IAEA เตือนโลกเสี่ยงเผชิญหายนะนิวเคลียร์อีกครั้ง

โดย PPTV Online

เผยแพร่

รัสเซียได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่อีกครั้ง ในหลายพื้นที่ของยูเครนในรอบ 3 สัปดาห์ เป้าหมายหลักยังคงเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของพลเรือน ผลจากการโจมตีทำให้หลายพื้นที่ของยูเครนต้องเผชิญกับภาวะพลังงานไม่เพียงพอ

หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ท่ามกลางสัญญาณการขาดแคลนขีปนาวุธและกระสุน อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้รัสเซียกลับมาโจมตียูเครนครั้งใหญ่อีกครั้ง ล่าสุดรัสเซียได้ออกมาพูดเรื่องนี้แล้ว

อิกอร์ โคนาเชนคอฟ โฆษกกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ได้ออกมาแถลงว่า การโจมตีทั่วยูเครนด้วยขีปนาวุธที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ( 9 มี.ค.) เป็นการโจมตีเพื่อล้างแค้นยูเครนที่ก่อวินาศกรรมที่แคว้นเบรียนสก์เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยขีปนาวุธและโดรนสามารถโจมตีเป้าหมายต่างๆ ได้ตามที่กองทัพรัสเซียวางไว้

คนรัสเซียโอด หนึ่งปีของสงคราม ชีวิตก็ลำบากเช่นกัน

เจ็บแต่จบ! สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีโอกาสสิ้นสุดในปีนี้?

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา อเล็กซานเดอร์ โบโกมาซ ผู้ว่าการแคว้นเบรียนสก์รายงานว่า มีกลุ่มก่อการร้ายจากยูเครนข้ามไปยังแคว้นเบรียนสก์และก่อเหตุยิงรถที่สัญจรผ่านมาทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 1 ราย โดยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเป็นเด็กวัย 10 ขวบ

นอกจากนี้ ผู้ว่าการแคว้นเบรียนสก์ได้ระบุเพิ่มเติมว่า กองทัพยูเครนยังได้โจมตีอีกหลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นการส่งโดรนพลีชีพไปยังเขตคลิโมฟสกีและซูชานี ทำให้เกิดเพลิงไหม้อาคารบ้านเรือนของพลเรือน หรือ การใช้ปืนครกยิงใส่บางพื้นที่ของแคว้น

ในวันนั้น ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียไม่พอใจอย่างหนักและออกมาแถลงเรียกการ กระทำดังกล่าวว่าเป็นการก่อการร้ายโดยกลุ่มนีโอนาซี ที่กองทัพรัสเซียพยายามต่อสู้อยู่  ก่อนที่จะตามมาด้วยปฏิบัติการล้างแค้นที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้

โดยรัสเซียได้ยิงขีปนาวุธจำนวน 81 ลูก ซึ่ง 6 ลูกเป็นขีปนาวุธชนิดความเร็วเหนือเสียงรุ่นคินซัล ที่ระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครนไม่สามารถยิงสกัดได้ รวมถึงใช้โดรนอีกพลีชีพอีกหลายลำโจมตีหลายแคว้นของยูเครน ไม่ว่าจะเป็นกรุงเคียฟ แคว้นลวิฟ ลุตสก์ ริฟเน ทางภาคตะวันตก แคว้นคาร์คีฟ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แคว้นดนีโปร ซาโปริซเซีย ทางภาคกลาง และแคว้นโอเดสซา ทางภาคใต้

โดยหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีอย่างหนักคือ แคว้นลวิฟ ทางภาคตะวันตก บริเวณที่ติดกับชายแดนโปแลนด์

ที่ผ่านมา แคว้นลวิฟถือว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับชาวยูเครน เนื่องจากอยู่ไกลจากแผ่นดินรัสเซียและใกล้กับชายแดนโปแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกนาโต

การโจมตีมายังแคว้นลวิฟจึงไม่ใช่ทางเลือกที่รัสเซียต้องการ เนื่องจากเสี่ยงที่จะเกิดการโจมตีพลาดและข้ามไปยังโปแลนด์ ซึ่งจะทำให้รัสเซียต้องเผชิญหน้ากับนาโตโดยตรง อย่างไรก็ดี เมื่อคืนที่ผ่านมา แคว้นลวิฟตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี และขีปนาวุธลูกหนึ่งได้พุ่งเข้าโจมตีบ้านเรือนของประชาชนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย   ประชาชนในพื้นที่บอกว่า พวกเขาตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะคิดว่าที่นี่ปลอดภัยมาตลอด จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์เมื่อวานนี้

นอกจากแคว้นลวิฟ อีกพื้นที่ที่ถูกโจมตีและหลายฝ่ายกำลังกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมาคือ แคว้นซาโปริซเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

เพราะเมื่อวานนี้ บริษัทเอเนอร์โกอะตอมซึ่งเป็นผู้ดูแลโรงไฟฟ้าดังกล่าว ได้ออกมาแถลงว่า การโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซีย ทำให้สายส่งไฟฟ้าที่เชื่อมต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกตัดขาด จนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล 18 เครื่องต้องเริ่มทำงานเพื่อจ่ายไฟสำรองให้กับระบบต่างๆ ของโรงไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี เชื้อเพลิงนี้สามารถจ่ายพลังงานได้อีกเพียง 10 วันเท่านั้น และหากพลังงานหมดโลกอาจต้องเผชิญกับอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์อีกครั้งในรอบหลายสิบปี นับตั้งแต่เหตุการณ์เชอร์โนบิล

ล่าสุด ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหรือ IAEA ได้ออกมาเตือนเรื่องหายนะจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้งว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกตัดขาดพลังงาน  ขณะเดียวกันก็ได้กล่าวเตือนโลกว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปกำลังทำงานด้วยเครื่องปั่นไฟสำรองเป็นครั้งที่หกแล้ว โลกอาจไม่ได้โชคดีแบบนี้ตลอดไป

ขณะเดียวกัน หลายพื้นที่ในแคว้นคาร์คีฟซึ่งถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธรุ่น S-300 มากกว่า 15 ลูกเมื่อวานนี้ก็เกิดเหตุการณ์ไฟดับ เนื่องจากขีปนาวุธพุ่งเป้าเข้าไปโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานโดยตรง ทำให้ทางการยูเครนต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลา ซ่อมแซมระบบโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด

ด้านโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้ออกมาแถลงว่าทางการยูเครนได้ส่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทีมซ่อมแซม ทีมวิศวกร ลงพื้นที่ไปยังเมืองต่างๆ เพื่อซ่อมแซมระบบโครงสร้างพื้นฐานให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว

นอกจากนี้ ผู้นำยูเครนย้ำว่า ยูเครนมีความสามารถและความแข็งแกร่งในการรับมือกับรัสเซีย ขีปนาวุธจะไม่ช่วยให้รัสเซียชนะ และชาวยูเครนจะไม่ตกเป็นทาสของรัสเซีย

นอกจากสถานการณ์ในยูเครน อีกปัญหาในภูมิภาคนี้ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ คือ การประท้วงในจอร์เจีย ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 วันที่ผ่านมา เพื่อต่อต้านร่างกฎหมาย “ตัวแทนต่างชาติ” ซึ่งอาจเอื้อให้รัสเซียเข้ามามีบทบาทในจอร์เจียมากขึ้น ล่าสุดประชาชนที่ออกมาประท้วงได้รับชัยชนะ หลังจากที่รัฐสภาจอร์เจียลงมติถอดถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ ตามที่รัฐบาลประกาศเมื่อคืนที่ผ่านมา

เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา (10 มี.ค.) รัฐสภาจอร์เจียได้เปิดประชุมลงมติร่างกฎหมาย “ตัวแทนต่างชาติ” ผลปรากฏว่าสมาชิกของรัฐสภาได้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบ 1 เสียง ไม่เห็นชอบ 35 เสียง และงดออกเสียง 58 เสียง ส่งผลให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านการพิจารณาหรือโดนถอดถอนออกจากสภา

หลังจากที่มีมติถอดถอนออกมาประชาชนที่รวมตัวประท้วงกันอยู่ที่หน้าอาคารรัฐสภาก็ได้ชูป้ายที่มีสัญลักษณืสหภาพยุโ รปและธง ตลอดจนส่งเสียงแสดงความดีใจประชาชนบอกว่า พวกเขาดีใจมาก เพราะพวกเขาต้องการอนาคตแบบที่มีชาติตะวันตกและจะไม่ย้อนกลับไปในยุคโซเวียตอี-ประชาชน

การถอดถอนร่างกฎหมายดังกล่าวมีขึ้น หลังจากเมื่อคืนนี้ มามูกา มดินาราดเซ ประธานพรรคความฝันชาวจอร์เจีย (The Georgian Dream party) ออกมาแถลงว่า  รัฐบาลเตรียมถอนร่างกฎหมายตัวแทนต่างชาติอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อลดการเผชิญหน้าและความขัดแย้งในสังคม

หลังจากนั้น โซโลเม ซูราบิชวิลี ประธานาธิบดีจอร์เจีย ได้ออกมาแถลงแสดงความยินดีกับชัยชนะของประชาชนครั้งนี้ โดยระบุว่าหากจอร์เจียเป็นประเทศประชาธิปไตย รัฐบาลก็ควรต้องฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน

 ด้านเนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาระบุว่าสหรัฐฯ ยินดีที่รัฐบาลจอร์เจียตัดสินใจถอนร่างกฎหมายนี้ และหวังว่ารัฐบาลจอร์เจียจะไม่นำกฎหมายนี้กลับมาพิจารณา ตลอดจนจะไม่เสนอกฎหมายในลักษณะดังกล่าวอีกร่างกฎหมายที่ประชาชนออกมาประท้วงนี้มี 2 ฉบับ

โดยฉบับแรกมีเนื้อหาที่กำหนดให้องค์กรต่าง ๆ ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐหรือองค์กรสื่อ ไม่ว่าจะเป็นแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ ถ้ามีรายได้มาจากต่างชาติมากกว่าร้อย 20 ของรายได้ทั้งหมดต่อปี จะต้องขึ้นทะเบียนเป็น “ตัวแทนต่างชาติ”

หากไม่ทำปฏิบัติตามจะถูกปรับเป็นเงินราว 300,000 บาท ส่วนฉบับที่สองมีเนื้อหาที่ไปขยายขอบเขตคำว่า “ตัวแทนของอิทธิพลจากต่างชาติ" (Agents of Foreign Influence) ให้ครอบคลุมถึงบุคคลทั่วไปด้วย จากเดิมที่หมายถึงแค่องค์กร   นี่ทำให้ประชาชนรวมถึงประธานาธิบดีจอร์เจียเองมองว่า กฎหมายนี้กำลังจะเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชนในจอร์เจีย เพราะอาจนำไปสู่การปิดปากสื่อและปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญของประชาชน

อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจถอนร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังคงปักหลักประท้วงบริเวณหน้าอาคารรัฐสภาจอร์เจียต่อไป   ประชาชนบางคนอธิบายเหตุผลในการปักหลักประท้วงต่อว่า พวกเขาต้องการให้รัฐบาลลาออก เนื่องจากการพยายามออกกฎหมายดังกล่าวเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ