รองนายกฯ ยอมรับปีนี้แล้งหนัก ขอทุกฝ่ายประหยัดน้ำ สั่งเจาะบาดาลเพิ่ม 500 แห่ง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คาดสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรง พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคกว่า 40 จังหวัด ด้านรองนายกรัฐมนตรี สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม แนะเกษตรกรปลูกพืชน้ำน้อยแทนข้าวนาปรัง

เมื่อวันที่ (20 ธ.ค.62) พล.อ.ประวิตร วงษ์​สุวรรณ​ รองนายก​รัฐมนตรี​ เป็นประธานการประชุม​​คณะกรรมการ​ทรัพยากร​น้ำแห่งชาติ ​ ระบุว่า สถานการณ์​ภัยแล้งปีนี้รุนแรงกว่าทุกปี ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเจาะน้ำบาดาลเพิ่มเติมอีก 500 แห่ง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน พร้อมขอให้เกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรัง และปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน 

ปัญหาภัยแล้ง เริ่มส่งผลกระทบเกษตรกรในหลายพื้นที่  

สำหรับสถานการณ์​น้ำทั่วประเทศ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุว่า จากข้อมูลวันที่ 18 ธันวาคม คาดการณ์ว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค จำนวน 43 จังหวัด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งไว้แล้ว เช่น การเจาะน้ำบาดาล แผนการผันน้ำแม่กลอง เพื่อการอุปโภค-บริโภค

ส่วนพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรนอกเขตชลประทาน คาดว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงรุนแรงกว่า 30 จังหวัด ประมาณ 3.7 แสนไร่ กรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เร่งจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน ทั้งการขุดบ่อบาดาลและหาแหล่งน้ำผิวดิน เพื่อลดความรุนแรงของไม้ผลที่อาจยืนต้นตาย พร้อมระบุว่าลุ่มน้ำเจ้าพระยาขณะนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงเรื่องน้ำอุปโภค-บริโภค เนื่องจากมีการดึงน้ำไปใช้ในการเกษตรจำนวนมาก จึงต้องระวังเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้ดี และมีน้ำใช้เพียงพอไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ปี2563

ร้องตรวจสอบงบฯแก้ภัยแล้งนครพนม พบโครงการไม่โปรงใส น้ำไหลอ่อน-ท่อบางกว่าเดิม

ขณะที่สถานการณ์แม่น้ำโขงที่ลดลง เตรียมเสนอขอความร่วมมือจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการขอน้ำเพิ่มในฤดูแล้งเป็นกรณีพิเศษ และให้วางมาตรการแม่น้ำโขงให้ชัดเจน เพื่อการบริหารจัดการน้ำในอนาคตด โดยขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อมีน้ำใช้เพียงพอช่วงแล้งนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ