ผลเลือกตั้งสหรัฐฯ กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020

เลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ เอกชนลุ้นจุดเปลี่ยนนโยบายการค้า

หุ้นไทยพุ่ง 40 จุด ขานรับ "ไบเดน" มีโอกาสคว้าชัย ปธน.สหรัฐฯ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020 เข้าใกล้จุดสิ้นสุดเข้าไปทุกที โดย โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นต่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันอยู่พอสมควร

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สื่อไทยทุกสำนักต่างรายงานสถานการณ์การเลือกตั้ง อาจเกิดคำถามว่า แล้วการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามีความสำคัญอย่างไรกับประเทศไทย

สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจที่ขยับตัวเพียงครั้งหนึ่งก็สร้างแรงกระเพื่อมไปทั้งโลกได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เรื่องสำคัญอย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะส่งผลต่อประเทศอื่น ๆ ได้รวมถึงประเทศไทย

คำถามต่อมาคือ ระหว่าง โจ ไบเดน กับ โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อใครคนใดคนหนึ่งได้เป็นประธานาธิบดี จะสร้างผลกระทบอย่างไรกับเศรษฐกิจไทย

นิวมีเดีย PPTVHD36 สอบถามความเห็น ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ในประเด็นดังกล่าว

กรณีที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ดร.พิพัฒน์บอกว่า เนื่องจากทรัมป์เป็นประธานาธิบดีมา 4 ปี แล้วในช่วงเลือกตั้งก็ไม่ได้ประกาศนโยบายอะไรที่เปลี่ยนทิศทางสิ่งที่ทำมาในตลอด 4 ปี จึงอาจพอคาดเดาได้ว่า นโยบายอาจคล้ายกับช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

“ผลที่อาจกระทบเราโดยตรงอาจเป็นเรื่องของความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้า เพราะเราเห็นแล้วว่าทรัมป์พยายามจะใช้นโยบายนี้เป็นนโยบายหลักใน 4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการ Make America Great Again ทำสงครามการค้ากับพันธมิตรทางการค้าใหญ่ แล้วก็ช่วงที่ผ่านมาขึ้นภาษีกับจีน มีผลกระทบมาถึงเราด้วย”

ทั้งนี้การที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ประเทศไทยอาจจะทั้งได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ อย่างหนึ่งที่หลายคนพูดถึง เช่น เรื่องของการย้ายฐานการผลิต อาเซียนอาจจะได้รับประโยชน์ เพราะว่า จีนอาจต้องย้ายฐานการผลิตออกมาจากประเทศตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตีทางการค้าจากสหรัฐฯ ไทยจึงอาจได้อานิสงส์ทั้งบวกและลบ ลบก็คือ เรื่องของความไม่แน่นอน แต่ว่าบวกอาจจะมีเรื่องของการลงทุนที่ขยับมาทางนี้บ้าง

นอกจากนี้ สิ่งที่ทรัมป์ทำคือ ช่วยทำให้การเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตลาดหุ้นต่าง ๆ เป็นไปได้ด้วยดี มีเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลมาประเทศอื่น ๆ บ้าง

“แต่ถามว่าจริง ๆ เรากระทบยังไง ในช่วงที่มันมีความไม่แน่นอนในสงครามการค้า การส่งออกของเราได้รับผลกระทบเหมือนกัน เรื่องของการที่เราอยู่ในซัพพลายเชนเดียวกับจีนก็มีผล”

อีกอันหนึ่งที่อาจเป็นประเด็น คือการที่ทรัมป์เอง ถอนตัวจาก TPP (Transpacific Partnership) แล้วสุดท้ายตั้งเป็น CCTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) โดยที่ไม่มีอเมริกา ทำให้ไม่น่าสนใจเพราะไม่มีตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม และทำให้การลงทุนใน CCTPP อาจไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องเสียไป

“คนบอกว่า อย่างน้อยก่อนโควิด-19 มา ทรัมป์ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นอยู่ในระดับที่สูง หลายคนที่ชอบทรัมป์เพราะว่าทำให้เศรษฐกิจดี แต่ข้อเสียของทรัมป์ คือความไม่แน่นอน ทั้งวิธีการรับมือไวรัส เรื่องความขัดแย้งทางสีผิว ก็ค่อนข้างอ่อนไหว”

อย่างไรก็ตาม หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ทุกอย่างก็จะเป็นเหมือนเดิมกับตอนนี้ และมีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เกินคาดเดาที่อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ

“การที่ทุกอย่างเหมือนเดิม ก็เท่ากับเราจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเหมือนที่เจอมาตลอด”

กรณีที่ “โจ ไบเดน” ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ดร.พิพัฒน์วิเคราะห์ว่า หากไบเดนได้ตำแหน่งประธานาธิบดี เท่ากับเป็นการเปลี่ยนแกนพรรค จากรีพับลิกันเป็นเดโมแครต ฉะนั้นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายจะมีมากกว่าการที่ทรัมป์ได้ดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2

หนึ่งในนั้นคือการใช้นโยบายการคลัง นโยบายภาษี ไบเดนต้องการใช้จ่ายเงินมากขึ้น อาจมีการขึ้นภาษีนิติบุคคล อาจจะกระทบกำไรการจดทะเบียนตลาดหุ้นสหรัฐ และอาจทำให้นักลงทุนสนใจลงทุนในสหรัฐฯ น้อยลงเพราะไม่อยากเสียภาษีแพง

ส่วนในการทำสงครามการค้ากับจีน คาดว่าไบเดนจะไม่ใช้วิธีดุดันแข็งกร้าวอย่างทรัมป์ แต่จะหันไปจับมือกับพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อกดดันจีน เช่น การกลับมาเข้าร่วม CPTPP ซึ่งมีผลทำให้ไทยต้องพิจารณาหนักขึ้นในเรื่องของการเข้าร่วม

โดยที่ผ่านมามีกระแสไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม CPTPP อยู่ค่อนข้างมากในไทย เพราะมองว่าไทยได้ประโยชน์ไม่มากนักเมื่อเทียบกับข้อเสีย แต่หากสหรัฐกลับมาเข้าร่วม CPTPP เมื่อไหร่ ต้นทุนของไทยในการไม่เข้าร่วมจะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้เนื่องจากจะทำให้ประเทศไทยเสียความสามารถในการแข่งขันกับตลาดที่สำคัญอย่างสหรัฐ และนักลงทุนบางประเทศที่อยู่ใน CPTPP เช่น ญี่ปุ่น อาจจะพิจารณาย้ายฐานการผลิตจากไทย ไปยังประเทศอื่น เช่น เวียดนาม หรือมาเลเซีย ที่อยู่ใน CPTPP เพื่อให้ได้ผลประโยชน์จากความร่วมมืออย่างเต็มที่

ย้ำอีกครั้ง ข้อดี-ข้อเสีย ไทยเข้าร่วม CPTPP หลังเอกชนแสดงจุดยืนสนับสนุน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องของนโยบายสิ่งแวดล้อม ดร.พิพัฒน์บอกว่า “เรื่องนี้หมุน 180 องศากลับเลย เพราะในช่วงของทรัมป์ ทรัมป์ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน และยังคงลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันต่าง ๆ ขณะที่ไบเดนต้องการสนับสนุนพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า ก็อาจกระทบไทยในฐานะที่เราเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปภายใน”

ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ที่มีการสันดาปภายใน หากนโยบายสหรัฐฯ มุ่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า พึ่งพาพลังงานจากคาร์บอนลดลง ไทยอาจได้รับผลกระทบในภาคการผลิตที่เกี่ยวข้อง และต้องหันมาพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าให้เร็วขึ้น

ทำไมคนไทยถึงคัดค้าน CPTPP ?

ไทยควรเชียร์ใคร?

ดร.พิพัฒน์มองว่า “ขึ้นอยู่กับว่า เราเป็นใคร ถ้าเกิดเราไม่ต้องการความไม่แน่นอน สงครามการค้าต่าง ๆ ก็อาจจะต้องเชียร์ไบเดน ... ช่วงที่ผ่านมาผู้ส่งออกน่าจะเชียร์ไบเดนมากกว่า”

ดร.พิพัฒน์เน้นย้ำว่า คนไทยเราไม่ได้โหวต ไม่ได้เป็นคนที่กำหนดนโยบาย ไม่ได้มีผลได้เสียโดยตรง การเปลี่ยนทิศทางต่าง ๆ จะกระทบผ่านนโยบายการค้า การลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ

“ต้องบอกว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่าง ๆ จากการเลือกตั้งทุกครั้งที่เปลี่ยนพรรคมันก็มีผลในแง่ของการเปลี่ยนทิศทาง อาจมีผลกลับมาถึงเรา ในฐานะนักลงทุน การค้า ต้องติดตามดูผล เปลี่ยนไม่เปลี่ยนจะกระทบอย่างไร”

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ