ไม่มีสิ่งใดอยู่ยั้งยืนยง คือสัจธรรมหนึ่งของเอกภพ แต่มนุษย์ก็ยังคงคาดหวังที่จะส่งต่อความรู้ ประวัติศาสตร์ รวมถึงงานศิลปะ ไปถึงอนุชนรุ่นหลัง กระนั้น ด้วยสภาวะของโลกในปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ภัยคุกคามต่าง ๆ ทั้งที่เกิดตามธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ด้วยกัน ก็ทำให้หลายคนกังวลว่า ทุกสิ่งที่เราสร้างสรรค์กันขึ้นมาจนถึงวันนี้ อาจสูญสลายไปอย่างไร้คุณค่า
นั่นทำให้ศิลปินกลุ่มหนึ่งผุดไอเดียขึ้นมาว่า จะดีหรือไม่ หากรวบรวมศิลปะจากทั่วโลก แล้วส่งขึ้นไปเก็บไว้ “บนดวงจันทร์” เป็นเหมือนฐานข้อมูลเก็บบันทึกความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ไม่ให้หายไป
โครงการส่งงานศิลปะไปเก็บรักษาไว้บนดวงจันทร์นี้ มีชื่อว่า “ลูนาร์ โคเด็กซ์” (Lunar Codex) ได้รวบรวมผลงานจากศิลปิน นักเขียน ผู้สร้างภาพยนตร์ และนักดนตรี รวมกว่า 30,000 คนจาก 157 ประเทศ มีทั้งรูปภาพ วัตถุ นิตยสาร หนังสือ พอดแคสต์ ภาพยนตร์ และเพลง
นักวิทยาศาสตร์รู้แล้ว! “น้ำบนดวงจันทร์” ซุกซ่อนอยู่ที่ไหน
นาซาตั้งเป้า ภายในปี 2030 จะมีนักบินอวกาศ “อาศัย” อยู่บนดวงจันทร์
“แบ็กอัป” สิ่งมีชีวิตไว้บนดวงจันทร์ เผื่อวันที่โลกล่มสลาย
ตัวอย่างผลงานก็เช่น ภาพเหมือนที่ประกอบขึ้นจากตัวต่อเลโก้ ภาพแกะสลักไม้ที่พิมพ์ด้วยดินยูเครน และคอลเลกชันบทกวีจากทุกทวีป
ทั้งนี้ ผลงานเหล่านี้จะไม่ได้ส่งตัวจริงขึ้นไป แต่กำลังถูกดัดแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัล และจัดเก็บไว้ในการ์ดหน่วยความจำหรืออาจจะเก็บไว้ใน “นาโนฟิช”
นาโนฟิชเป็นเหมือนเงอร์ชันอัปเกรดของเทคโนโลยีฟิล์มเก็บข้อมูล โดยมันจะทำจากนิกเกิล ซึ่งไม่ออกซิไดซ์ (ไม่เกิดสนิม) ไม่มีครึ่งชีวิต และสามารถทนต่อรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า ความร้อนสูง ความเย็นจัด การสัมผัสกับธาตุต่าง ๆ จุลินทรีย์ และสารเคมีหลายประเภทบนโลก ได้เป็นเวลาหลายพันปีหรือนานกว่านั้น สามารถจัดเก็บข้อความแอนะล็อกได้ถึง 2,000 หน้าต่อตารางเซนติเมตร เท่ากับว่า นาโนฟิช 1 หน้า จะรองรับรูปภาพและข้อความแบบแอนะล็อกได้มากถึง 1.2 ล้านหน้า!
ด้วยเทคโนโลยีนี้ คาดว่าจะสามารถเก็บรักษาข้อมูลและผลงานศิลปะที่ทรงคุณค่าจำนวนมากบนโลกไว้บนดวงจันทร์ได้
ซามูเอล เพรัลตา นักฟิสิกส์และนักสะสมงานศิลปะจากแคนาดา ซึ่งเป็นผู้นำในความพยายามนี้ บอกว่า การเก็บรักษาเอกสารและงานศิลปะสำคัญไว้นอกโลก เป็นเหมือนกับ “ข้อความในขวดแก้ว” ถึงคนรุ่นหลัง เพื่อย้ำเตือนพวกเขาว่าไม่วาจะเป็น สงคราม โรคระบาด และวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ไม่สามารถหยุดผู้คนในการสร้างสรรค์ผลงานและสิ่งสวยงามต่าง ๆ ได้
ผลงานในโครงการลูนาร์โคเด็กซ์ จะถูกแบ่งออกเป็น 4 แคปซูล โดยแคปซูลแรกมีชื่อว่า “คอลเลกชันโอไรออน” ก่อนหน้านี้ได้ถูกส่งไปบินรอบดวงจันทร์กับยานโอไรออน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจอาร์เทมิสของนาซา
ส่วนแคปซูลที่เหลือมีชื่อว่า “โนวาคอลเลกชัน” “เพเรกรินคอลเลกชัน” และ “โพลาริสคอลเลกชัน” จะทยอยเดินทางไปดวงจันทร์ในปี 2023-2024
ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะมียานอวกาศนำแคปซูลของโครงการลูนาร์โคเด็กซ์ไปยังจุดหมายปลายทางต่าง ๆ บนดวงจันทร์ ไม่ว่าจะเป็นในหลุมอุกกาบาตที่ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ และที่ราบบนดวงจันทร์ที่เรียกว่า Sinus Viscositatis
คริส ไรลีย์ ผู้ผลิตสารคดี “In the Shadow of the Moon” ที่ชนะรางวัลซันแดนซ์ ระบุว่า ในอดีต ลูกเรือของยานอพอลโล 11 เคยนำแผ่นซิลิกอนที่สลักข้อความจากผู้นำระดับโลกไปเก็บไว้บนดวงจันทร์
“เกือบ 60 ปีต่อมา หลายประเทศและบริษัทต่าง ๆ กำลังมุ่งหน้าไปยังดวงจันทร์ โดยนำเอา ‘สิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์’ ขึ้นไปด้วย ... โครงการลูนาร์โคเด็กซ์เป็นตัวอย่างที่ดีของสิ่งนี้ โดยนำงานของพวกเรา 30,000 คนไปอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์”
เพรัลตาเขียนบนเว็บไซต์ของโครงการว่า “ความหวังของเราคือ ให้นักเดินทางในอนาคตที่พบแคปซูลเหล่านี้ได้เห็นความรุ่มรวยของโลกเราในวันนี้ … เราพูดถึงแนวคิดที่ว่าแม้จะมีสงคราม โรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มนุษยชาติก็ยังมีช่วงเวลาแห่งความฝัน ช่วงเวลาของการสร้างสรรค์งานศิลปะ”
หากใครสนใจว่ามีงานศิลปะชิ้นใดบ้างที่จะถูกส่งขึ้นไปบนดวงจันทร์ สามารถชมตัวอย่างเบื้องต้นได้ที่ https://www.lunarcodex.com/
เรียบเรียงจาก The Guardian
ภาพจาก AFP