วันที่ 7 มี.ค. กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยกับสำนักข่าวเอพี (AP) ว่า ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ได้ยื่นข้อเสนอต่อทางการไทยหลายต่อหลายครั้ง เพื่อขอจัดสรรที่อยู่ใหม่ให้กับชายชาวอุยกูร์มากกว่า 30 คนให้เดินทางไปประเทศที่สามและไม่ถูกส่งไปจีน
แต่ท้ายที่สุดชาวอุยกูร์ 40 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวโดยไทยตั้งแต่ปี 2014 หลังจากหลบหนีการปราบปรามของจีนต่อชนกลุ่มน้อยในเขตปกครองตนเองซินเจียง ได้ถูกนำตัวออกจากศูนย์กักกันในกรุงเทพฯ แล้วส่งตัวให้ทางการจีนเมื่อ 27 ก.พ.
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า “เราทำงานร่วมกับไทยมาหลายปีเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้ รวมถึงการเสนอให้ชาวอุยกูร์ไปอยู่ในประเทศอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องและซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมถึงในช่วงเวลาหนึ่งเคยเสนอให้อยู่ในสหรัฐฯ ด้วย”
ความเห็นนี้ขัดแย้งกับที่ รัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไทยที่กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า ไทยไม่ได้รับข้อเสนอที่จริงจังใด ๆ ในการรับตัวชาวอุยกูร์ไป
“หากประเทศที่สามมีเจตนาที่จะรับพวกเขาเข้าประเทศจริง ๆ ก็ควรเจรจากับจีนให้ไทยส่งพวกเขาไปยังประเทศที่สามนั้นด้วย” รัศม์กล่าว
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตำหนิการตัดสินใจของไทยว่าเป็นการละเมิดพันธกรณีของประเทศต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติ และกล่าวว่าสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากจีนเพื่อเสนอสถานะผู้ลี้ภัยแก่ชาวอุยกูร์
“ในพันธกรณีที่จะต้องให้แน่ใจว่าบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการถูกข่มเหงหรือทรมานจะไม่ถูกผลักดันกลับนั้น จะไม่มีการเจรจากับประเทศผู้ข่มเหง” กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว
กระทรวงฯ ยังระบุด้วยว่า พันธมิตรจำนวนหนึ่งได้มีส่วนร่วมในแผนการตั้งถิ่นฐานใหม่สำหรับชาวอุยกูร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม
รัศม์กล่าวว่า ไทยตกลงที่จะส่งชาวอุยกูร์กลับจีนบางส่วนเพราะกลัวว่าปักกิ่งจะตอบโต้หากพวกเขาได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยในที่อื่น “ผลกระทบที่ไทยจะเผชิญจากการส่งพวกเขาไปยังประเทศที่สามนั้นมหาศาล”
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และกลุ่มสิทธิมนุษยชนอ้างว่า จีนได้คุมขังผู้คนมากกว่า 1 ล้านคน รวมทั้งชาวอุยกูร์และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ในเครือข่ายค่ายล้างสมองขนาดใหญ่ และถูกบังคับใช้แรงงาน ถูกทรมาน ถูกทำหมัน และล้างสมองทางการเมือง
จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด โดยระบุว่า นโยบายในซินเจียงมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคและปราบปรามลัทธิหัวรุนแรง นอกจากนี้ จีนยังปฏิเสธคำวิจารณ์เกี่ยวกับสิ่งที่ถือว่าเป็นกิจการภายในของตน
เรียบเรียงจาก Associated Press