ่งเน้นการลงทุนและพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ การโฆษณา และเมตาเวิร์ส (Metaverse) เป็นหลัก
ขาลงของเมตาที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นจากทั้งเศรษฐกิจมหภาคที่ย่ำแย่ การแข่งขันที่สูงจาก TikTok และข้อกำหนดของแอปเปิล (Apple) ที่ลดความสามารถของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในการ “ยิงแอด” หรือส่งโฆษณาไปให้ผู้ใช้งานเห็น ซึ่งเฉพาะในส่วนของโฆษณานี้ เมตาคาดว่าปีนี้บริษัทสูญรายได้ไปถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.7 แสนล้านบาท)
ณ เดือนที่แล้ว บริษัทเมตามีมูลค่าเหลือเพียง 2.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10 ล้านล้านบาท) ลดลงมาจากปีที่แล้วมากถึง 70% ซึ่งเคยมีมูลค่าอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 37 ล้านล้านบาท)
ก่อนหน้านี้ Meta ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2565 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ราว 4,400 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.64 แสนล้านบาท) ลดลง -52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้รวมอยู่ที่ 27,714 ล้านบาท (ราว 1.03 ล้านล้านบาท) ปรับลดลง -4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้งถึง +19% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะแผนก Reality Labs ที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาโปรเจกต์ Metaverse ที่ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 3,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.38 แสนล้านบาท) เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 2,600 ล้านดอลลาร์ (ราว 9.7 หมื่นล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม Meta คาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 65 บริษัทจะมีรายได้อยู่ราว 30,000 – 32,000 ดอลลาร์ (ราว 1.12 – 1.19 ล้านล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 33,700 ล้านดอลลาร์ บาท (ราว 1.26 ล้านล้านบาท)
โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หุ้น Meta ราคาลดลงกว่า 73% อยู่ที่ 90.79 ดอลลาร์ต่อหุ้น หลังได้รับผลกระทบจากปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือคู่แข่งอย่าง TikTok และรายได้จากโฆษณาที่ลดลง รวมถึงยังต้องเผชิญปัญหากับ Apple ที่เพิ่มฟังก์ชันให้กับผู้ใช้งานระบบ IOS ไม่อนุญาตให้แอปพลิเคชั่นติดตามข้อมูลลผู้ใช้งาน ซึ่งจะทำให้การยิงโฆษณาบน Facebook ลดลงตามไปด้วย
เรียบเรียงจาก The Guardian / Wall Street Journal / https://investor.fb.com
ภาพจาก AFP