วันนี้ไม่ชน วันหน้าไม่แน่ “ดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลก” เรื่องใหญ่มนุษยชาติ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




27 ธ.ค. มีดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งพุ่งเข้ามาเฉียดโลก ซึ่งไม่ได้สร้างอันตรายอะไร แต่ที่ต้องจับตาคือดาวเคราะห์น้อยอีกดวงที่จะมาในปี 2029

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีเรื่องใหญ่ที่ไม่เป็นที่สนใจนักเกิดขึ้น นั่นคือการเดินทางเฉียดเข้ามาใกล้โลกของดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่ง ซึ่งมีขนาดใหญ่เท่ากับตึกระฟ้า!

แม้จะฟังดูน่ากลัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ด้วยการคำนวณที่แม่นยำของนักดาราศาสตร์ ทำให้สามารถยืนยันได้ว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงดังกล่าวจะไม่พุ่งชนโลกอย่างแน่นอน

เรากำลังพูดถึงดาวเคราะห์น้อย 2010 XC15 ซึ่งถูกจัดให้เป็นวัตถุใกล้โลกที่อาจเป็นภัยคุกคามอันตราย (PHO) ที่มีขนาดประมาณ 174 เมตร หรือเทียบได้กับตึกระฟ้าสูงมากกว่า 50 ชั้น

ช่องทางรวยยุคอวกาศ นาซาเตรียมสำรวจ “ดาวเคราะห์น้อยทองคำ”

พบดาวเคราะห์น้อย “ผู้พิฆาตดาวเคราะห์” เสี่ยงเป็นภัยต่อโลก

ภารกิจ DART ของนาซา เปลี่ยนวิถีโคจรดาวเคราะห์น้อยสำเร็จ

โดยมันเคลื่อนตัวอยู่ในวงโคจรของโลก ซึ่งเมื่อมันเดินทางเข้ามาใกล้โลก จะเป็นช่วงเวลาที่หน่วยงานด้านอวกาศต่าง ๆ เช่น นาซา (NASA) มักจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะวัตถุใกล้โลกที่ถูกจัดเป็น PHO นั้น หากตกลงมายังโลก จะสร้างความเสียหายมหาศาล

สำหรับการพุ่งเข้ามาใกล้โลกของดาวเคราะห์น้อย 2010 XC15 ครั้งนี้ เข้ามาในระยะที่ถือว่าใกล้มาก คือประมาณ 772,000 กิโลเมตร เคลื่อนที่ด้วยความเร็วมากกว่า 36,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วกว่าขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงซะอีก

นักวิทยาศาสตร์ถือโอกาสนี้ในการศึกษาดาวเคราะห์น้อย 2010 XC15 อย่างละเอยีด โดยใช้ระบบที่เรียกว่า HAARP (High-frequency Active Auroral Research Program) หรือการใช้คลื่นวิทยุ 9.6 เมกะเฮิรตซ์ยิงไปยัง 2010 XC15 เพื่อระบุและหารูปร่าง ขนาด และวิถีโคจรของดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก

นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่า 2010 XC15 นี้จะโคจรกลับมาใกล้โลกอีกครั้งในปี 2064 ที่ระยะประมาณ 1.3 ล้านกิโลเมตร และคาดว่าจะใกล้ที่สุดมากกว่าที่เคยในปี 2096 ที่ระยะเพียง 644 ล้านกิโลเมตร

ทั้งนี้ จากข้อมูลของนาซา วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยสามารถเปลี่ยนแปลงได้หากเจอกับแรงโน้มถ่วงมหาศาลของดาวพฤหัสบดี และจากการเข้าใกล้หรือปะทะกับดาวเคราะห์น้อยอื่นหรือวัตถุในอวกาศอื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้ดาวเคราะห์น้อยเบี่ยงวิถีออกจากวงโคจรหลัก

อย่างไรก็ดี 2010 XC15 ไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อยที่สร้างความกังวลให้นักดาราศาสตร์มากที่สุด ตำแหน่งนั้นเป็นของ “99942 อะโพฟิส (Apophis)” ต่างหาก ซึ่งการใช้ระบบ HAARP ศึกษา 2010 XC15 นี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อเตรียมรับมืออะโพฟิสด้วย

อะโพฟิสเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดประมาณ 340-370 เมตร หรือประมาณตึกสูงมากกว่า 100 ชั้น ถูกค้นพบเมื่อปี 2004 พร้อมกับมีการคำนวณที่ชวนตระหนกออกมาว่า ในปี 2029 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า มีโอกาส 2.7% ที่อะโพฟิสจะพุ่งชนโลก!

ก่อนหน้านี้ อะโพฟิสเคยเคลื่อนผ่านโลกเมื่อปี 2004 และ 2013 ที่ระยะมากกว่า 14 ล้านกิโลเมตรจากโลก แต่ในปี 2029 มีการคำนวณออกมาว่า อะโพฟิสจะเคลื่อนเข้าใกล้โลกที่ระยะประมาณ 38,000 กิโลเมตรเหนือผิวโลกเท่านั้น ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้กว่าดาวเทียมบางดวงเสียอีก

แต่ข่าวดีคือ จากการคำนวณล่าสุด นักดาราศาสตร์มั่นใจว่า อะโพฟิสจะไม่เคลื่อนเข้ามาใกล้กว่าระยะ 31,600 กิโลเมตรจากผิวโลกแน่นอน แต่ระยะดังกล่าวก็จะทำให้มันเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่สุดที่เคประชิดโลกมากที่สุด โดยคาดว่าจะสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องส่องทางไกลปกติจากหลายภูมิภาคของโลก คือ ยุโรป แอฟริกา และเอเชียตะวันตก

เรื่องของดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลกนี้ เป็นเรื่องที่เหมือนไกลตัว แต่ความจริงแล้วมันใกล้ตัวมากกว่าที่หลายคนคิด เพราะหากมีสักดวงตกลงมายังโลกจริง ก็ไม่อยากจะนึกภาพความเสียหายที่มันจะนำมาสู่มนุษยชาติ

ด้วยเหตุนี้ องค์การด้านอวกาศต่าง ๆ ทั่วโลก จึงพยายามศึกษาดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้อย่างละเอียด เพื่อประเมินความเสี่ยงและหาทางปกป้องโลกจากภัยคุกคามนี้ เพราะการพูดว่า “ดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลก” ไม่ได้หมายความว่าวันหนึ่งวันใดข้างหน้ามันจะไม่พุ่งเข้ามาชนโลก

 

ภาพจาก AFP

เรื่องที่คุณอาจพลาด
วิดีโอยอดนิยม

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP ต่างประเทศ

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ