ผู้ค้นพบ “ไวรัสโคโรนา” ครั้งแรกในไทย เผยขั้นตอนตรวจเจอเชื้อสายพันธุ์ใหม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โซเชียลฯ ชื่นชมนักเทคนิคการแพทย์ไทยค้นพบ "ไวรัสโคโรนา"   ไม่ท้อแม้ช่วงแรกไม่อยู่ในกลุ่มโรคทางเดินหายใจ 33 ชนิด ถอดรหัสหาทั้งตระกูล จนพบ

ก่อนหน้าที่มีการระบาดของโรคติดต่อทางเดินหายใจจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ยังไม่มีประเทศใด รวมทั้งประเทศไทย ทราบว่าเป็นเชื้อชนิดใด ทราบเพียงว่าเป็นเชื้อไวรัสอู่ฮั่น ซึ่งเป็นเชื้อปริศนาที่ยังไม่มีใครทราบข้อเท็จจริง กระทั่งไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในไทยรายแรก ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาประเทศไทย โดยทีมนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจวิเคราะห์เชื้อจนสามารถยืนยันเชื้อได้เป็นครั้งแรก ว่าเป็นตระกูลโคโรนา กระทั่งไม่นานนักทางการจีนก็ได้ประกาศว่า เป็นเชื้อไวรัสโคโรนา

“6 ข้อกังวลโคโรนาไวรัส” กับความเสี่ยงระบาดไทย?

ย้อนอดีต  “โรคซาร์ส”  สู่ “ไวรัสโคโรนา 2019”   ความรุนแรงมากหรือน้อย..

ผู้ที่ค้นพบ คือ ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้ข้อมูลภายในงานเสวนาวิชาการ “Disease X : ปฐมบทไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า หลังจากได้รับเชื้อ และตรวจเชื้อเบื้องต้นเรายังไม่พบเชื้อ ว่ามีความคล้ายกับเชื้อที่เรารู้จัก 33 ชนิดที่ก่อโรคระบบทางเดินหายใจ จึงทำการตรวจอีกครั้งในกลุ่มไวรัส 2 ตระกูล คือ ไวรัสโคโรนา และอินฟลูเอนซา โดยใช้วิธีพิเศษด้วยการเพิ่มปริมาณไวรัสแบบทั้งตระกูล หรือที่เรียกว่า Family wide PCR แล้วถอดรหัสพันธุกรรมออกมา ซึ่งวิธีนี้ค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยในการตรวจแต่ละครั้งจะอยู่ที่ 120,000 บาทต่อ 1 ตัวอย่าง เมื่อตรวจเสร็จแล้ว เราก็นำมาเปรียบเทียบกับรหัสพันธุกรรมของธนาคารรหัสพันธุกรรมโลก

กระทั่งเราพบว่า  เป็นเชื้อไวรัสตระกูลโคโรนา แต่ไม่สามารถระบุสายพันธุ์ย่อยได้ แต่พบว่ามีความคล้ายคลึงกับเชื้อที่ก่อโรคซาร์ส หมายความว่าเป็นตระกูลเดียวกัน จากนั้นไม่นานทางการจีนนำรหัสพันธุกรรรมไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่พบในเมืองอู่ฮั่นใส่ในธนาคาร และระบุว่าเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้ไทยสามารถนำรหัสพันธุกรรมของไวรัสมาเทียบเคียงก็พบว่าตรงกัน  

อย่างไรก็ตาม สำหรับไวรัสชนิดนี้ พบว่ามีพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อที่พบในค้างคาวมากเกือบ 90% ซึ่งเป็นค้างคาวชนิดที่เรียกว่า ค้างคาวมงกุฎ ซึ่งพบในจีน  และค้างคาวเกือกม้า พบแต่ในจีน (Rhinolophus sinicus) ไม่พบในไทย ที่พบในไทยก็จะเป็นค้างคาวมงกุฎยอดสั้นเล็ก (Rhinolophus thomast)  

รู้จัก “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่”  กับวิธีป้องกันการติดเชื้อ!!

 “10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยตรวจพบไวรัสใหม่ 458 ตัว ส่วนใหญ่เป็นโคโรนาไวรัส ความหลากหลายของโคโรนาไวรัสมีความซับซ้อนสูงทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ได้ง่าย การตรวจหาโคโรนาตัวใหม่ใช้หลักการเดียวกับการตรวจหาโรคเมอร์ส โดยการตรวจไวรัสที่รู้จักมาก่อน (Known Virus) 33 ชนิด ที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และตรวจเชื้อไวรัส 2 ตระกูล คือ โคโรนาไวรัสและอินฟลูเอ็นซา เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมสำเร็จพบว่าเหมือนกับ “Bat SARS-like Coronavirus” ประมาณ 82-90% หลังจากนั้นจึงนำไปเปรียบเทียบกับเชื้อที่ตรวจพบที่อู่ฮั่นซึ่งพบว่าตรงกัน 100 %” ดร.สุภาภรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ จากความสำเร็จดังกล่าว ปรากฎว่าขณะนี้ในสังคมออนไลน์มีกระแสชื่นชม ดร.สุภาภรณ์ ซึ่งเป็นผู้ถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ได้ อาทิ

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @NARUTOm1 ระบุว่า " โฉมหน้านักเทคนิคการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่ ผู้ตรวจพบและ "ยืนยัน" เชื้อโคโรนาสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในขณะนี้ และส่งข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อลงในระบบข้อมูลพันธุกรรมชีวภาพสากลและพบว่าตรงกัน 100% กับสายพันธุ์ที่ระบาดในจีน #ไวรัสโคโรนา"  

ขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์@mooomeemha ระบุ "ไทยไขปริศนา #ไวรัสโคโรนา เจอเชื้อก่อนจีนเปิดเผยรหัส 2 วันคนที่พบไม่ใช่หมอ พยาบาล หรือ เภสัช เป็น " นักเทคนิคการแพทย์ " ดร. สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ การตรวจมุ่งไปที่ 2  คือ โคโรนาและinfluenzaเนื่องจากช่วงเวลานั้นจีนยังไม่เปิดเผย"  

รพ.จุฬาฯ ฝึกแพทย์-พยาบาล รับมือไวรัสโคโรนา ชี้ เสี่ยงมากกว่าปชช.

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ