ในขณะที่โลกกำลังวุ่นวายอยู่กับเหตุขีปนาวุธตกในโปแลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกนาโต และประเทศไทยเองก็กำลังเตรียมเป็นเจ้าบ้านเปิดประเทศรับการประชุมเอเปค (APEC) ก็มีอีกหนึ่งข่าวที่มีความสำคัญและน่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือภารกิจ “อาร์เทมิส วัน (Artemis I)” ขององค์การนาซา (NASA) ที่ก่อนหน้านี้ถูกเลื่อนการปล่อยจรวดมาหลายรอบ แต่ในที่สุดก็ได้ฤกษ์ออกเดินทางไปยังดวงจันทร์แล้ว
“เหยียบดวงจันทร์ในรอบ 50 ปี” ศึกชิงความเป็นมหาอำนาจครั้งใหม่
ช่องทางรวยยุคอวกาศ นาซาเตรียมสำรวจ “ดาวเคราะห์น้อยทองคำ”
“ดาวเคราะห์ที่มีน้ำ” หายากแค่ไหน ในจักรวาลอันกว้างใหญ่
โครงการอาร์เทมิสเป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างมากต่อนาซาและสหรัฐฯ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งในรอบ 50 ปี ก่อนที่จะก้าวไปสู่หมุดหมายสำคัญถัดไปในการส่งคนไปเหยียบดาวอังคาร
โดย อาร์เทมิส วัน นั้น เป็นเฟสแรกของโครงการนี้ จะทดสอบการทำงานของยานอวกาศ “โอไรออน (Orion)” ที่สหรัฐฯ พัฒนาขึ้นมาใหม่ และจรวดเอสแอลเอส (SLS หรือ Space Launch System) จรวดขนาดใหญ่ที่ทันสมัยและทรงพลังที่สุดเท่าที่นาซาเคยสร้างขึ้น โดยยังไม่มีการส่งมนุษย์ขึ้นไป
อาร์เทมิส วัน เดิมมีกำหนดการจะถูกส่งขึ้นไปตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรนานัปการ ทั้งปัญหาเชิงเทคนิคต่าง ๆ ไปจนถึงฟ้าอากาศที่ไม่เป็นใจ เพราะสหรัฐฯ เจอผลกระทบจากพายุเฮอริเคนถึง 2 ลูก
โดยเมื่อเวลา 01.47 น. ของวันนี้ (16 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่นฟลอริดา (13.47 น. ตามเวลาประเทศไทย) จรวด SLS ได้เดินเครื่องยนต์และออกเดินทางสู่ดวงจันทร์เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่มีอุปสรรคหรือความผิดพลาดใดเกิดขึ้น
ยานอวกาศโอไรออนถูกติดตั้งอยู่กับจรวด SLS โดยจะแยกตัวออกมาหลังจากไปถึงอวกาศ จากนั้นจะทะยานผ่านวงโคจรด้วยเครื่องยนต์ขับเคลื่อนขนาดใหญ่เพียงเครื่องเดียว เครื่องยนต์นั้นจะทำให้ยานอวกาศโอไรออนอยู่ในวิถีที่ถูกต้องไปยังดวงจันทร์
จากนั้น ประมาณ 2 ชั่วโมงหลังจากปล่อยยาน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนก็จะแยกตัวออกมาเช่นกัน ปล่อยให้โอไรออนบินอย่างอิสระตลอดการเดินทางที่เหลือ
โอไรออนถูกออกแบบมาเพื่อให้มนุษย์โดยสารไปด้วยได้ แต่ในภารกิจอาร์เทมิส วัน ซึ่งเป็นเพียงเฟสแรกของโครงการอาร์เทมิสนี้จะบรรทุกเพียงผู้โดยสารที่ไม่มีชีวิตเท่านั้น เช่น หุ่นที่ติดตั้งโปรแกรมรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ เพื่อคอยช่วยเหลือลูกเรือในอนาคต
หลังเดินทางถึงดวงจันทร์ โอไรออนจะโคจรรอบดวงจันทร์แล้วจะเดินทางกลับโดยใช้เวลาในการเดินทางปและกลับรวมประมาณ 25.5 วัน โดยขากลับจะตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิกนอกชายฝั่งซานดิเอโกในวันที่ 11 ธ.ค. โดยทีมเก็บกู้จะรออยู่ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อเก็บแคปซูลกลับมา
ตลอดภารกิจ วิศวกรของนาซาจะคอยจับตาดูประสิทธิภาพของยานอวกาศอย่างใกล้ชิด ทีมงานจะประเมินว่ายานโอไรออนสามารถทำงานได้ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ และพร้อมที่จะสนับสนุนภารกิจอารเทมิส ทู (Artemis II) ซึ่งจะมีลูกเรือเดินทางไปยังวงโคจรดวงจันทร์ ซึ่งขณะนี้มีกำหนดการอยู่ที่ปี 2024
เรียบเรียงจาก CNN
ภาพจาก AFP