ยาน “โอไรออน” ของนาซา สร้างสถิติใหม่ บินไปได้ไกลกว่า “อะพอลโล 13”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ยานอวกาศ “โอไรออน” ของนาซาสร้างสถิติใหม่ เป็น “ยานอวกาศที่มนุษย์โดยสารไปด้วยได้ที่บินไปไกลที่สุดจากโลก”

บ่ายวานนี้ (28 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ยานอวกาศ “โอไรออน (Orion)” ขององค์การนาซา (NASA) ได้สร้างสถิติใหม่ ด้วยการเป็น “ยานอวกาศที่มนุษย์โดยสารไปด้วยได้ที่บินไปไกลที่สุดจากโลก” แทนที่เจ้าของสถิติเดิมอย่าง “อะพอลโล 13”

ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นในวันที่ 13 ของภารกิจ “อาร์เทมิส วัน (Artemis I)” ซึ่งเป็นเฟสแรกของโครงการอาร์เทมิส มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบการทำงานของโอไรออนเป็นหลัก

นาซาตั้งเป้า ภายในปี 2030 จะมีนักบินอวกาศ “อาศัย” อยู่บนดวงจันทร์

ภารกิจ “อาร์เทมิส” ออกเดินทางสู่ดวงจันทร์แล้ว! หลังเลื่อนมาหลายเดือน

“เหยียบดวงจันทร์ในรอบ 50 ปี” ศึกชิงความเป็นมหาอำนาจครั้งใหม่

โอไรออนถูกออกแบบมาเพื่อให้มนุษย์โดยสารไปด้วยได้ แต่ในภารกิจอาร์เทมิส วัน บรรทุกไปเพียงผู้โดยสารที่ไม่มีชีวิตเท่านั้น เช่น หุ่นที่ติดตั้งโปรแกรมรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ โดยเมื่อเดินทางถึงดวงจันทร์จะโคจรอ้อมหลังดวงจันทร์ จากนั้นเดินทางกลับ ซึ่งจะถึงโลกในวันที่ 11 ธ.ค. รวมเวลาภารกิจ 25.5 วัน

และในการอ้อมหลังดวงจันทร์นี้เอง ที่ทำให้ยานโอไรออนได้เดินไปไกลจากโลกที่สุดเท่าที่ยานซึ่งมนุษย์โดยสารไปด้วยได้เคยทำ ด้วยระยะทาง 450,000 กิโลเมตร มุลสถิติเดิมของอะพอลโล 13 ที่ทำไว้ 400,170 กิโลเมตร เมื่อปี 1970 ซึ่งครั้งนั้นเป็นภารกิจที่มีมนุษย์โดยสารอยู่บนยานด้วย

ยานอวกาศโอไรออนยังจับภาพโลกและดวงจันทร์ที่อยู่ร่วมเฟรมกัน รวมทั้งภาพดวงจันทร์กำลังบดบังโลก ส่งกลับมาให้นาซาด้วย

หากภารกิจ อาร์เทมิส วัน สำเร็จด้วยดี ก็จะก้าวสู่เฟสถัดไป นั่นคือ อาร์เทมิส ทู (Artemis II) ซึ่งจะมีลูกเรือเดินทางไปยังวงโคจรดวงจันทร์ และเฟสสุดท้าย อาร์เทมิส 3 จะส่ง มนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกในรอบ 50 ปี

บิล เนลสัน ผู้อำนวยการองค์การนาซา กล่าวว่า “อาร์เทมิส วัน ประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ และได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ขึ้นมา มันเหลือเชื่อที่ภารกิจนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่นี่คือการทดสอบ”

ฮาเวิร์ด หู หัวหน้าโครงการยานอวกาศโอไรออน กล่าวว่า โดยภาพรวมแล้ว ประสิทธิภาพของโอไรออนนั้น “โดดเด่นอย่างมาก” มันมีประสิทธิภาพเหนือความคาดหมายในบางเรื่อง เช่น ผลิตพลังงานได้มากกว่าที่ต้องการจริง ๆ ประมาณ 20%

ขณะที่ ไมเคิล ซาราฟิน ผู้จัดการภารกิจอาร์เทมิส วัน เสริมว่า สิ่งต่าง ๆ เป็นไปได้ด้วยดีจนนาซาตัดสินใจเพิ่มวัตถุประสงค์ภารกิจเพิ่มอีก 7 ประการ เพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสามารถและประสิทธิภาพของยานอวกาศโอไรออน

ขณะนี้โอไรออนกำลังโคจรอ้อมหลังดวงจันทร์อยู่ โดยวันพฤหัสบดี (1 ธ.ค.) จะออกจากวิถีโคจรนี้เพื่อมุ่งหน้ากลับมายังโลก ซึ่งทีมงานภาคพื้นของนาซาและกองทัพเรือสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มเตรียมการแล้ว เพื่อให้การเก็บกู้โอไรออนในมหาสมุทรแปซิฟิกนอกชายฝั่งซานดิเอโกในวันที่ 11 ธ.ค. เป็นได้อย่างราบรื่น

ปัจจุบัน ณ เวลา 12.22 น. ตามเวลาประเทศไทย ยานโอไรออนอยู่ห่างจากโลกประมาณ 431,400 กิโลเมตร อยู่ห่างจากดวงจันทร์เกือบ 70,000 กิโลเมตร กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 2,720 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใครที่ต้องการติดตามภารกิจของโอไรออน สามารถคลิกที่นี่ได้เลย

 

คอนเทนต์แนะนำ
ตารางฟุตบอลโลก 2022 วันอังคารที่ 29 พ.ย. ช่องถ่ายทอดสดและอัปเดตผลบอลโลก
ครม. ผ่านแล้ว! เก็บภาษีหุ้น ปีแรก 0.05% ของมูลค่าหุ้นที่ขาย

 

เรียบเรียงจาก CNN / NASA

ภาพจาก NASA

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ