เปิดสูตรหลุดพ้นจากวงจร "ติดโซเชียล"

โดย PPTV Online

เผยแพร่

คุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่ถ้าไม่ได้เล่นโซเชียลมีเดีย ....

1.โรคกลัวไม่มีมือถือใช้ หรือ “โนโมโฟเบีย มาจากคำว่า No Mobile Phone Phobia ซึ่งมีอาการหงุดหงิด กระวนกระวายใจ เมื่อหามือถือไม่เจอ หรือไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต แบตเตอรี่หมด ไปจนถึงต้องเล่นมือถือก่อนนอนและหยิบมือถือเป็นสิ่งแรกในตอนเช้า หรือแม้กระทั่งตอนเข้าห้องน้ำ รับประทานอาหาร ไปจนถึงขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย

2.โรคทนรอไม่ได้ หรือ “Hurry Sickness Syndrome” เพราะการเล่นโซเชียลมีเดีย สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้กลายเป็นคนใจร้อน ขาดความอดทน ไม่ยอมทนแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ดาวน์โหลดช้าไม่ทันใจ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น ปวดข้อมือ นิ้วล็อค ปวดเมื่อยต้นคอ เนื่องจากนั่งก้มมองสมาร์ทโฟนนานเกินไป เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้หรือเริ่มมี แสดงว่าคุณกำลังเป็น โรคติดโซเชียลมีเดีย จนเริ่มส่งผลต่อชีวิตประจำวันและร่างกายของคุณ

สาธารณสุข เตือนคนติดสมาร์ทโฟน ระวังเป็น “โรคโนโมโฟเบีย”

“คำหยาบ” เกลื่อนโซเชียลฯ ดึงกระแสเรียก “ยอดไลค์”

ดังนั้น ทางออกที่ดีสุดคือ เริ่มบำบัดด้วย Social Media Detox” เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์มาก เนื่องจากข้อมูลของ We Are Social และ Hootsuite เผยผลสำรวจ “Global Digital 2019” ถึงการใช้งานดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต ประจำปี 2019 พบว่า กลุ่มผู้ใช้ Social Network ในเมืองไทย กลุ่มใหญ่คือ อายุ 18 – 24 ปี และ 25 – 34 ปี แอพพลิเคชั่น 3 อันดับแรก คือ เฟซบุ๊ก, ยูทูป, ไลน์ ซึ่งคนไทย 51 ล้านคนใช้    โซเชียลมีเดีย มากถึง 49 ล้านคน ใช้สื่อสังคมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือโดยเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 11 นาที ที่สำคัญคนไทยมี Social Network Account 10.5 บัญชีต่อคน สูงติด 1 ใน 5 ของโลก

แม่มือใหม่โพสต์ภาพลูกบนเฟซบุ๊กบ่อยเสี่ยงทำคุณแม่รายอื่นซึมเศร้า

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำความรู้จักกับ “Social Media Detox” ไว้บ้าง

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งใช้ชื่อว่า @pureswann รีวิววิธีการ “Social Media Detox” ในแบบของเธอ เช่น ค่อยๆ ลบแอพพลิเคชั่นออกวันละ 1 แอพ เริ่มจากเฟซบุ๊ก เลิกอัพสเตตัส เรียกยอดไลค์ ตัดพ้อชีวิตตัวเอง ตามด้วยลบ    อินสตาแกรม เพื่อหลีกเลี่ยงการเห็นภาพชีวิตคนอื่นและนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง ลบทวิตเตอร์ เพื่อหยุดการเขียนข้อความบ่น หรือ ระบายความหงุดหงิด ซึ่งเธอบอกว่าในช่วงสัปดาห์แรกยากมากสำหรับเธอ แต่เมื่อผ่านไปจากการที่ไม่ต้องติดตามชีวิตคนอื่น โฟกัสแต่สิ่งรอบตัวที่เกิดขึ้นจริงๆ ทำให้เธอ “ไม่เครียดอีกเลย” ซึ่งถือว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เราหลุดพ้นจากวงจรโซเชียลมีเดียได้

วิจัยใหม่ตอกย้ำ นั่งส่องเฟซบุ๊กอย่างเดียวไร้ปฏิสัมพันธ์ เสี่ยงซึมเศร้า

นอกจากทดลองลบแอพพลิเคชั่นออกวันละ 1 แอพ แล้ว เพื่อไม่เป็นการหักดิบเกินไปก็อาจจะเริ่มต้นจากง่ายๆ เช่น 

1.เลิกติดตามแอคเคาท์ที่ไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับชีวิตคุณ

2.ไม่จับสมาร์ทโฟนระหว่างรับประทานอาหารทุกมื้อ

3.ไม่วางสมาร์ทโฟนไว้ใกล้เตียงนอนหรือเล่นสมาร์ทโฟนก่อนนอน

4.ปิดการแจ้งเตือนจากแอพพลิเคชั่นต่างๆ

5.หยุดดูโซเชียลมีเดียในเวลาทำงานหรือแม้กระทั่งระหว่างเดินไปเข้าห้องน้ำ เป็นต้น

ยอดผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั่วโลกพุ่งทะลุ 3 พันล้านคน

ซึ่งหากคุณยังไม่ตระหนักถึงอาการติดโซเชียลมีเดียและปล่อยไว้นานๆ อาจส่งผลทำให้เกิดอาการ “โซเชียลมีเดียซินโดรม” เพราะหลายคนใช้โซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางหลีกหนีโลกแห่งความจริง ลดปมในชีวิตจริง ใช้ระบายความรู้สึก เศร้า เสียใจ หรือบางคนโพสต์เฉพาะเรื่องดีๆ สร้างเรื่องราวให้ดูดี เพื่อปกปิดเรื่องราวแย่ๆ ในชีวิต ทำให้คนอื่นเห็นแต่ด้านที่สมบูรณ์แบบ จนกลายเป็นการเปรียบเทียบ และเป็นต้นเหตุของโรค “Facebook Depression Syndrome” หรือ โรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก

บางคนถึงขั้น unfriend เพื่อนไปหลายคน เพียงเพราะไม่อยากรับรู้ ไม่อยากเห็นในสิ่งที่เพื่อนโพสต์ และบางคนมีพฤติกรรมรอคอยการตอบกลับของคอมเมนต์ต่างๆ ทำให้การใช้เฟซบุ๊กมากเกินไป อาจกลายเป็นการบั่นทอนความสุข

โรคหน้าแก่ก่อนวัย (Smartphone face) เพราะการก้มหน้ามากๆ ทำให้ผิวบริเวณลำคอหย่อนคล้อย เหี่ยวย่น ดังนั้น ขณะเล่นเราควรยกมือถือให้อยู่ในระดับสายตา ไม่ควรก้มหน้ามากเกินไป และควรเล่นมือถือให้น้อยลง

โรควุ้นในตาเสื่อม เพราะการเพ่งข้อความในจอสี่เหลี่ยมเล็กๆ ทำให้ดวงตาทำงานหนักขึ้น ถ้ารู้สึกว่ามองเห็นหยากไย่ ตาข่าย หรือเส้นอะไรวนไปวนมาเหมือนยุง ปัดเท่าไรก็ไม่โดนสักที แบบนี้ต้องรีบพบแพทย์ทันที

สุดท้าย แม้ว่าเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียจะช่วยทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้นในหลายๆ ด้าน แต่เราจะต้องเป็นผู้ควบคุม ไม่ใช่ให้โซเชียลมีเดียมาควบคุมชีวิตเราจนไม่เป็นตัวเองและส่งผลต่อสุขภาพทั้งจิตใจและร่างกาย


 

ที่มา : AFP / ทวิตเตอร์ @pureswann  / ผลสำรวจ “Global Digital 2019” https://createtheinbetween.com/social-media-detox/

https://www.bolde.com/how-to-detox-from-social-media-without-losing-your-mind/

 

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ