การตามหาดาวเคราะห์ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต (Habitable Planet) ยังคงเป็นภารกิจที่นักดาราศาสตร์หลายกลุ่มให้ความสำคัญ และล่าสุดมีรายงานการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงหนึ่งที่น่าจะมี “มหาสมุทร” และเป็นแคนดิเดตโลกใบที่ 2 ที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เคยพบ
ดาวเคราะห์ดวงดังกล่าวมีชื่อว่า “LHS-1140b” ถูกค้นพบเมื่อปี 2017 อยู่ห่างจากโลก 50 ปีแสง มีขนาดใหญ่กว่าโลกของเราประมาณ 1.73 เท่า และมีมวลมากกว่าโลกประมาณ 5.6 เท่า
ในตอนแรกที่ถูกค้นพบ นักวิทยาศาสตร์คิดว่ามันมีลักษณะคล้าย “มินิเนปจูน” ที่มีองค์ประกอบที่หนาแน่นของน้ำ มีเทน และแอมโมเนีย แต่การศึกษาล่าสุดที่ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ (JWST) พบว่า มันมีอะไรมากกว่านั้น
การศึกษาใหม่ระบุว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้มีน้ำแข็งและเปียกมากกว่าที่คิด โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของดาวเป็นน้ำแข็ง แต่จะมีด้านหนึ่งที่เป็นมหาสมุทรกว้าง 4,000 กิโลเมตร จนดูไปแล้วจะคล้ายกับดวงตาของคน คือ มหาสมุทรจะเป็นเหมือนกับม่านตา ส่วนน้ำแข็งที่ล้อมรอบเหมือนกับตาขาว
ชาร์ลส์ คาดูซ์ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “ในบรรดาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเขตอบอุ่นทั้งหมดที่รู้จักในปัจจุบัน LHS-1140b อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของเราที่อาจมีน้ำในสถานะของเหลวอยู่บนพื้นผิว ... นี่จะเป็นก้าวสำคัญในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อาจดำรงชีวิตได้”
LHS-1140b ยังมีคุณสมบัติพิเศษคือการหมุนรอบตัวเองของมันถูกล็อกไว้กับดาวฤกษ์ ซึ่งหมายความว่า มันหมุนรอบตัวเองด้วยอัตราเดียวกับที่มันโคจรรอบดาวฤกษ์ ทำให้ด้านมหาสมุทรหันไปทางดาวฤกษ์เสมอ จนเกิดลักษณะคล้ายดวงตา
ดาวลูกตาดวงนี้ใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์เท่ากับ 25 วันบนโลกเท่านั้น เท่ากับว่า 1 ปีบนดาวนี้มีเพียง 25 วัน
สำหรับดาวฤกษ์ที่ LHS-1140b โคจรรอบนั้น เป็นดาวแคระแดงที่เย็นกว่าดวงอาทิตย์ของเรา ทำให้มหาสมุทรยังคงอยู่ได้ โดยหากดาวฤกษ์นี้ร้อนเท่ากับดวงอาทิตย์จะทำให้มหาสมุทรเดือดพล่านและสิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรังชีวิตอยู่ได้โดยสิ้นเชิง
ในการศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบ นักวิจัยได้ใช้กล้องอินฟราเรดใกล้ (NIRCam) และสเปกโตรกราฟของเว็บบ์ ซึ่งช่วยให้สามารถประเมินรายละเอียดบนดาวลูกตาได้ และนักดาราศาสตร์พบสัญญาณของไนโตรเจน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในชั้นบรรยากาศของโลก
การคำนวณต่อมายังเผยให้เห็นว่า ดาวเคราะห์ LHS-1140b ไม่หนาแน่นพอที่จะเป็นดาวเคราะห์หิน (Rocky Planet)
เมื่อนำมารวมกัน ผลลัพธ์เหล่านี้ดูเหมือนจะบ่งชี้ว่า ดาวลูกตาไม่ใช่ดาวเคราะห์หินหรือมินิเนปจูน แต่เป็นดาวที่ห่อหุ้มอยู่ในทะเลน้ำแข็ง
ในขณะที่ดาวเคราะห์ส่วนใหญ่สามารถแข็งตัวเป็นน้ำแข็งได้ นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ด้านที่เป็นเหมือนม่านตาของดาวลูกตาอาจมีอุณหภูมิอยู่ที่ 20 องศาเซลเซียสบริเวณพื้นผิว ซึ่งอุ่นพอที่สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลจะสามารถอยู่อาศัยได้
เรอเน ดัวยอง นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล หนึ่งในทีมวิขัย กล่าวว่า “การตรวจจับชั้นบรรยากาศบนดาวเคราะห์นี้กำลังผลักดันขีดความสามารถของเว็บบ์ถึงขีดจำกัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไปได้ เราแค่ต้องการเวลามากกว่านี้ในการสังเกต”
เธอเสริมว่า “หลักฐานเบื้องต้นของชั้นบรรยากาศที่อุดมด้วยไนโตรเจนจำเป็นต้องได้รับการยืนยันด้วยข้อมูลเพิ่มเติม เราต้องใช้เวลาสังเกตการณ์อย่างน้อย 1 ปีเพื่อยืนยันว่า LHS 1140b มีชั้นบรรยากาศจริง และน่าจะใช้เวลาอีก 2-3 ปีในการตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์”
อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม ที่นี่
เรียบเรียงจาก Live Science
พบสารพิษในกระติกน้ำ ก่อนสังเวย 6 ศพ ที่กลุ่มผู้ตายนำมาเอง
อุตุฯ เตือนฉบับ 10 ประเทศไทยฝนตกหนักถึงหนักมากจนถึงวันที่ 19 ก.ค.