หนึ่งในภารกิจทางด้านอวกาศที่ทั่วโลกจับตาอยู่ในขณะนี้ คือภารกิจ “อาร์เทมิส” (Artemis) ขององค์การนาซา (NASA) ซึ่งมีเป้าประสงค์สุดท้ายในการส่งมนุษย์กลับไปเหยียบบนดวงจันทร์อีกครั้งในรอบ 50 ปี
ภารกิจอาร์เทมิสแบ่งออกเป็นเฟสย่อย ๆ 3 เฟส เฟสแรกคืออาร์เทมิส 1 ที่จะทดสอบการทำงานของยานอวกาศ “โอไรออน (Orion)” ที่สหรัฐฯ พัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดีเมื่อช่วงปลายปี 2022 ที่ผ่านมา
นั่นทำให้ขณะนี้ ภารกิจอาร์เทมิสกำลังอยู่ในเฟสที่ 2 คือการส่งนักบินอวกาศเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์กับยานโอไรออนในปี 2024 โดยไม่ลงจอด และเฟสสุดท้ายคือการส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์
ก่อนหน้านี้มีการประกาศออกมาว่า ในเฟส 2 นี้ จะมีการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอุตสาหกรรมอวกาศสหรัฐฯ นั่นคือการส่ง “นักบินอวกาศหญิงคนแรก” และ “นักบินอวกาศผิวสีคนแรก” ไปดวงจันทร์
ล่าสุด เมื่อวานนี้ (3 เม.ย.) องค์การนาซาและองค์การอวกาศแคนาดา (CSA) ได้ประกาศรายชื่อนักบินอวกาศทั้ง 4 คนที่จะได้เดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ในเฟสที่ 2 ของภารกิจอาร์เทมิสแล้ว
บิล เนลสัน ผู้อำนวยการนาซา กล่าวว่า “ลูกเรืออาร์เทมิส 2 เป็นตัวแทนของคนหลายพันคนที่ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อนำเราไปสู่ดวงดาว นี่คือลูกเรือของพวกเขา นี่คือลูกเรือของเรา นี่คือลูกเรือของมนุษยชาติ”
ซึ่งนักบินอวกาศทั้ง 4 คน ประกอบด้วย รีด ไวส์แมน จากนาซา, วิกเตอร์ โกลเวอร์, คริสตินา แฮมม็อก ค็อก, และเจเรมี ฮานเซน จาก CSA
นักวิทยาศาสตร์รู้แล้ว! “น้ำบนดวงจันทร์” ซุกซ่อนอยู่ที่ไหน
นาซาเผยโฉมชุดนักบินอวกาศใหม่ สำหรับภารกิจเหยียบดวงจันทร์ “อาร์เทมิส”
ยาน “โอไรออน” ถึงโลกแล้ว! ก้าวสำคัญของการส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์
เนลสันบอกว่า “พวกเขาต่างมีเรื่องราวของตัวเอง แต่เมื่อรวมกันแล้ว พวกเขาเป็นตัวแทนของความเชื่อของเรา E pluribus unum (จากหลากหลายรวมเป็นหนึ่ง) เรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของการสำรวจสำหรับกะลาสีดวงดาวและนักฝันรุ่นใหม่”
มีการกำหนดตัวหัวหน้าลูกเรือคือ รีด ไวส์แมน ส่วนวิกเตอร์ โกลเวอร์ เป็นนักบิน และคริสตินากับเจเรมีเป็นผู้เชี่ยวชาญภารกิจ
วาเนสซา ไวช์ ผู้อำนวยการศูนย์อวกาศจอห์นสันของนาซา กล่าวว่า “เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 50 ปีที่บุคคลเหล่านี้ หรือลูกเรืออาร์เทมิส 2 จะเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่บินไปยังบริเวณใกล้เคียงของดวงจันทร์ ในบรรดาลูกเรือยังมีนักบินอวกาศหญิงคนแรก คนผิวสีคนแรก และชาวแคนาดาคนแรกในภารกิจบนดวงจันทร์ และนักบินอวกาศทั้งสี่จะเป็นตัวแทนของมนุษยชาติที่ดีที่สุดในขณะที่พวกเขาสำรวจกดวงจันทร์เพื่อประโยชน์ของทุกคน”
เธอเสริมว่า “ภารกิจนี้เป็นการปูทางสำหรับการขยายตัวของการสำรวจห้วงอวกาศของมนุษย์ และนำเสนอโอกาสใหม่สำหรับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ความร่วมมือทางการค้า อุตสาหกรรม และวิชาการ”
สำหรับประวัติและผลงานของนักบินอวกาศแต่ละคนที่ได้รับเลือกก็เรียกว่าไม่ใช่น้อย ๆ เช่นกัน
คนแรกคือไวส์แมน ก่อนหน้านี้ทำหน้าที่เป็นวิศวกรการบินบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ภารกิจสำรวจครั้งที่ 41 (Expedition 41) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน 2014 และเป็นหัวหน้าสำนักงานนักบินอวกาศตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 จนถึงพฤศจิกายน 2022 และในภารกิจนี้ นับเป็นการเดินทางออกสู่อวกาศครั้งที่ 2 ของเขา
ในส่วนของโกลเวอร์ ก่อนหน้านี้เป็นนักบินในภารกิจ SpaceX Crew-1 ของนาซา และเป็นวิศวกรการบินบนสถานีอวกาศ ISS ภารกิจสำรวจครั้งที่ 64 (Expedition 64) นี่จะเป็นการเดินทางสู่อวกาศครั้งที่ 2 ของเขาเช่นกัน
ขณะที่นักบินอวกาศหญิงอย่างคริสตินาเอง ก่อนหน้านี้เคยเป็นวิศวกรการบินบนสถานีอวกาศ ISS ภารกิจสำรวจครั้งที่ 59, 60 และ 61 เธอยังสร้างสถิติการเป็นนักบินอวกาศหญิงที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในอวกาศยาวนานที่สุด โดยใช้เวลาทั้งหมด 328 วันในอวกาศ
คนสุดท้ายคือฮานเซน ซึ่งเป็นตัวแทนของแคนาดา ที่นับเป็นการเดินทางสู่อวกาศครั้งแรกของเขา ก่อนหน้านี้เขาเป็นพันเอกในกองทัพแคนาดาและอดีตนักบินรบ สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์อวกาศจากราชวิทยาลัยการทหารแคนาดา (Royal Military College of Canada) ในเมืองคิงส์ตัน รัฐออนแทรีโอ และปริญญาโทสาขาฟิสิกส์จากสถาบันเดียวกัน
นอร์แมน ไนต์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการการบิน จากศูนย์อวกาศจอห์นสัน กล่าวว่า “ผมอดภูมิใจไม่ได้ที่ผู้กล้าทั้งสี่คนนี้จะเริ่มต้นการเดินทางสู่ดวงจันทร์และอวกาศที่ไกลออกไป”
เขาเสริมว่า “พวกเขาเป็นตัวแทนของสิ่งที่นักบินอวกาศควรจะเป็น การผสมผสานระหว่างบุคคลที่มีความสามารถสูงและประสบความสำเร็จด้วยทักษะและความมุ่งมั่นที่จะทำงานเป็นทีม ภารกิจอาร์เทมิส 2 จะเป็นสิ่งที่ท้าทาย และเราจะทดสอบขีดจำกัดของเราในขณะที่เราเตรียมส่งนักบินอวกาศในอนาคตไปบนดวงจันทร์ ด้วยการควบคุมของรีด วิกเตอร์ คริสตินา และเจเรมี ผมไม่สงสัยเลยว่าเราพร้อมที่จะเผชิญกับทุกความท้าทายที่เข้ามาหาเรา”
เรียบเรียงจาก NASA
ภาพจาก NASA