นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงสิทธิประโยชน์การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับคนที่ยังไม่มีเชื้อก่อนการสัมผัสเชื้อ หรือยาเพร็พ (PrEP) ในกลุ่มเสี่ยงสูงทุกสิทธิ 2,000 ราย ซึ่งเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2563 ว่า ขณะนี้มีความเข้าใจผิดว่า เมื่อการกินยาเพร็พแล้ว ไม่จำเป็นต้องสวมถุงยางอนามัย ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจถึงข้อจำกัดของทางเลือกก่อน อย่างยาเพร็พ มีความเป็นไปได้ในการลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวี แต่เพร็พไม่ได้ดูแลเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม เริม ฯลฯ
สำรวจวัยรุ่นใช้ ‘ถุงยางอนามัย’ เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สม่ำเสมอ เหตุไว้วางใจแฟน
พบวัยรุ่น 15-24 ปีมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัยเพิ่มขึ้น
"อยากให้คำนึงถึงข้อจำกัดของเพร็พ ไม่ใช่ใช้เพร็พแล้วจะโนคอนดอม เพราะเพร็พไม่ได้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งคนทำงานสุขภาพ ไม่แนะนำให้ใช้เพร็พอย่างเดียวโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นแล้วไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น ต้องรักษา เหนื่อยเจ็บ ชีวิตยากลำบาก แล้วทำไมต้องไปทำให้ตัวเองลำบาก ทั้งที่ป้องกันได้ง่ายๆ เป็นประเด็นที่ต้องฝากว่า เพร็พ เป็นตัวเลือกหนึ่ง แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องทิ้งตัวเลือกอื่น และเมื่อจะป้องกันแล้วก็ควรป้องกันให้ครบรอบด้าน" นายชาติวุฒิ กล่าว
นายชาติวุฒิ กล่าวว่า เช่นเดียวกับกรณีวัยรุ่นหญิงที่เลือกกินยาคุมกำเนิด แต่ไม่ใช้ถุงยางอนามัย ทำให้เกิดปัญหากลัวท้องมากกว่าติดโรค ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่น่าจับตาในปี 2563 เช่นกัน เพราะส่วนหนึ่งอาจมองว่าเป็นโรคแล้วไปรักษาก็หาย โดยสถานการณ์กินยาคุม แต่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยถือว่าสูงมาก ซึ่งกรมควบคุมโรคมีข้อมูลว่า วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกใช้ถุงยางอนามัยสูงมาก แต่เมื่อคุ้นเคยและรู้จักกันแล้ว การใช้ถุงยางอนามัยกลับต่ำ เพราะเชื่อใจ ไว้ใจกัน หรือจะเห็นได้จากสถิติว่า อัตราการคลอดแม่วัยรุ่นลดลง เพราะมีการป้องกัน แต่อัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์กลับเพิ่มมากขึ้น จาก 41.6 ต่อแสนประชากรในปี 2550 เป็น 169.2 ต่อแสนประชากรในปี 2561 หรือเพิ่มมากว่า 3 เท่า โดย 5 โรคที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงอายุ 15-24 ปี คือ ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน และฝีมะม่วง
กรมควบคุมโรค เฝ้าระวัง “ซิฟิลิส” พบมีแนวโนมสูงขึ้น
"ถ้าเราป้องกันตัวเองได้ เท่าทันความรู้สึกตัวเอง จะรู้ว่าการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การไม่เป็นโรคอะไร ฉะนั้นต้องเท่าทัน รู้ว่าถุงยางอนามัยควรติดตัว ติดบ้าน ติดกระเป๋าไว้ เพราะเป็นเครื่องมือที่ประหยัดที่สุด ถ้าเทียบกับเมื่อเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ต้องไปหาหมอ เสียทั้งเงิน เวลา อายหมออีก คิดว่าเป็นเครื่องมือที่จัดการได้ง่ายดาย เหมือนเป็นยาสามัญประจำบ้าน ทั้งนี้ ย้ำว่าการไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับคู่ประจำถือเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะเขาไม่ได้อยู่กับเรา 24 ชั่วโมง จึงไม่รู้ว่าเข้าไปมีอะไรกับคนอื่นหรือไม่" นายชาติวุฒิ กล่าว
เมื่อถามถึงปัญหาแนวคิดการส่งเสริมถุยางอนามัยเป็นการชี้โพรงให้กระรอก นายชาติวุฒิ กล่าวว่า วิธีคิดเรื่องชี้โพรงให้กระรอก คิดว่าผิด ปัจจุบันต้องยอมรับว่าการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นมีอยู่จริง แนวคิดการดูแลลูกหลานต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะสมัยนี้เด็กเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา ต่อให้จำกัดที่บ้านก็เข้าถึงที่อื่น ทำอย่างไรถึงติดอาวุธให้เขาเท่าทัน เช่น หากเลือกจะมีเพศสัมพันธ์ สิ่งที่จะต้องเตรียมคืออะไร ประเมินได้ว่าผลลัพธ์ที่เกิดคืออะไร ถ้าจะยังไม่มีเพศสัมพันธ์ สิ่งที่ได้มาคืออะไร พ่อแม่ต้องเริ่มวิธีคิดเหล่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่า ดูแลลูกได้อย่างทันสมัย เท่าทัน เพราะเจนเนอเรชันเปลี่ยน สภาวะแวดล้อมเปลี่ยน วิธีคิดของคนเปลี่ยน จะทำอย่างไรให้จัดการความเสี่ยงได้อย่างเท่าทันและรอบด้าน
ถามถึงปัญหาวัยรุ่นไม่เลือกใช้ถุงยางอนามัย เพราะราคาแพง จะเอาไปตั้งในโรงเรียนก็ถูกคัดค้าน ไม่กล้าไปซื้อที่ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ นายชาติวุฒิ กล่าวว่า เราไม่ควรละทิ้งการเข้าถึงถุงยางอนามัยในช่องทางต่างๆ ที่เด็กหาได้ ทุกวันนี้ถุงยางไม่ได้หายาก แต่ต้องก้าวข้ามความอาย เพราะไปขอกับเจ้าหน้าที่ในคลินิก รพ. สถานีอนามัย ซึ่งมีถุงยางจริง มีแจกจริง ก็ต้งหาวิธีทำอย่างไรให้ก้าวไปถึงการมีจริงมีแจกเอามาใช้ได้ วัยรุ่นส่วนหนึ่งก็อาย เป็นเรื่องที่เข้าใจ ก็ต้องรับมือความอายของตัวเอง เพราะเจ้าหน้าที่เขาไม่สนใจ ยิ่งมาขอเด็กเอามาใช้ การติดโรคก็ลดลง งานเขาก็ลดลง คิดว่าเขาเต็มใจที่จะให้ และยินดีจะให้ เยาวชนต้องเรียนรู้ไปหาเขา ซึ่งถุงยางอนามัยฟรี คุณภาพก็ไม่แตกต่างจากร้านสะดวกซื้อเลย