36ข่าวแห่งปี : ภัยธรรมชาติปี 2563 โลกร้อนขึ้น โลกร้ายขึ้น

โดย PPTV Online

เผยแพร่

พีพีทีวี นิวมีเดีย คัดเลือก 36 ข่าวแห่งปี 2563 ครบรอบ 16 ปีสึนามิ 2547 รวบรวมภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในรอบปี กับอุณหภูมิโลกที่ยังคงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้ายลง

36ข่าวแห่งปี : จุดแตกหัก พปชร. กับ 4 กุมาร กับปรากฏการณ์ เก้าอี้ รมต.คลัง 20 วัน

36ข่าวแห่งปี : 7 ปีที่รอคอย เลือกตั้งท้องถิ่น ปูทางสู่เลือกตั้งใหญ่ วัดใจกกต.

36ข่าวแห่งปี : เมื่อโลกล็อกดาวน์ธรรมชาติก็ฟื้นคืน

ทรัมป์ไม่เชื่อโลกร้อนเป็นสาเหตุของไฟป่า

ครบรอบ 16 ปี วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 กับเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ “มหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิ” หลังเกิดแผ่นดินไหวใต้มหาสมุทรอินเดีย เมื่อเวลา 07.58 น. ตามเวลาในประเทศไทย ศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปในมหาสมุทรอินเดีย ใกล้ด้านตะวันตกของตอนเหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ทำให้เกิดความเสียหายบนเกาะสุมาตรา และยังรับรู้ได้ในภาคใต้ของประเทศไทย

แผ่นดินไหวครั้งนั้นมีความรุนแรง 9.1-9.3 แมกนิจูด เกิดคลื่นสึนามิสูงราว 30 เมตร เข้าท่วมทำลายบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งโดยรอบมหาสมุทรอินเดีย ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ใน 14 ประเทศมากกว่า 180,000-230,000 คน เป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

“ภัยธรรมชาติ” คืออันตรายที่เกิดจากธรรมชาติซึ่งเกินกว่าความควบคุมของมนุษย์ มักสร้างผลกระทบและความเสียหายต่อการดำรงชีวิต และในปี 2563 ก็เป็นอีกปีที่เกิดภัยธรรมชาติรุนแรงควบคู่กับความน่ากลัวของโรคระบาดโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นภัยแผ่นดินไหว สึนามิ วาตภัย อุทกภัย ไปจนถึงไฟป่า

แผ่นดินไหว

ปิ 2563 ที่กำลังจะสิ้นสุดลง เกิดแผ่นดินไหวบนโลกทั้งสิ้น 13,388 ครั้ง มีความรุนแรงเกิน 6.0 แมกนิจูด 1,409 ครั้ง แต่เหตุแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุดมีอยู่ 4 เหตุการณ์ ดังนี้

แผ่นดินไหวในทะเลอีเจียน วันที่ 30 ตุลาคม ความรุนแรง 7.0 แมกนิจูด มีผู้เสียชีวิต 118 ราย ความเสียหายครอบคลุมเมืองอิซเมียร์ ประเทศตรุกี และนอกชายฝั่งประเทศกรีซ

ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากเกาะซามอสไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 14 กม. อาคารหลายหลังได้รับความเสียหายหรือพังถล่มลงมา แผ่นดินไหวครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในปี 2563 โดยมีผู้เสียชีวิต 116 คนในตุรกีและบาดเจ็บอีก 1,034 คน ส่วนที่กรีซมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คนและบาดเจ็บอีก 19 คน

หลังจากเกิดแผ่นดินไหวตุรกีได้รับผลกระทบจากอาฟเตอร์ช็อกหลายร้อยครั้ง และยังเกิดสึนามิ จนมีน้ำท่วมถนนและท่าเรือต่าง ๆ พร้อมทั้งมีการประกาศเตือนภัยสึนามิที่หมู่เกาะอิคาเรีย คอส ชิออส และซามอส น้ำจากชายฝั่งท่วมสูงถึง 1.9 เมตร ขณะที่บางที่พบคลื่นสึนามิสูง 6 เมตร

อัปเดตแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.0 ถล่ม ตุรกี-กรีซ ดับ 22 เจ็บ 800

เด็ก 3 ขวบรอดชีวิต หลังติดในซากตึกจากเหตุแผ่นดินไหวตุรกีนาน 65 ชม.

แผ่นดินไหวเอลาซิก วันที่ 24 มกราคม ความรุนแรง 6.7 แมกนิจูด มีผู้เสียชีวิต 41 ราย 6.7 ความเสียหายอยู่ในพื้นที่จังหวัดเอลาซิกของประเทศตุรกี

เกิดขึ้นเมื่อเวลา 20:55 น. ตามเวลาท้องถิ่น ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใกล้กับเมืองซิฟริซ (Sivrice) ในจังหวัดเอลาซิก และรู้สึกได้ในจังหวัดใกล้เคียงรวมถึงประเทศข้างเคียงอย่างอาร์เมเนีย ซีเรีย และอิหร่าน นอกจากผู้เสียชีวิต 41 คน ยังพบผู้บาดเจ็บมากกว่า 1,600 คน

แผ่นดินไหวครั้งนี้สร้างความเสียหายร้ายแรงกินพื้นที่ 40 กม. จากศูนย์กลาง โดยเฉพาะเมืองในจังหวัดเอลาซิกและมาลาเทีย โดย 19 เมืองและหมู่บ้านกว่า 200 แห่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มีรายงานว่าอาคารทั้งหมดในหมู่บ้านถึง 25 แห่งถูกทำลาย

ตุรกีเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตแผ่นดินไหว 6.7 คร่าแล้ว 22 คน

แผ่นดินไหวโออาคากา วันที่ 23 มกราคม ความรุนแรง 7.4 แมกนิจูด มีผู้เสียชีวิต 10 ราย ความเสียหายอยู่ในรัฐโออาคากา ประเทศเม็กซิโก

เกิดแผ่นดินไหวในรัฐโออาคากาของเม็กซิโกเมื่อเวลา 10:29 น. ตามเวลาท้องถิ่น ผู้คนราว 49 ล้านคนในเม็กซิโกและกัวเตมาลารู้สึกได้ถึงแผ่นดินไหว มีการประกาศเตือนภัยสึนามิทางตอนใต้ของเม็กซิโก เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา และฮอนดูรัส

บ้านเรือนในรัฐโออาคากากว่า 8,000 หลังได้รับผลกระทบ เป็นโรงเรียน 213 แห่ง สถานีอนามัย 15 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง สะพาน 7 แห่ง และทางหลวงของรัฐ 25 เส้น

ผู้ว่าการรัฐโออาคากาประเมินมูลค่าความเสียหายทั้งหมดประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 พันล้านบาท) ยังเกิดเพลิงไหม้ในโรงกลั่นน้ำมัน PEMEX ในเมืองซาลินาครูซ ทำให้พนักงานได้รับบาดเจ็บจากเปลวไฟ แต่ก็คุมเพลิงได้อย่างทันท่วงที

แผ่นดินไหวอิหร่าน-ตุรกี วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ความรุนแรง 5.8 แมกนิจูด มีผู้เสียชีวิต 10 ราย ความเสียหายครอบคลุมอาเซอร์ไบจานตะวันตก ประเทศอิหร่าน และเมืองแวน ประเทศตรุกี

พื้นที่ความเสียหายสำคัญทอดยาวจากเมืองแวนไปทางตะวันตกจนถึงอิหร่าน อาคารมากกว่า 1,000 หลังในตุรกีถูกทำลาย และหมู่บ้าน 43 แห่งในอิหร่านได้รับผลกระทบ

กระทรวงสาธารณสุขของตุรกีรายงานว่า จากผู้เสียชีวิต 10 ราย มี 4 รายเป็นเพียงเด็ก มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 66 คนในตรุกี และอีก 75 คนในอิหร่าน

พายุทั่วโลก

ปี 2563 โลกมีพายุก่อตัวในทุกระบบรวม 137 ลูก ลดลงจากปีที่ 17 ลูก เป็นพายุที่ได้รับการตั้งชื่อ 102 ลูก คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก 1,338 ราย ลดลงจาก 2,096 ราย แต่สร้างความเสียหายรวมเพิ่มขึ้นเป็น 6.67 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2 ล้านล้านบาท โดยพายุที่คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมากและสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐประกอบด้วย

ซูเปอร์ไซโคลนอำพัน (Amphan) 16 – 21 พฤษภาคม

วันที่ 16 พฤษภาคม มีพายุดีเปรสชันก่อตัวขึ้นทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอ่าวเบงกอล

ศรีลังกา บังกลาเทศ อินเดีย ภูฏาน ตาย 128 ตาย เสียหาย 1.36 หมื่อนล้านดอลลาร์

6 ชั่วโมงต่อมา กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (IMD) ได้ยกระดับให้เป็นพายุดีเปรสชันหมุนเร็ว ต่อมาพายุทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน ได้รับชื่อว่า “อำพัน”

เกิดแผ่นดินถล่มและน้ำท่วมในบางส่วนของอินเดียและศรีลังกา กระทั่งวันที่ 17 พฤษภาคม พายุไซโคลนอำพันทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลนกำลังแรงมาก

12 ชั่วโมงให้หลัง ตาพายุของอำพันพัฒนาความเร็ว และเริ่มทวีกำลังแรงขึ้นจนกลายเป็นพายุไซโคลนกำลังแรงอย่างมาก

ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมระบุว่า พายุอำพันนี้ลักษณะเป็น “การก่อพายุหมุนระเบิด (Explosive Cyclogenesis)” คือพัฒนาความรุนแรงจากพายุไซโคลนเทียบเท่าระดับ 1 เป็นพายุไซโคลนเทียบเท่าระดับ 4 ภายใน 6 ชั่วโมง

ต่อมา พายุอำพันได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุซูเปอร์ไซโคลน โดยมีความเร็วลมต่อเนื่องที่ 240 กม./ชม. นับเป็นปีที่สองติดต่อกันแล้วที่มีพายุในระดับพายุซูเปอร์ไซโคลน

ไซโคลนอำพันพัดขึ้นฝั่งอินเดีย เสียชีวิตนับ 10 คน

เฮอร์ริเคนลอรา 20 – 29 สิงหาคม

พายุเฮอริเคนลอราเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 4 เกิดจากคลื่นความร้อนขนาดใหญ่ที่เคลื่อนตัวออกจากชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม และกลายเป็นพายุดีเปรสชันในวันที่ 20 สิงหาคม ก่อนทวีความรุนแรงขึ้นกลายเป็นพายุโซนร้อน

ลอราโจมตีหมู่เกาะเลสเซอร์แอนทิลลิสเป็นที่แรก ก่อนเคลื่อนผ่านเปอร์โตริโก เกาะฮิสปานิโอลา เฮติ สาธารณรัฐโดมินิกัน และคิวบา ขณะเคลื่อนตัวข้ามอ่าวเม็กซิโกก็ทวีกำลังขึ้นอย่างช้า ๆ ในตอนแรก ก่อนที่จะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วในวันที่ 26 สิงหาคม จนกลายเป็นเฮอริเคนลูกใหญ่ มีความเร็วลมสูงสุด 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ในช่วงเช้าของวันที่ 27 สิงหาคมลอร่าได้เคลื่อนขึ้นสู่แผ่นดิน เป็นพายุเฮอริเคนที่รุนแรงที่สุดเป็นอันดับที่ 10 หากวัดจากความเร็วลมหลังขึ้นฝั่ง

หลังจากเคลื่อนขึ้นสู่แผ่นดิน ลอราก็อ่อนกำลังลงกลายเป็นพายุโซนร้อนในวันเดียวกันนั้น และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันในรัฐอาร์คันซอในวันรุ่งขึ้น

หลังจากเคลื่อนผ่านประเทศแถบอเมริกากลางและตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา พบผู้เสียชีวิต 77 ราย ความเสียหายต่อทรัพย์สินรวม 1.61 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.83 แสนล้านบาท)

พายุโซนร้อนหลิ่นฟา (Lian Hua) 9 – 11 ตุลาคม

พายุโซนร้อน “หลิ่นฟา” ตั้งชื่อโดยฮ่องกง มีความหมายว่า “ดอกบัว” ก่อตัวตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม แล้วทวีกำลังเคลื่อนผ่านบริเวณเมืองกวางนาม ประเทศเวียดนาม มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากทางด้านตะวันออกของ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ประมาณ 350 กิโลเมตร

หลิ่นฟามีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่อมาอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ตามลำดับ ทำให้ด้านตะวันออกและตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือขแงประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น ที 9 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งและมีลมแรง

หลิ่นฟามีผลกระทบต่อ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเมียนมา มีผู้เสียชีวิต 137 ราย ความเสียหายรวมมูลค่า 217 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.5 พันล้านบาท)

ไต้ฝุ่นหว่ามก๋อ (Vamco) 8 – 15 พฤศจิกายน

พายุหมุนเขตร้อนในโซนไต้ฝุ่นลูกล่าสุด ก่อตัวเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  มีความรุนแรงระดับ 4 เป็นพายุโซนร้อนรุนแรง มีชื่อว่า “หว่ามก๋อ” ตั้งชื่อโดยประเทศเวียดนาม เป็นชื่อของแม่น้ำสายหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศ

หว่ามก๋อเคลื่อนผ่านบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามประมาณวันที่ 15 พฤศจิกายน หลังจากนั้นก็อ่อนกำลังลงตามลำดับ

หว่ามก๋อมีอิทธิพลกับ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว และไทย มีผู้เสียชีวิต 102 รายราย สร้างความเสียหาย 1.06 พันล้านดอลลาร์ (ราว 3.18 หมื่นล้านบาท)

เวียดนามอพยพปชช.นับแสนรับมือไต้ฝุ่น “หว่ามก๋อ”

เฮอร์ริเคนเอตา (Eta) 31 ตุลาคม – 13 พฤศจิกายน

พายุเฮอริเคนเอตาเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 4 ที่ สร้างความหายนะให้กับพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของอเมริกากลางในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2563

เอตามีต้นกำเนิดจากคลื่นลมเขตร้อนกำลังแรงในทะเลแคริบเบียนตะวันออกเคลื่อนไปทางตะวันตกและสะสมพลังงานจนพัฒนากลายเป็นเฮอริเคนระดับ 4 ในวันที่ 3 พฤศจิกายน โดยมีความเร็วลมสูงสุด 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เฮอริเคนเอตาเคลื่อนอยู่ในแนวบริเวณสหรัฐตอนล่าง เม็กซิโก อเมริกากลาง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 211 ราย รวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ที่ราว 7.9 พันล้านดอลลาร์ (2.37 แสนล้านบาท)

นอกจากนี้ ยังมีประชากรกว่า 2.5 ล้านคนจากหลายภูมิภาคได้รับผลกระทบจากพายุ อาหารและน้ำประมาณ 98 ตันถูกมอบให้กับนิการากัวและฮอนดูรัส ผู้คนไร้ที่อยู่อาศัยถูกย้ายไปยังศูนย์พักพิงต่าง ๆ

ฝนตกหนัก น้ำท่วม

ผลพวงจากการเกิดพายุในหลายพื้นที่ทั่วโลกทำให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ สะสมจนกลายเป็นอุทกภัย

อุทกภัยรัฐอัสสัม อินเดีย พฤษภาคม – สิงหาคม

ขณะที่โควิด-19 กำลังระบาดหนักในอินเดีย เมื่อเดือนพฤษภาคม เกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งสำคัญ โดยระดับแม่น้ำพรหมบุตรในรัฐอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเพิ่มสูง หลังจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนกว่า 30,000 คนได้รับผลกระทบ และทำลายพืชผลใน 5 อำเภอ

เหตุอุทกภัยดำเนินต่อเนื่องนาน 4 เดือน กระทั่งเดือนตุลาคม ผู้คนได้รับผลกระทบกว่า 5 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยโดยตรง 123 คน อีก 26 คนเสียชีวิตจากเหตุดินถล่ม เมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ พบว่า มีหมู่บ้านถึง 5,474 แห่งได้รับผลกระทบ และประชาชนกว่า 150,000 คนไร้ที่พักพิงต้องหลบภัยในค่ายบรรเทาทุกข์

อุทกภัยในจีน มิถุนายน – กันยายน

ต้นเดือนมิถุนายน เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ของจีน น้ำฝนและน้ำท่วมขยายไปยังภาคกลางและภาคตะวันออกของจีนในช่วงเดือนกรกฎาคม และได้รับการนิยามว่าเป้นอุทกภัยที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2541

จากข้อมูลของกระทรวงการจัดการเหตุฉุกเฉิน มีผู้เสียชีวิต เสียชีวิตหรือสูญหาย 219 ราย เสียหาย 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.6 แสนล้านบาท) ประชากร 744,000 คนใน 26 มณฑลต้องพลัดพรากจากบ้าน ส่งผลกระทบต่อผู้คน 63.46 ล้านคน บ้านเรือน 54,000 หลังพังเสียหาย

กระทรวงทรัพยากรน้ำกล่าวว่า แม่น้ำ 443 แห่งทั่วประเทศระดับสูงขึ้นจนเกิดอุทกภัย ทำให้โบราณสถานทางวัฒนธรรมของชาติ 76 แห่งและมรดกทางวัฒนธรรมของทณฑล 187 แห่งได้รับความเสียหาย

กรมอุตุนิยมวิทยาจีนระบุว่า ฝนที่ตกลงมาเกิดจากอัตราการระเหยที่เพิ่มขึ้นของมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ผู้เชี่ยวชาญบางคนอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของภัยธรรมชาติ และเหตุการณ์ลักษณะนี้อาจเกิดบ่อยขึ้นในอนาคต

ภาพความเสียหายโบราณสถานอายุ 700 ปีของจีนที่ถูกน้ำท่วมใหญ่

อุทกภัยในคิวชู 4 – 31 กรกฎาคม

อุทกภัยในคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมในเดือนกรกฎาคม เกิดจากฝนที่ตกหนักเป็นประวัติการณ์ในจังหวัดคุมาโมโตะและคาโงชิมะ บนเกาะคิวชูทางตอนใต้ของญี่ปุ่นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2563 ทำให้ระดับแม่น้ำคุมะงาวะสูงขึ้น

ผลจากน้ำท่วมและดินถล่มทำให้มีผู้เสียชีวิต 77 ราย (รวมถึงผู้เสียชีวิต 1 รายจากภาวะหัวใจหยุดเต้น) และมีผู้สูญหายอีกประมาณ 7 ราย อาคารประมาณ 15,335 แห่งถูกทำลายเสียหายหรือถูกน้ำท่วม

ญี่ปุ่นคาด มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 ราย จากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่บนเกาะคิวชู

อุทกภัยเวียดนาม 5 ตุลาคม – 21 พฤศจิกายน

เหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในเวียดนาม เป็นเหตุน้ำท่วมต่อเนื่องในเวียดนามกลาง ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงบางพื้นที่ในกัมพูชาและลาว 2563 น้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด ส่วนใหญ่เกิดจากลมมรสุมตามฤดูกาลแม้ว่าพายุหมุนเขตร้อนจะเพิ่มมากขึ้นก็ตาม

วันที่ 7 ตุลาคม ในช่วงมรสุมตามฤดูกาล มีพายุหมุนเขตร้อนจำนวนมากในช่วงฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิกปี 2020 เช่น หลิ่นฟา นังกา โอเฟล โซเดล และโมลาเบ ​​พัดถล่มพื้นที่ทางตอนเหนือและตอนกลางของเวียดนาม โดยเฉพาะในพื้นที่ของลาวและกัมพูชา ทำให้เกิดลมแรงและฝนตกมากเกินไป

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน เวียดนามตอนกลางต้องเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นโคนีที่อ่อนกำลังลงสู่ทะเลจีนใต้ ตามด้วยพายุดีเปรสชันเขตร้อนเอตาว ปิดท้ายด้วยพายุไต้ฝุ่นหว่ามก๋อ ทำให้เหตุอุทกภัยไม่อาจคลี่คลาย

ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 น้ำท่วมส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 233 คนและสูญหาย 66 คน 44 รายในนี้มาจากกัมพูชา และส่งผลให้เกิดความเสียหายเกือบ 1.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.56 หมื่นล้านบาท)

ไฟป่า

ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องผจญกับฤดูไฟป่าเป็นประจำทุกปี แต่ปีนี้เป็นอีกปีที่ดูจะสาหัสเป็นพิเศษ เพราะเกิดไฟป่าลากยาวต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2562 จนถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ในเดือนมิถุนายน 2562 ผู้อำนวยการฝ่ายดับเพลิงและบริการฉุกเฉินของรัฐควีนส์แลนด์รายงานพบการเริ่มต้นฤดูไฟป่าเร็วกว่ากำหนด 2 เดือน คาดเกิดจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง อุณหภูมิโลกที่ร้อน และการขาดความชื้นในดิน

ณ วันที่ 9 มีนาคม ไฟไหม้พื้นที่ไปประมาณ 186,000 ตารางกิโลเมตร ทำลายอาคารและบ้านเรือนกว่า 9,300 แห่ง คร่าชีวิตผู้คนโดยตรงอย่างน้อย 34 คน อีก 445 คนเสียชีวิตจากการสูดดมควันไฟ

ไฟป่ายังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ในป่า โดยสัตว์เกือบ 3 พันล้านตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์เลื้อยคลาน ได้รับผลกระทบ และเชื่อว่าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์บางชนิดถูกผลักดันให้ใกล้สูญพันธุ์เรื่อย ๆ

นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าไฟป่าออสเตรเลีย 2562-63 อาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 1.03 แสนล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 2.36 ล้านล้านบาท) ซึ่งทำให้ไฟป่าครั้งนี้เป็นภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดในออสเตรเลียจนถึงปัจจุบัน

ณ วันที่ 2 มกราคม นาซาคาดการณ์ว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปถึง 306 ล้านตัน ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม ควันจากไฟป่าได้เคลื่อนตัวประมาณ 11,000 กิโลเมตร ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ไปยังชิลีและอาร์เจนตินา

มีการประกาศภาวะฉุกเฉินหลายรัฐทั้งนิวเซาท์เวลส์ วิกตอเรีย และเขตเมืองหลวงของออสเตรเลีย มีการเรียกกำลังเสริมจากทั่วออสเตรเลียเพื่อช่วยในการต่อสู้กับไฟป่า

เปิดภาพศูนย์ช่วยเหลือ "โคอาลา " หลังหนีไฟป่าออสเตรเลีย

ควันไฟป่าออสเตรเลีย ลอยไปไกลถึง ชิลี-อาร์เจนตินา

ความเสียหาย “ไฟป่าออสเตรเลีย” คร่าชีวิตสัตว์ป่าและผู้คน

สหรัฐอเมริกา เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มักประสบเหตุไฟป่า โดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคตะวันตกของประเทศ โดยในปี 2563 สหรัฐอเมริกาตะวันตกประสบกับไฟป่าครั้งใหญ่หลายครั้ง จากเหตุฟ้าคะนองรุนแรงในเดือนสิงหาคม ทำให้เกิดไฟป่าหลายจุดทั่วรัฐแคลิฟอร์เนีย โอเรกอน และวอชิงตัน

ต่อมาในช่วงต้นเดือนกันยายน เกิดไฟลุกไหม้เพิ่มเติมทั่วชายฝั่งตะวันตก ประกอบกับลมกระโชกแรงและภูมิประเทศที่ร้อนแห้งแล้ง ทำให้จากระดับของไฟป่ายกระดับเป็น “กิกะไฟร์”  ทำลายสถิติ เผาผลาญพื้นที่กว่า 33,000 ตารางกิโลเมตร อาคารเกือบ 14,000 แห่งถูกทำลาย และผู้คนอย่างน้อย 46 คนเสียชีวิต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการป่าไม้ที่ไม่ดี มีส่วนทำให้ไฟป่ารุนแรงขึ้น

สถานการณ์ไฟป่าในแคลิฟอร์เนียที่รุนแรง ยังเปลี่ยนสีท้องฟ้าเหนือเมืองใกล้เคียง เช่น ซานฟรานซิสโก โอ๊คแลนด์ เบิร์กลีย์ ให้เป็นสีแดง-ส้ม จนคล้ายว่าอยู่บนดาวอังคาร รวมถึงมีเถ้าถ่านลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ ให้คุณภาพอากาศเข้าขั้นวิกฤต

มีการประเมินความเสียจากเหตุไฟป่าสหรัฐฯ ในปีนี้อยู่ที่ราว 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.1 หมื่นล้านบาท)

ไฟป่าแคลิฟอร์เนียเปลี่ยนท้องฟ้าเหนือซานฟรานซิสโกเป็นสีแดงจนเหมือนอยู่บนดาวอังคาร

ไฟป่าแคลิฟอร์เนีย ยกระดับเป็น กิกะไฟร์ (gigafire) ผลาญพื้นที่ป่ากว่า 10 ล้านไร่

นอกจากออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาที่มีฤดูไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้วนั้น ในปี 2563 ยังเกิดไฟป่าในพื้นที่ที่ไม่ควรเกิด นั่นคือพื้นที่ป่าฝนในบราซิลและภูมิภาคอเมริกาใต้

เกิดไฟป่าในป่าฝนอเมริกาใต้มากกว่า 44,000 จุดระหว่างเดือนมกราคมถึงสิงหาคมในป่าแอมะซอนและภูมิภาคพันตานัล (Pantanal) หน่วยงานต่าง ๆ และอาสาสมัครพยายามช่วยชีวิตสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น เสือจากัวร์ อย่างสุดความสามารถ โดยไฟป่าบางจุดพบว่าเกิดจากการกระทำของมนุษย์

สถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติของบราซิลรายงานว่า ข้อมูลดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า จำนวนไฟป่าในแอมะซอนเพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

สำหรับป่าแอมะซอนเป็นป่าฝนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและมีบทบาทสำคัญต่อการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน เพราะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทั่วโลกปล่อยออกมาได้เป็นปริมาณมหาศาล

ส่วนภูมิภาคพันตานัล ซึ่งมีความหมายในภาษาโปรตุเกสว่า “พื้นที่ชุ่มน้ำ” และความหมายในภาษาสเปนว่า “ลุ่มน้ำ” ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ กินพื้นที่ระหว่าง 3 ประเทศ คือ บราซิล โบลิเวีย และปารากวัย

พันตานัลถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีขนาดพื้นที่กว่า 187,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 3% ของพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหมดบนโลก แต่กลับได้รับผลกระทบจากไฟป่าครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เปลวไฟได้เผาผลาญพื้นที่ไปแล้วประมาณ 28% ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหายากหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ นกแก้วมาคอว์สีน้ำเงิน (Blue Macaw) หนึ่งในพันธุ์นกที่หายากที่สุดในโลกซึ่งเชื่อกันว่าเหลืออยู่เพียง 6,500 ตัวบนโลกเท่านั้น

ป่าแอมะซอนของบราซิลถูกทำลายมากที่สุดในรอบ 12 ปี

โลกร้อนขึ้นอีก เกิดไฟป่าในพื้นที่ชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก

โลกร้อน ทำให้โลกร้ายขึ้นจริงหรือ?

ปีนี้มีการพบหลักฐานว่าโลกกำลังร้อนขึ้นจริงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตหนาวต่าง ๆ

ที่ทวีปแอนตาร์กติกา พบปรากฏการณ์ “หิมะสีเขียว” หรือการแพร่พันธุ์ของมอส ไลเคน สาหร่ายบนชายฝั่งคาบสมุทรแอนตาร์กติก เป็นครั้งแรก พบมากตามหมู่เกาะนอกชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกาที่อุณหภูมิเพิ่มสูงกว่าบริเวณอื่น ๆ

สอดคล้องกับการศึกษาใหม่ในวารสาร Nature Climate Change ระบุว่า “ขั้วโลกใต้” ร้อนขึ้นเป็น 3 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจมีนัยยะส่งสัญญาณไปถึงการละลายของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติก ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเลในภูมิภาค รวมถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลก

อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น ทำให้อุณหภูมิในแอนตาร์กติกาสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ที่สถานีวิจัย Esperanza ของอาร์เจนตินา สามารถวัดอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดที่เคยบันทึกในทวีปแอนตาร์กติกาได้ที่ 18.3 องศาเซลเซียส

ขณะเดียวกัน พื้นที่เมืองหนาวอย่างไซบีเรีย รัสเซีย หรือกระทั่งภูฏาน ก็พบว่าอุณหภูมิพื้นผิวสูงขึ้นเช่นกัน บางเมืองที่เคยหนาวมาตลอดกลับมีอุณหภูมิสูงถึง 30 องศาเซลเซียส หรือแม้แต่ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยก็เริ่มละลายแล้ว

อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นนี้ส่งผลโดยตรงต่อความรุนแรงของไฟป่า การคงสภาพของพายุ รวมถึงระดับน้ำทั่วโลก จึงอาจบอกได้ว่า การที่โลกร้อนขึ้นนั้นส่งผลโดยตรงกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้เห็น ทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำเกิดไฟป่ายาวนาน ทั้งอุทกภัยทั่วโลก

ธรรมชาติคือสิ่งที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก เกินกว่าที่มนุษย์จะควบคุมไว้ได้ และเราไม่มีวันคุมได้ สิ่งที่เราทำได้ นอกจากการพัฒนาระบบตรวจจับ รับมือ และช่วยเหลือ ให้มีศักยภาพที่สุด เพื่อลดความสูญเสียและความเสียหายแล้ว เรายังควรช่วยกันควบคุมอุณหภุมิของโลกไม่ให้สูงไปมากกว่านี้ ถ้าไม่อยากให้โลกร้าย เราก็ต้องไม่ทำให้โลกร้อน

วิจัยพบ โลกร้อนทำให้พายุเฮอริเคนแข็งแกร่งขึ้น สลายตัวช้าลง

"โลกร้อน" มหัตภัยร้ายที่กำลังคืบคลานเข้าสู่ "ภูฏาน" ทั้งที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์

Bottom-PL-24 Bottom-PL-24

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ