"อินเดีย" เผชิญคลื่นความร้อนแผดเผาจนเสียชีวิต

โดย PPTV Online

เผยแพร่

เวลานี้หลายประเทศในเอเชียกำลังเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด โดยเฉพาะอินเดียกำลังต่อสู้กับอุณหภูมิที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ หลังคลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศ

คลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมอินเดีย ส่งผลทำให้หลายภูมิภาคเผชิญกับอุณหภูมิสูง 45.6 องศาเซลเซียล ขณะเดียวกันคลื่นความร้อนนี้ได้ขยายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่นเมืองมุมไบ ในรัฐมหาราษฏระ เมืองตากอากาศในรัฐทมิฬนาฑู และพื้นที่บางส่วนของรัฐเกรละ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อวานนี้ (29 เม.ย.) สื่อท้องถิ่นของอินเดียรายงานว่า ในรัฐเกรละ อุณหภูมิในพื้นที่ที่พุ่งสูงขึ้นถึง 41.9 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าปกติเกือบ 5.5 องศาเซลเซียส 

คอนเทนต์แนะนำ
Samsung เปิดตัว Galaxy S24 รุ่นความจุ "128GB" ในอินเดีย
ผู้ประกาศข่าวอินเดียหมดสติกลางรายการสด หลังอากาศร้อนจัด

 

 

สภาวะโลกร้อน รายการรอบโลกเดลี่
"อินเดีย" เผชิญคลื่นความร้อนแผดเผาจนเสียชีวิต

ส่งผลให้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่นั่นมีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นหญิงวัย 90 ปี และชายวัย 53 ปี ซึ่งคาดว่าทั้งสองเสียชีวิตจากโรคลมแดด  เจ้าหน้าที่จัดการภัยพิบัติของรัฐเกรละระบุว่า สภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลทำให้มีผู้คนล้มป่วยประมาณ 450 คน และมีรายงานจากสื่อว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่ได้มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ

ส่วนที่รัฐทมิฬนาฑู ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับรัฐเกรละ ก็เผชิญกับสภาพอากาศร้อนเช่นเดียวกัน โดยที่เมืองเจนไน นักการเมืองท้องถิ่นได้แจกผลไม้สด มะพร้าว และเครื่องดื่มเย็นๆให้กับผู้คนเพื่อดับร้อน 

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของอินเดียคาดการณ์ว่า บริเวณพื้นที่ทางตะวันออก และตอนใต้ของอินเดียจะเผชิญคลื่นความร้อนรุนแรงต่อไปอีก 5 วัน โดยเฉพาะรัฐเกรละ คาดการณ์ว่าอุณหภูมิทั่วพื้นที่จะสูงกว่าปกติ ส่งผลให้ทางการออกคำเตือน โดยขอให้ประชาชนระมัดระวังสภาพอากาศร้อน เช่นให้อยู่ในบ้าน หรือพื้นที่ในร่ม ฝากฝั่งของเมียนมา เมื่อวานนี้มีรายงานว่า ที่นั่นเผชิญกับเดือนเม.ย.ที่ร้อนที่สุด นับตั้งแต่เริ่มบันทึกสถิติเมื่อ 56 ปีที่แล้ว โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาสามารถตรวจวัดอุณหภูมิได้สูงสุดอยู่ที่ 48.2 องศาเซลเซียส ที่เมืองเซาะ (Chauk) ภูมิภาคมะเกว ทางตอนกลางของเมียนมา และในวันเดียวกัน ที่ย่างกุ้งมีอุณหภูมิสูง 40 องศาเซลเซียส ส่วนที่เมืองมัณฑะเลย์เผชิญอุณหภูมิสูงถึง
 44 องศาเซลเซียส 

ส่วนของประเทศไทยวันนี้ (30 เม.ย.) กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ทั่วประเทศยังมีอากาศร้อนจัด และมีอุณหภูมิสูงสุด 44 องศาเซลเซียส โดยกรุงเทพและปริมณฑลมีอุณหภูมิสูงสุด 37-41 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอุณหภูมิสูงสุด 40-44 องศาเซลเซียส 

สภาพอากาศที่ร้อนจัดในประเทศไทย ส่งผลให้ผู้คนได้รับผลกระทบจำนวนมาก หลายคนต้องหาวิธีคลายร้อนโดยการฉีดน้ำที่ผ้าใบกันแดด  ส่วนผู้สูงอายุอย่างนักร้อง ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตารายนี้ก็รู้สึกไม่สบายตัว

ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย มีรายงานพบผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดแล้ว 30 คน ขณะที่ทางการประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง 

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเศน์ทางทะเลซึ่งไปสำรวจสภาพหญ้สทะเลที่เกาะกระดาดได้เผยแพร่ภาพและข้อทูลที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่ง โดยระบุว่า สภาะโลกร้อนทำให้ทะเลแปรปรวนถึงขีดสุด แหล่งหญ้าทะเลกว่า 810 ไร่ที่เกาะกระดาด ซึ่งเคยใหญ่สุดในแนวปะการังภาคตะวันออก หายไปจนหมดใน 5 ปี โดยมีพร้อมวัดอุณหภูมิน้ำทะเลในขณะที่ทำการสำรวจและพบว่า สูงแตะ 40 องศาเซลเซียส แหล่งหญ้าทะเลดังกล่าวเป็นแหล่งที่ใหญ่สุดในแนวปะการังภาคตะวันออก ที่นี่เป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์ทะเลที่สำคัญ เป็นที่อยู่ของปลาเกือบ 30 ชนิด  แหล่งหญ้าทะเลดังกล่างยังช่วยดูดซับหรือกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการทำให้เกิดโลกร้อนด้วย การหายไปของแหล่งหญ้าทะเลนี้จึงจะเกิดปัญหาใหญ่มาก 

นอกจากประเทศไทย เมียนมา และอินเดีย ที่เผชิญอากาศร้อนจัดแล้ว อีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ อย่างฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศ ก็เจอคลื่นความร้อนรุนแรงจนต้องสั่งงดการเรียนการสอนในห้องเรียน เช่นเดียวกับจีน ที่เผชิญพายุทอร์นาโดรุนแรงพัดถล่มจนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง คำถามสำคัญคือ ทำไมเอเชีย จึงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด 

รายงานล่าสุดจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า เอเชียได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด เพราะเกิดภัยพิบัติที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจำนวนมาก โดยปี 2023 ในเอเชียมีรายงานเกิดภัยพิบัติทั้งหมด 79 ครั้ง โดยในจำนวนนี้มากกว่าร้อยละ 80 เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติน้ำท่วมและพายุรุนแรง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย และอีก 9 ล้านคนได้รับผลกระทบโดยตรง และแม้ว่าความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้คนจะเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศร้อนจัด แต่ไม่ได้มีการรายงานเกี่ยวกับจำนวนผู้เสียชีวิต 

นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้วหลายประเทศในเอเชียยังเผชิญกับปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว ตั้งแต่ภัยแล้ง คลื่นความร้อน ไปจนถึงน้ำท่วม และพายุโดยอุณหภูมิใกล้ผิวโลกเฉลี่ยของเอเชียสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่อันดับ 2 มากกว่าค่าเฉลี่ยในปี 1991-2020  อยู่ 0.91 องศาเซลเซียส และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 1961-1990 อยู่ 1.87 องศาเซลเซียส นี่แสดงให้เห็นว่าเอเชียร้อนขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และนับตั้งแต่ปี 1961-1990 แนวโน้มภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า 

เช่นเดียวกับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้แต่มหาสมุทรอาร์กติกก็ประสบปัญหาคลื่นความร้อนในทะเล ขณะที่หลายพื้นที่ของภูมิภาคต่างๆ ซึ่งรวมถึงทะเลอาหรับ ทะเลคารา ทางตอนใต้ และทะเลลัปเตฟ ทางตะวันออกเฉียงใต้ พื้นผิวทะเลกำลังอุ่นขึ้นเร็วกว่าทั่วโลกถึงสามเท่า 

ส่วนแรงหนุนจากการขยายตัวตามความร้อนและการละลายของธารน้ำแข็ง ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าช่วงปี 1993-2023 เอเชีย มีอัตราดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโล ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลภัยพิบัติจากสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากน้ำล่าสุด ทำให้เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติมากที่สุดในโลก
 
นอกเหนือจากเอเชียที่เผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้วแล้ว ที่แอฟริกา อย่างเคนยาก็เผชิญกับภัยพิบัติน้ำท่วม และฝนที่ตกหนักระลอกล่าสุดได้ซ้ำเติมสถานการณ์ในประเทศให้เลวร้ายลงอีก  

ภาพของซากรถบรรทุกที่ถูกน้ำพัดเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยรถบรรทุกคันนี้ได้บรรทุกชาวบ้านกลุ่มใหญ่เพื่ออพยพหนีน้ำท่วมจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเคนยาไปยังสถานที่ปลอดภัย แต่ระหว่างเดินทางรถบรรทุกได้ถูกกระแสน้ำพัดกะทันหันและหายไปในพริบตา

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุครั้งนี้ได้ 11 คน และพบร่างผู้เสียชีวิต 7 ราย ในเมืองสุลต่าน ฮามุด ทางตะวันตกของเคนยา แต่ยังไม่ได้สรุปจำนวนผู้เสียชีวิต 

ส่วนเมืองไม มาฮิว ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของเคนยา และอยู่ห่างจากกรุงไนโรบี เมืองหลวงเคนยาประมาณ 60 กิโลเมตร เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (29 เม.ย.) มีรายงานว่า ที่นั่นเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม หนึ่งในผู้รอดชีวิตเล่าว่า ตอนเกิดเหตุเธอได้เปิดประตูห้องอาหาร จากนั้นน้ำก็ทะลักเข้าไปในบ้านอย่างรวดเร็ว 

อย่างไรก็ตาม ไม่กี่ชั่วโมงหลังปริมาณฝนลดลงและระดับน้ำท่วมเริ่มลดลง  ชาวบ้านในพื้นที่ได้เข้าไปสำรวจและเก็บข้าวของของตัวเองออกจากดินโคลน และค้นหาบุคคลอันเป็นที่รักที่หายไป ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บก็พักฟื้นที่โรงพยาบาลท้องถิ่น 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 110 ราย เบื้องต้นตำรวจระบุว่า

สาเหตุน้ำท่วมมาจากเขื่อนแตก  แต่ในเวลาต่อมากระทรวงน้ำของเคนยาระบุว่า สาเหตุมาจากอุโมงค์แม่น้ำใต้เขื่อนกั้นทางรถไฟมีเศษซากปิดกั้น 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่ากังวลอีกหนึ่งประเด็น คือ เขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำโฆษกรัฐบาลเคนยาระบุว่า เขื่อนประเภทดังกล่าวได้ดำเนินเครื่องเต็มกำลังการผลิตแล้ว และนี่อาจทำให้เกิดน้ำล้นบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำขนาดใหญ่ 

ทั้งนี้ ภัยพิบัติน้ำท่วมล่าสุดที่เกิดขึ้นได้ซ้ำเติมสถานการณ์น้ำท่วมที่ย่ำแย่อยู่แล้วในเคนยา และเกิดขึ้นท่ามกลางการปฏิบัติภารกิจของสภากาชาดในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทั่วกรุงไนโรบี เมืองหลวงโดยคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สภากาชาดเคนยาได้เข้าช่วยเหลือผู้คนที่ติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมในเมืองหลวงได้มากกว่า 20 คน และนับตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.ที่เริ่มปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ได้ช่วยเหลือผู้คนทั่วประเทศแล้ว 536 คน 

เคนยาเผชิญกับน้ำท่วมตั้งแต่เดือนที่แล้ว ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 140 ราย และประชาชนอีกกว่า 185,000 คน ต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย ส่วนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่นถนนหนทาง สะพาน ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ทางลอดที่สนามบินนานาชาติโจโม เคนยัตตาก็ถูกน้ำท่วมเช่นเดียวกัน แต่เที่ยวบินต่างๆยังคงดำเนินต่อไปตามปกติ 

นอกจากเคนยาแล้ว ประเทศแอฟริกาตะวันออกอื่นๆ อย่างแทนซาเนีย และสาธารณรัฐบุรุนดีก็เผชิญกับฝนตกหนักเช่นเดียวกัน โดยตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาแทนซาเนียพบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 155 คน 

ส่วนในสาธารณรัฐบุรุนดีมีผู้พลัดถิ่นเกือบ 100,000 คน แต่ยังไม่ทราบตัวเลขผู้เสียชีวิตแน่ชัด  

อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ในเมืองหลวงของสาธารณรัฐบุรุนดี หลังจากเผชิญกับฝนตกหนักเพียงวันเดียว มีผู้เสียชีวิต 68 คน และบ้านเรือนประชาชนเสียหาย 3,500 หลัง

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศจากบีบีซีระบุว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้แอฟริกาตะวันออกเผชิญฝนตกหนักที่สุด คือปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) หรือการเคลื่อนไหวไปมาสลับกันสองด้านฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก ของกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรอินเดีย 

โดยปรากฏการณ์นี้มีช่วงที่เรียกว่า ขั้วบวก ขั้วลบ และเป็นกลาง ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลกระทบกับภูมิอากาศของออสเตรเลีย อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ตั้งอยู่โดยรอบมหาสมุทรอินเดีย เช่น เคนยา และแทนซาเนีย  

รวม “สถานที่ไหว้ดาวพฤหัส” เสริมโชคลาภ บารมี รับดาวพฤหัสย้าย 2567

พยากรณ์อากาศล่วงหน้า เริ่มมีสัญญาณฝน เตรียมชุ่มฉ่ำ 3-9 พ.ค.

วิเคราะห์บอล แชมเปี้ยนส์ ลีก! บาเยิร์น พบ เรอัล มาดริด 30 เม.ย.67

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ