ฮังการีจะไม่จับ “ปูติน” ถ้าเขาเดินทางมาเยือน ชี้ไม่อยู่ในกฎหมายประเทศ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ฮังการีเผย หากปธน.ปูตินของรัสเซียมาเยือน จะไม่ดำเนินการจับกุมตามหมายจับศาลอาญาระหว่างประเทศ ชี้ไม่ได้อยู่ในกฎหมายฮังการี

หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ประกาศออกหมายจับ ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ฐานก่ออาชญากรรมสงครามจากการพาตัวเด็กยูเครนหลายร้อยคนไปยังรัสเซียโดยมิชอบ ท่ามกลางข้อกังขาว่า การออกหมายจับนี้ จะทำให้ปูตินถูกจับได้จริงหรือไม่

ล่าสุด ประเทศฮังการีออกมาเปิดเผยว่า จะไม่มีการจับกุมประธานาธิบดีปูติน หากเขาเดินทางเข้าประเทศ

คอนเทนต์แนะนำ
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 เช็ก! ช่วงเวลายืนยันตัวตน-วันเริ่มใช้สิทธิ
เปิดลงทะเบียนค่าไฟ สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565
กรวีร์ เตือน "ทรู แบงค็อก " ระวังซวยหาก"ชูวิทย์"ทำผิดกฎ

 

 

โดยเมื่อวานนี้ (23 มี.ค.) แกร์แกล กูลยาช เสนาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีฮังการี กล่าวว่า แม้ว่าฮังการีจะลงนามในธรรมนูญแห่งโรม ซึ่งเป็นสนธิสัญญาก่อตั้ง ICC และให้สัตยาบันในปี 2001 แต่โดยพื้นฐานของกฎหมายฮังการีแล้ว ไม่สามารถจับกุมปูตินได้

เกาหลีเหนือทดสอบ “โดรนนิวเคลียร์ใต้น้ำ” อ้างสร้าง “สึนามิกัมมันตรังสี” ได้

รัสเซียยิงมิสไซล์ใส่ยูเครนมากแค่ไหน? “สุสานขีปนาวุธ” อาจมีคำตอบ

ศาลอาญาระหว่างประเทศ “ออกหมายจับปูติน” ก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน

“ถ้าเราอ้างถึงกฎหมายของฮังการี เราจะไม่สามารถจับกุมประธานาธิบดีรัสเซียได้ … เนื่องจากกฎเกณฑ์ของ ICC ยังไม่ได้ประกาศใช้ในฮังการี” กูลยาชกล่าว และเน้นย้ำว่า นี่ไม่ใช่การแสดงจุดยืนของรัฐบาลฮังการีต่อหมายจับปูตินของ ICC

โดยหลักการแล้ว รัฐสมาชิก 123 ประเทศของ ICC มีหน้าที่ต้องดำเนินการตามหมายจับ หมายความว่าหากปูตินเข้าสู่ดินแดนใด ๆ เหล่านี้ เขาควรถูกจับกุมโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของชาตินั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม กูลยาชอ้างว่า สนธิสัญญาธรรมนูญแห่งโรมไม่ได้ถูกสร้างขึ้นในระบบกฎหมายของฮังการี ดังนั้นจึงไม่มีผลบังคับใช้ กลูยาชยังกล่าวถึงหมายจับว่า “การตัดสินใจเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด เนื่องจากเป็นการตัดสินใจที่นำไปสู่การยกระดับสงครามต่อไป ไม่ใช่เพื่อสันติภาพ นี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผม”

อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นนี้อาจไม่สร้างความตกใจให้กับเพื่อนบ้านในยุโรปของฮังการีเท่าไรนัก เนื่องจากฮังการีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี วิกตอร์ ออร์บาน ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรในยุโรปที่ใกล้ชิดที่สุดของรัสเซียมาโดยตลอด หลังจากปูตินสั่งบุกยูเครนเมื่อปีที่แล้ว ออร์บานเป็นผู้นำประเทศในสหภาพยุโรปที่ไม่เต็มใจที่สุดในการคว่ำบาตรรัสเซีย

แม้ฮังการีจะเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรนาโต (NATO) แต่ที่ผ่านมาได้แสดงท่าทีคัดค้านชาติตะวันตกที่ส่งอาวุธให้ยูเครน โดยออร์บานเคยเตือนว่า ยุโรปกำลังพาตัวเองเข้าสู่สงครามในยูเครน และเขายังได้พยายามขัดขวางไม่ให้ยูเครนเข้าร่วมกับนาโตด้วย

ด้านรัสเซียหลังมีการออกหมายจับ ก็ออกมาตอบโต้ทันทีทันใดว่า เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และระบุว่ารัสเซียไม่ได้อยู่ภายใต้การตัดสินใจของ ICC

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย เปิดเผยหลังมีการออกหมายจับปูตินว่า “รัสเซีย เช่นเดียวกับหลายรัฐ ไม่ยอมรับอำนาจศาลของศาลนี้ ดังนั้น การตัดสินใจใด ๆ ในลักษณะนี้ถือเป็นโมฆะสำหรับสหพันธรัฐรัสเซียในแง่ของกฎหมาย”

ขณะที่ คาริม ข่าน หัวหน้าอัยการของ ICC กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “มาตรา 27 ของธรรมนูญแห่งโรมระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของบุคคลไม่เกี่ยวข้องกับเขตอำนาจศาล ผู้พิพากษาอิสระของศาลเห็นว่าเหมาะสมแล้วที่จะออกหมายจับ”

 

เรียบเรียงจาก CNN

ภาพจาก AFP

คอนเทนต์แนะนำ
เลือกตั้ง 2566 : เปิดวิธีลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งใน-นอกเขตเลือกตั้ง
สภาพอากาศวันนี้! ทั่วไทยร้อน สูงสุด 41 องศา เช็ก 20 จว.มีฝนตกด้วย
กางปฏิทินจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างลูกจ้างประจำ บำนาญ ปี 2566

เรื่องที่คุณอาจพลาด
วิดีโอยอดนิยม

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP ต่างประเทศ

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ