เยือนถิ่น “เมืองเก่าสงขลา”กับเส้นทางการเป็น “เมืองมรดกโลก”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เมื่อล้อเครื่องบินแตะพื้นรันเวย์ สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แดนใต้ของประเทศไทย ก็มุ่งหน้าสู่ย่านเมืองเก่า หรือที่เรียกว่า เมืองเก่าสงขลา แหล่งชุมชนพหุวัฒนธรรมเก่าแก่สวยงามและมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับร้อยปี ที่สำคัญ เมืองแห่งนี้กำลังถูกผลักดันให้เป็น “เมืองมรดกโลก”

ตามตรอกซอกซอยที่เดินผ่านล้วนเต็มไปด้วยบ้านเรือนอายุหลายร้อยปี บางหลังอาจจะถูกปรับปรุงเป็นร้านกาแฟ ร้านอาหาร จากคนรุ่นสอง รุ่นสาม แต่โดยรวมแล้วยังมีกลิ่นอายความเป็นเมืองเก่าผสมกลมกลืนกันอยู่ทุกอณู ขณะที่กำแพงผนังถูกวาดลวดลายร่วมสมัย ไม่ว่าจะเดินไปเช็กอินจุดใดก็สามารถเก็บภาพอารมณ์วินเทจแบบกล้องฟิล์มได้ตลอด ทุกซอกซอย

เล็งดัน “เมืองเก่าภูเก็ต” ขึ้นทะเบียนมรดกโลก

บาบิโลน ขึ้นทะเบียนมรดกโลก

เบื้องหลังเสน่ห์ของย่านเมืองเก่าสงขลาอันเป็นเอกลักษณ์นี้ คนในชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ต่างมีเป้าหมายใหญ่ที่จะผลักดันให้ “เมืองเก่าสงขลา” นี้เป็นเมืองมรดกโลก แต่การจะก้าวไปถึงจุดนั้นจะต้องทำอย่างไร หรือเตรียมการอย่างไรบ้าง เพื่อให้เห็นภาพชัด เราได้คุยกับ ดร.จเร สุวรรณชาต รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ถึงภารกิจสำคัญนี้ 

ยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกโลกอีก 22 แห่ง

หากพูดถึง “เมืองเก่า” ที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ว่าเป็นเมืองเก่าที่มีความสำคัญต่อความเป็นมาของชาติ  2 ใน 10 เมืองของไทยที่อยู่ภาคใต้ คือ เมืองเก่านครศรีธรรมราช กับ เมืองเก่าสงขลา โดยเมืองเก่าสงขลา ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองเก่าประเภทที่ 1 จากสำนักงานนโยบายและแผนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผ่านมติความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2553 ดังนั้น เมื่อมองลึกลงไปถึงองค์ประกอบของเมือง เมืองเก่าสงขลาประกอบด้วย กำแพงเมือง ประตูเมือง หอรบ ถือเป็นเมืองเก่าประเภทที่หนึ่ง ขณะที่ตามความเชื่อของจีน เมืองเก่าลักษณะนี้ นับเป็น เมืองชั้นเอก เนื่องจากมีการสร้างศาลหลักเมืองและในศาลหลักเมืองจะมีเจ้าหลักเมืองอีกด้วย

เนปาลตรึงใจ! 5 สถานที่สุดงดงามที่วันนี้สะเทือนใจคนทั้งโลก

ความมีเสน่ห์ของสงขลา หากพูดเป็นภาษาอังกฤษเรียกว่า Living Heritage หรือเมืองเก่าที่มีชีวิตชีวา” ซึ่งก็จริงดังที่ ดร.จเร บอก เพราะไม่ว่าจะเดินไปตามตรอก ซอกซอยไหน ก็จะพบเจอสถาปัตยกรรมโบราณของบ้านเรือน  รวมถึงอาหารการกิน ทั้งของคาวของหวาน อย่างครั้งนี้เราได้ชิมขนมทองเอก ขนมสัมปันนี ที่ยังกวนแป้งกันสดๆ ด้วยมือ โดยเป็นสูตรของคุณยายใจดี ซาลาเปาสูตรโบราณลูกใหญ่ ไส้แน่น แบบสูตรดั้งเดิมแท้ของคนจีน เป็นต้น  ตลอดจนวิถีชีวิตผู้คน ทั้ง ไทย พุทธ จีน มุสลิม และถึงแม้ว่าอาคารบ้านเรือนบางหลังจะมีการปรับเปลี่ยนโดยคนรุ่นใหม่ ทั้ง ร้านกาแฟ ร้านอาหาร แต่ก็สามารถทำให้กลมกลืนกับความเก่าแก่ได้เป็นอย่างดี ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย ส่วนของภูมิทัศน์ ผังเมือง พบว่า พิกัดเมืองเก่าสงขลาเป็นเมืองที่ติดทะเลสาบสงขลา ตอนเย็นๆ จะได้พบกับชาวประมงที่กลับจากการเดินเรือหาปลา ซึ่งทั้งหมดหลอมรวมเป็นความมีชีวิตชีวา อันมีเสน่ห์โดยรวมของเมืองเก่าสงขลาจริงๆ

ยูเนสโกขึ้นทะเบียน "ถิ่นกำเนิดแชมเปญ" เป็นมรดกโลก

แต่แน่นอนว่า เมื่อกาลเวลาพ้นผ่านและแม้ว่าจะรักษาความเก่าแก่เอาไว้ แต่บริบทบางอย่างก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไปตามวิถีแห่งกาลเวลาจากอดีตถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับเมืองเก่าสงขลาที่เดิมเป็นเมืองประมงแต่ปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นเมืองกึ่งท่องเที่ยว เจ้าของอาคารบ้านเรือนปรับเปลี่ยนอาชีพมาเปิดร้านขายอาหาร ขายกาแฟ ขายขนม แต่การเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ สิ่งที่ทำให้ที่นี่แตกต่างจากหลายๆที่คือความกลมกลืนอยู่ได้ระหว่างความเก่ากับใหม่ เช่น ยังมีร้านอาหารที่เป็นสูตรเฉพาะของสงขลา มีขนมซาลาเปาสูตรจีนแท้ลูกใหญ่ มีขนมไทยโบราณกวนด้วยมือโดยคุณยาย ไปจนถึงร้านกาแฟที่มีอินเทอร์เน็ตไวไฟพร้อมขนม เครื่องดื่มยอดนิยมในปัจจุบัน

รู้จัก “ชาวเพอรานากัน” แห่งเกาะปีนัง  (คลิป)

สงขลา Street Arts

อดีตส่งผ่านถึงปัจจุบัน แล้วในอนาคต “เมืองเก่าสงขลา” จะเป็นอย่างไร ตามความเห็นจาก ดร.จเร กลับมองว่า “เมืองเก่าสงขลามีความโชคดี...”

ความโชคดีที่ว่านี้คือ เมืองเก่าสงขลา มีคู่เทียบของการเป็นเมืองมรดกโลก อย่างเมืองปีนัง และ เมืองมะละกา ซึ่งการเป็นคู่เทียบ นำมาซึ่งการหาอัตลักษณ์ของความเป็นไทยของเมืองสงขลาและที่ชัดเจนคือ “ความหลากหลาย” โดยเฉพาะความหลากหลายด้านเชื้อชาติ

ตรงพื้นที่เล็ก ๆ เรามีหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย พุทธ จีน มุสลิม ทั้งหมดสะท้อนไปสู่เรื่องอาหารการกิน สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรม เรียกว่า กลมกลืนกลมเกลียว แตกต่างจากที่อื่นที่แบ่งเป็นย่าน เช่น ย่านไชน่าทาวน์ ปีนังมีลิตเติลอินเดีย แต่ที่นี่แค่เดินช่วงบล็อกถนนก็เจอทั้งสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบ เจอร้านค้าทั้งพุทธทั้งมุสลิมขายอยู่หลายรูปแบบมาก แสดงว่าเราอยู่กันอย่างเมืองพี่เมืองน้องเป็นระยะเวลายาวนาน อันนี้คือเสน่ห์ที่สำคัญของเมืองเก่าของเรา”

ดังนั้นการเดินไปตามเป้าหมายที่จะทำให้เมืองสงขลาเป็นเมืองมรดกโลก ดร.จเร บอกว่า เพราะจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาเมืองอย่างถูกต้อง ต่อให้วันเวลาจะผ่านไปแค่ไหนแต่แทบทุกอย่างที่ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่สูตรก๋วยเตี๋ยว ไปจนถึงเรื่องวิถีวัฒนธรรมต่าง ๆ จะยังคงอยู่พร้อมๆกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตามยุคสมัยเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงมองภาพ “เมืองเก่าสงขลา” ในอนาคตคือ “เมืองเก่าที่ล้ำสมัย” ล้ำสมัยจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ด้วย เช่น ระบบ Internet of Things (IOT) เข้ามาช่วยในการจัดการจราจร การกำจัดขยะลดให้น้อยลง เป็นต้น

แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นสิ่งสำคัญคือความร่วมมือของ “คนในพื้นที่และชุมชน” ซึ่งต้องนำมาซึ่งการเปิดพื้นที่เพื่อระดมสมอง แสดงความคิดเห็น พื้นที่ของการถ่ายทอดจากคนรุ่นเก่าและไอเดียของคนรุ่นใหม่เพื่อวางแผน วางแนวทางร่วมกัน ซึ่งเมืองเก่าสงขลาพร้อมแล้วสำหรับพื้นที่ดังกล่าว โดยมีจุดเริ่มจาก ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ได้ก่อตั้งอาคารประสานงานเมืองเก่าสงขลา (Historic Center) ขึ้น แต่เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนแม่บทสงขลาสู่มรดกโลกเป็นได้ด้วยดีและเพื่อขยายพื้นที่การประสานงานให้ครอบคลุมในพื้นที่เมืองเก่าสงขลามากยิ่งขึ้น จึงก่อให้เกิดการร่วมคิดร่วมทำ ร่วมสร้างความเข้มแข็งต่อเมืองเก่าสงขลาในทุกมิติ ภาคีฯ จึงได้ริเริ่มโครงการคิดบวกดี (Kid+Dee) และได้ก่อสร้าง “ศูนย์การเรียนรู้ย่านเมืองเก่า คิด บวก ดี” (Kid+Dee @ Historic Center) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

ซึ่งศูนย์การเรียนรู้ย่านเมืองเก่า คิด บวก ดี (Kid+Dee @ Historic Center)  จะเป็นพื้นที่ศูนย์กลางให้ทั้งภาคชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสถาบันการศึกษา เช่น เทศบาลนครสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ระดมความคิดเห็น แสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การพัฒนา ฟื้นฟู ดูแล ย่านเมืองเก่าสงขลา เช่น ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม ผ่านการบูรณะอาคารโบราณ และการจัดทำป้ายสื่อความหมายให้กับร้านดั้งเดิมบนถนนนางงาม เพื่อช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวจังหวัดสงขลา รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อให้คนท้องถิ่นเห็นคุณค่าและความสำคัญของมรดกศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น พลิกฟื้นย่านเมืองเก่าให้กลายเป็นจุดแวะที่ห้ามพลาดเมื่อมาเยือนเมืองสงขลาอีกด้วย 

“จะเห็นว่าผู้สูงอายุจะมาถ่ายทอดองค์ความรู้เขาให้กับเด็กน้อย ๆ ได้เรียนรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของเมืองที่เขาอยู่ เขาจะต้องรักษาเมืองต่อไปจากคนรุ่นเก่าอย่างไร มีกิจกรรมที่ให้วัยรุ่นสามารถเคลื่อนตัวเข้ามาได้ เช่น กลุ่มอบรมในเรื่องของสตาร์ทอัพธุรกิจใหม่ ๆ นับเป็นบทบาทของศูนย์คิดบวกดีซึ่งเป็นที่รวมตัวของคนในเมืองเชื่อมต่อกันกับโครงข่ายความร่วมมือจากข้างนอก”

เพราะฉะนั้น ณ ตอนนี้ ความหวังที่จะไปสู่ “เมืองมรดกโลก” ดร.จเร บอกว่า คณะกรรมการมรดกโลก เคยแนะนำว่า“เมืองเก่าสงขลามีหน่วยก้านที่ดีมากแต่ทำไมคุณไม่เจียระไนสักหน่อยเพื่อให้มันไปสู่มรดกโลกได้”และวันนี้ คนในชุมชนกับนักวิชาการมองภาพเห็นภาพเดียวกันก็สามารถเดินหน้าได้  โดยขั้นการเตรียมเมืองแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือทางมหาวิทยาลัยฯ ทำเรื่องส่งเอกสารและแผนการทำงานไปถึงคณะกรรมการมรดกโลก จากนั้นนำแผนมาทำงานร่วมกับเทศบาลนครสงขลา องค์กรบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ชุมชน เมื่อพร้อมก็จะเสนอสู่ UNESCO ต่อไป ส่วนในพื้นที่เอง ปัจจุบันได้พยายามจัดกิจกรรมให้สงขลาเป็นที่รู้จักในระดับสากล เช่น กิจกรรมโปรโมทการท่องเที่ยว จัดงานวิชาการระดับนานาชาติ เป็นต้น โดยดร.จเร ยอมรับว่า การจัดกิจกรรมในแต่ละครั้ง การมีภาคีที่สำคัญเพื่อช่วยขับเคลื่อนในเรื่องงบประมาณก็ดี การประชาสัมพันธ์ก็ดี การเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ด้านการพัฒนาเมืองเก่าก็ดี บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้เข้ามามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง  

แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งสำคัญคือ “ความร่วมมือของคนในชุมชน” ที่จะกระตุ้นให้เกิดการร่วมกันอนุรักษ์ไว้ซึ่งวัฒนธรรมในเมืองเก่าสงขลา รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนสงขลาอย่างแท้จริง นำไปสู่การสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของวิถีชุมชนคนสงขลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อเป้าหมายสู่การเป็น “มรดกโลก” อีกแห่งหนึ่งของไทย

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ