รัฐวาเลส์ (Valais) ในสวิตเซอร์แลนด์ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีทิวทัศน์ภูเขางดงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยทั่วไปพื้นที่จะปกคลุมไปด้วยหิมะในฤดูหนาวและดอกเอเดลไวส์ในฤดูร้อน เป็นภาพวิวที่ถ่ายภาพออกมายังไงก็สวย
ความสวยงามของภูมิประเทศภูเขาในวาเลส์ทำให้บริเวณเขตอนุรักษ์ยุงเฟา-อาเลตช์ (Jungfrau-Aletsch) ถึงขั้นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติขององค์การยูเนสโกด้วย
เปิดคุณสมบัติ “กัญชา” ที่อาจทำให้มันเป็น “วีรบุรุษสู้โลกร้อน”
ความสวยงามที่ไม่อยากเห็น วิจัยพบโลกร้อนจะทำให้ “รุ้งกินน้ำ” เพิ่มขึ้น
"พายุบนโลกจะน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ" หลังโลกร้อนทำมหาสมุทรอุ่นเกินไป
อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงกำลังมาเยือนรัฐวาเลส์อันสวยงามแห่งนี้ เมื่อภาวะโลกร้อนทั่วโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ได้ทำให้หิมะขาวโพลนหายไป และถูกแทนที่ด้วยสิ่งมีชีวิตหนึ่งนั่นคือ “กระบองเพชร”
เจ้าหน้าที่ทางการรัฐวาเลส์กล่าวว่า พบต้นกระบองเพชรในสกุล Opuntia หรือที่บางคนเรียกว่า ลูกแพร์หนาม กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ของรัฐวาเลส์ รุกล้ำเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ และเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่
ทางการเทศบาลฟูลี (Fully) ในวาเลส์รายงานว่า “กระบองเพชรซึ่งชื่นชอบสภาพอากาศแห้งและร้อน พืชที่เข้ามารุกรานและไม่ใช่พืชพื้นเมืองนี้ ไม่เป็นที่ต้อนรับในปริมณฑลของทุ่งหญ้าแพรรีและทุ่งหญ้าแห้งที่มีความสำคัญระดับชาติ”
มีรายงานว่า กระบองเพชรตระกูล Opuntia นี้ ได้ขยายพันธุ์บนเนินเขาบางแห่งรอบ ๆ ซิยง เมืองหลวงของรัฐวาเลส์ จนตอนนี้ประชากรของมันคิดเป็น 23-30% ของพืชพันธุ์เตี้ยในพื้นที่แล้ว
นอกจากนี้ ยังพบกระบองเพชรเหล่านี้ในภูมิภาคอัลไพน์ รวมทั้งทีชีโนและกริสันของสวิตเซอร์แลนด์ และหุบเขาออสตาและวาลเทลลินาในอิตาลีด้วย
ยานน์ ทริปโปเนซ นักชีววิทยาในหน่วยพิทักษ์ธรรมชาติของวาเลส์ กล่าวว่า “ในพื้นที่บางส่วนของวาเลส์ เราประเมินว่ากระบองเพชรสามารถกินพื้นที่หนึ่งในสามของพื้นที่ที่มีอยู่ได้”
เดิมทีกระบองเพชร Opuntia นี้มีอยู่ในวาเลส์มาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 แล้ว แต่ไม่เคยแพร่พันธุ์ได้มากจนทำลายทัศนียภาพและความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ขนาดนี้มาก่อน
เจ้าหน้าที่เชื่อว่า สภาพอากาศที่อุ่นขึ้นในเทือกเขาแอลป์ทำให้กระบองเพชรมีระยะเวลาในการขยายพันธุ์นานขึ้น และหิมะที่ปกคลุมน้อยลงอาจสร้างสภาวะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพวกมันในการแพร่พันธุ์
ปีเตอร์ โอลิเวอร์ บามการ์ตเนอร์ ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาซึ่งมีความสนใจด้านพฤกษศาสตร์ กล่าวว่า “กระบองเพชรสปีชีส์นี้ทนอุณหภูมิ -10 หรือ -15 องศาเซลเซียสได้โดยไม่มีปัญหา ... แต่พวกมันต้องการอยู่ในที่แห้งและไม่ชอบหิมะปกคลุม”
ข้อมูลจากอุตุนิยมวิทยาสวิสระบุว่า ขณะนี้ หิมะถือว่าเป็นสิ่งที่จะหายากขึ้นในพื้นที่ระดับความสูงต่ำ โดยในพื้นที่ระดับความสูงต่ำกว่า 800 เมตรทั่วสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า จำนวนวันลดลงเหลือแต่ครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขปี 1970
ขณะเดียวกัน สวิตเซอร์แลนด์ร้อนเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 2 เท่า โดยอุณหภูมิเฉลี่ยในสวิตเซอร์แลนด์อุ่นกว่าค่าเฉลี่ยปี 1871-1900 ซึ่งเป็นยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 2.4 องศาเซลเซียส
บามการ์ตเนอร์บอกว่า “ถ้าดูรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเห็นว่ากราฟการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิสำหรับสวิตเซอร์แลนด์เกือบจะสูงชันพอ ๆ กับอาร์กติกเลยทีเดียว”
การที่สภาพอากาศเอื้อต่อการขยายพันธุ์ของกระบองเพชร Opuntia นั้นเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างมาก ทริปโปเนซบอกว่า “วาเลส์เป็นหนึ่งในจุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงในสวิตเซอร์แลนด์ ... เรามีพืชประมาณ 2,200 ชนิดอยู่ในวาเลส์”
เขาเสริมว่า ทางการกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของกระบองเพชรไปยังเขตอนุรักษ์ธรรมชาติและพื้นที่คุ้มครอง “เมื่อมีกระบองเพชรเหล่านี้ จะไม่มีอะไรเติบโตอีกแล้ว ... กระบองเพชรสายพันธุ์นี้จะปกคลุมดินและป้องกันไม่ให้พืชชนิดอื่นเติบโต”
บามการ์ตเนอร์กล่าวว่า กระบองเพชร Opuntia ที่พบในวาเลส์มีอยู่ 9 สายพันธุ์ย่อย ในจำนวนนี้มีเพียง 4 สายพันธุ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีดินเป็นกรดหรือเป็นกลาง
ทั้งนี้ การป้องกันไม่ให้กระบองเพชร Opuntia เพิ่มจำนวนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พวกมันขยายพันธุ์ได้ง่าย เติบโตได้แม้ถูกโค่น หรือถูกเหยียบโดยนักปีนเขา หรือปล่อยให้แห้งเป็นเวลาหลายเดือน และสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากถูกถอนรากออก
นี่คือผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องทัศนียภาพที่สวยงาม แต่เราไม่อาจทราบได้เลยว่า ในอนาคต สวิตเซอร์แลนด์จะยังคงเป็นแบบในภาพจำของเราอยู่หรือไม่
เรียบเรียงจาก The Guardian
ภาพจาก The Guardian