36ข่าวแห่งปี : เปิดโปงโรงงานสร้างมลพิษ หนองพะวา - เปิดปูม "เมืองอัครา" จาก ม.44 สู่เดิมพัน 2 หมื่นล้าน

โดย PPTV Online

เผยแพร่

พีพีทีวี นิวมีเดีย คัดเลือก 36 ข่าวแห่งปี 2563 : 2 ประเด็นใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อม ทีมข่าวพีพีทีวี เกาะติดปมตรวจสอบโรงงานในจ.ระยอง แหล่งสะสมและปล่อยสารพิษ นำไปสู่การตรวจสอบของภาครัฐ ขณะที่อีกประเด็นใหญ่ เหมืองทองอัครา กับข้อกล่าวหาสร้างมลพิษ กระทบสุขภาพ คำสั่งปิด ม.44 กับการฟ้องร้องที่ยังไม่จบ!!

  • โรงงานปล่อยสารพิษ กระทบชีวิตชาวบ้าน หนองพะวา จ.ระยอง 

36ข่าวแห่งปี : จุดแตกหัก พปชร. กับ 4 กุมาร กับปรากฏการณ์ เก้าอี้ รมต.คลัง 20 วัน

36ข่าวแห่งปี : พิษโควิด-19 กระทบโอลิมปิกเลื่อนครั้งแรกในรอบ 124 ปี

ชาว"หนองพะวา"จ.ระยอง ขึ้นป้ายไม่เอาโรงงาน"วิน โพรเสส"

ย้อนไทม์ไลน์ 10 ปี ชาวบ้านทนสภาพ "วินโพรเสส" ปล่อยน้ำเสีย

ภาพถ่ายจากอากาศยานไร้คนขับ ฉายให้เห็นความเสียหายของพื้นที่โดยรอบ โรงงาน วิน โพรเสส จำกัด ตั้งอยู่ บ้านหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่มีน้ำเสียรอบๆโรงงาน ปัญญานี้ชาวบ้านบอกว่ามียาวนาน  10 ปี ตั้งแต่โรงงานมาตั้ง ปัจจุบันขยายวงกว้างกินพื้นที่การเกษตร 100กว่า ไร่ นอกจากนั้นมีผลกระทบทางกลิ่น นักเรียนและชาวบ้านทนอยู่กับการดมกลิ่นสารเคมี

จากการตรวจสอบพบว่า โรงงานแห่งนี้ ได้นำวัตถุอันตรายปริมาณมากมาไว้ในครอบครอง ทั้งที่การครอบครองวัตถุอันตรายเหล่านี้ ควรจะมีใบอนุญาตประกอบกิจการรีไซเคิล (106) หรือประกอบกิจการกำจัดวัตถุอันตราย (101) แต่ก็ไม่มี  โรงงานแห่งนี้ มีเพียงใบอนุญาตบดอัดกระดาษ (40) และใบอนุญาตหล่อหลอมโลหะ (60) แต่กลับไม่มีวัตถุดิบตามใบอนุญาต มีแต่ของเหลวที่เป็นน้ำมันและกองกากตะกอนน้ำมัน ซึ่งเป็นกากที่ใช้ไม่ได้แล้ว ซึ่งไม่ควรมี มีไม่ได้ด้วย ของเหลวที่เป็นน้ำมันและกองกากตะกอนน้ำมัน คือสิ่งที่ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า เป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดมลพิษและกลายเป็นน้ำเสียไหลออกมาสร้างผลกระทบกับพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน

นายเทียบ สมานมิตร ต้องสูญเสีย สวนยางประมาณ 30 ไร่  เล่าว่า ต้นยางยืนต้นตาย และ พื้นดินมีน้ำเสียซึมขึ้นมา รวมถึงบ่อน้ำที่ใช้ทำการเกษตรมีสีดำและส่งกลิ่นเหม็น ทำให้พื้นที่ดังกล่าว ไม่มีมูลค่า ซึ่งน้ำเสียที่เกิดขึ้นนี้ มีหลังจากโรงงานสร้างขึ้นขึ้น ประมาณปี 2554

“ที่ดินของพ่อของแม่ให้มาใช้ทำมาหากิน เสียหายตั้งแต่โรงงานมาตั้ง ต้นยางก็ตายเราก็ลำบาก ใครเขาจะมาซื้อที่ดินที่มีมลพิษแบบนี้ หน่วยงานไหนจะมารับผิดชอบ” นายเทียบกล่าว

ไม่ใช่เพียงพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านเท่านั้น เพราะ แหล่งน้ำสาธารณะของชาวบ้าน ก็ได้รับผลกระทบ สัตว์น้ำและพืชผักตายหมด วิถีชีวิตเปลี่ยนได้ เดิมหนองน้ำแห่งนี้ทุกเย็นจะเป็นจุดรวมของชาวบ้าน เด็กมักมาเล่นน้ำ ส่วนผู้ใหญ่มาผักปลา ตามวิถีชุมชน

ชาว"หนองพะวา"สงสัย"วิน โพรเสส"ลอบขนวัตถุอันตรายออก

2 ก.ค.63  เมื่อเป็นข่าว เจ้าของโรงงานวินโพรเสส นายโอภาส บุญจันทร์  พาทีมข่าวลงดูภายในโรงงานเพียงบางส่วน แต่ไม่ให้ดูบริเวณอาคารที่เก็บกากอุตสาหกรรมและวัตถุอันตราย ชี้แจงว่า น้ำเสียที่อยู่รอบโรงงานก็ไม่ได้เกิดจากโรงงาน แต่เกิดจาก เมื่อปี 2560 อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง สั่งปิดทางน้ำ ทำให้พื้นที่ที่ต่ำกว่าถูกน้ำ ฝนชะของเสียที่อยู่นอกโรงงาน ท่วมพื้นที่การเกษตรชาวบ้าน ส่วนสวนยางพาราของนายเทียบ ถูกน้ำท่วมและมีสีดำส่งกลิ่นเหม็น

ชาวบ้าน ชี้ 2 กระทรวง “อุตฯ-ทรัพยากร” ต้องร่วมมือสอบ “วิน โพรเสส”

นักวิชาการแนะชาวบ้านฟ้องจนท.รัฐ ม.157 ปมโรงงานปล่อยน้ำเสีย

นายโอภาสตอบสั้นๆ ว่า ไม่รู้ แต่ไม่ใช่น้ำจากโรงงาน หากชาวบ้านคิดว่าใช่ ก็ต้องมีผลตรวจทางวิทยาศาสตร์ พร้อมประกาศยกเลิกกิจการ แต่ไม่รับผิดชอบความเสียหาย เพราะยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากโรงงานตนเอง

“สุริยะ” สั่ง เอาผิด “วินโพรเสส” ขู่ หากไม่คืบ ลงพื้นที่เอง

ส่วนการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐ ล่าสุด 30 ตุลาคม 2563 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นำเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจพื้นที่โดยรอบ ก่อนประชุมกับชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อสั่งการในที่ประชุม

1. เร่งกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเสียโรงงาน โดยใช้ผลการตรวจสอบคุณภาพของน้ำและดิน

2.การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ควบคู่ไปกับประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยด้านสารเคมี เพื่อเร่งฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรง งาน

3.เรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

4.ให้แหล่งกำเนิดมลพิษเร่งเข้าเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบและหยุดการรั่วซึมของน้ำเสีย

5.ชงเรื่องให้ ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพราะนายอถรรพลตั้งข้อสังเกตว่า กิจการของโรงงานอาจจะเป็นการฟอกเงิน

ป.ป.ท.จ่อ เช็กบิล ขรก.เอี่ยวโรงงานวิน โพรเสส

“หากบริษัทไม่ช่วย ผมจะนำเดินการขั้นต่อไป ผมพยายามติดต่อคุณโอภาส แต่ไม่ให้ความร่วมมือ ชาวบ้านเขาเสียหาย แล้วมาบอกว่าจะขนของเสียออกไป มันต้องใช้เงินเป็น ร้อยๆล้าน เจ้าของเขาจะทำจริงหรือไม่ แต่เขาต้องรับผิดชอบ ผมจะใช้กฎหมายอาญาและแพ่ง และผมจะใช้ พ.ร.บ.ฟอกเงินด้วย ผมจะยอมให้ปิดโรงงานแล้วหนีไปเด็ดขาด” นายอรรถพล กล่าว

แม้หน่วยงานรัฐจะกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ ชาวหนองพะวา แต่พวกเขาก็ยังเดินหน้าหาความเป็นธรรมให้ตัวเองต่อไป โดยมีคำถามถึง กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่า โรงงานไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่จะสามารถมีของเสียอันตรายไว้ในครอบครองได้เลย ไม่มีเครื่องจักรอะไรที่จะเดินเครื่อง ผลกระทบมันจึงไม่ได้เกิดจากการเดินเครื่องของโรงงาน แต่ผลกระทบมันเกิดจากการนำของเสียอันตรายมาทิ้ง ดังนั้นการที่อุตสาหกรรม จ.ระยอง สั่งปิดโรงงานไม่ได้ช่วยลดผลกระทบ  เพราะผลกระทบไม่ได้เกิดจากการเดินเครื่องจักรหรือท่อน้ำเสียอะไร มันเกิดจากการปล่อยให้พื้นที่นี้เป็นถังขยะ เป็นจุดนำวัตถุอันตรายมาทิ้ง 

เมื่อไม่มีใบอนุญาต แต่มีวัตถุอันตรายอยู่เต็มโรงงาน  เข้าข่าย ลักลอบทำใช่หรือไม่ ยังเป็นคำถาม

ของเสียอันตรายเหล่านี้ มาจากไหน การที่โรงงานแบบนี้ ตั้งอยู่นาน 10 ปี สร้างผลกระทบเสียหายให้ชุมชน  ของเสียอันตรายมาทิ้งมากมาย ขนาดนี้ เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ไม่รู้เห็นหรือ  หรือตรวจสอบไม่พบได้อย่างไร เป็นคำถามที่ต้องตอบ!!

ชาวบ้าน ขอ อุตฯระยอง ลงดาบ “วินโพรเสส”จริงจัง

  • เหมืองอัครา : เดิมพัน 2 หมื่นล้านที่ยังไม่มีข้อสรุป

เรื่องราวของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด หรือที่คนมักเรียกกันติดปากว่า “เหมืองอัครา” กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอีกครั้งหลังปลายเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่เอกสารงบประมาณปี 2564 ตั้งงบค่าใช้จ่ายราว 111 ล้านบาท สำหรับสู้คดีที่ บริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดเต็ด จำกัด สัญชาติออสเตรเลีย ต้นสังกัด บมจ.อัคราฯ ฟ้องร้องกับอนุญาโตตุลาการเรียกค่าเสียหายรัฐบาลไทย 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยราว 22,672 ล้านบาท เมื่อช่วงปลายปี 2560

เปิดใจ กรรมการบริษัทอัคราฯ เชื่อ หากรัฐไม่ใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองไม่ได้

การฟ้องร้องของ บมจ.คิงส์เกทฯ นั้น สืบเนื่องจากวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งที่ 72/2559 ให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำต้องระงับการประกอบกิจการ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2560 เป็นต้นไป หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านมาตั้งแต่ปี 2550 ว่าการทำเหมืองแร่ใน จ.พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ของ บมจ.อัคราฯ ทำให้มีชาวบ้านล้มป่วยจำนวนมากจากโลหะหนักที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำและอากาศ ประเด็นที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกวิจารณ์ คือการตั้งงบประมาณสู้คดีหลักร้อยล้านบาท ขัดแย้งกับที่เคยกล่าวในที่ประชุม ครม. หลังถูกฟ้องคดีว่า “ผมรับผิดชอบเอง”

บ.คิงส์เกตฯ เจรจาไทยต่อรองปิดเหมืองทองอัครา

ป.ป.ช.พบเส้นทางการเงิน"สินบน"คดีเหมืองอัครา

เอกสารงบประมาณต่อสู้คดีที่ถูกเปิดเผยขึ้นมา ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงการใช้กฎหมาย ม.44 สั่งปิดเหมืองอีกครั้ง ว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่

ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม มองว่าการสั่งปิดเหมืองทำให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้าน แต่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ พลาด คือการเลือกใช้ ม.44 ที่ต่างชาติไม่ยอมรับ แทนที่จะใช้ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีอำนาจเรื่องนี้โดยตรง

“กรณีนี้ถ้าเราใช้กฎหมายภายใน คือ พ.ร.บ.แร่ มันมีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วว่าการประกอบกิจการทำเหมืองแร่มีผลกระทบกับประชาชนรอบเหมืองจริง ๆ แม้ศาลจะยังไม่มีการพิสูจน์ว่าการประกอบกิจการของเหมืองแร่ก่อให้เกิดการรั่วไหลแพร่กระจายของมลพิษ แต่ข้อมูลเหล่านี้มีเพียงพอในการใช้ พ.ร.บ.แร่ ในการออกคำสั่งปิด”

ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม

(ให้สัมภาษณ์ 31 สิงหาคม 2563)

ขณะที่ นายสิโรจน์ ประเสริฐผล กรรมการ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกใช้ ม.44 ในสั่งปิดเหมือง เพราะหลักฐานที่ว่าเหมืองแร่ทองคำชาตรีส่งผลกระทบด้านสุขภาพ ไม่มากพอที่จะใช้ปกหมายปกติดำเนินการ

“ตามกฏหมายแล้ว​ หากบริษัทฯ​ ดำเนินธุรกิจด้วยความไม่รับผิดชอบ​ หรือขัดต่อกฏหมาย​ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ​ และสิ่งแวดล้อมต่อคนในชุมชนจริง​ รัฐบาลสามารถสั่งให้บริษัทฯ​ หยุดดำเนินการได้ แต่ข้อเท็จจริงคือ​ เหมืองแร่ทองคำชาตรี​ ไม่ได้ดำเนินกิจการที่ขัดต่อกฏหมายหรือสร้างผลกระทบด้านสุขภาพ​และสิ่งแวดล้อม แต่ดำเนินงานทุกขั้นตอนด้วยความรับผิดชอบ​ ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ​อย่างใกล้ชิด​​ ดังนั้น หากใช้กฏหมายปกติ​​ รัฐก็ไม่มีเหตุผลใดในการสั่งปิดเหมือง​”

สิโรจน์ ประเสริฐผล กรรมการ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ชี้แจงเป็นข้อความกับผู้สื่อข่าวพีพีทีวีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563

ปัจจุบันรัฐบาลไทยอนุมัติงบประมาณต่อสู้คดีเหมืองแร่ทองคำชาตรีแล้ว 389 ล้านบาท ในปี 2562-2564 ขณะที่ความคืบหน้าคดี มีการเรียกผู้เกี่ยวข้องไต่สวนในกระบวนการอนุญาโตตุลาการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบเอกสาร แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำตัดสิน กระบวนการอนุญาโตตุลาการเปิดทางให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเจรจากันได้

ปลายปีที่ผ่านมา บริษัทในเครือของ บมจ.อัคราฯ ได้ยื่นขออาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำในหลายพื้นที่ เช่น จ.จันทบุรี ขอสำรวจ 14,650 ไร่ จ.เพชรบูรณ์ ขอสำรวจ 448,216 ไร่ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่ ขณะที่นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ยืนยันว่าการเปิดให้ บมจ.อัคราฯ ยื่นคำขอ เป็นไปตามกระบวนการปกติ ไม่ได้มีแผนให้สำรวจแร่เพื่อไกล่เกลี่ยคดีเหมืองแร่ทองคำชาตรี

รัฐบาลเตรียมรับมือ บ.อัครา ฟ้อง สั่งปิดเหมือง

“การที่ บมจ.อัคราฯ มาเดินเรื่องใหม่ มีมติของคณะกรรมการแร่แห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งให้สิทธิผู้ประกอบการทุกรายกลับมาเดินเรื่องใหม่ได้หมด เปิดโอกาสให้กันมาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทำตอนนี้” วิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ให้สัมภาษณ์ 8 ตุลาคม 2563)

แม้ไม่มีสัญญาณชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลถึงการไกล่เกลี่ยเรื่องนี้ แต่ในวันที่ 10 กันยายน 2563 บจก.คิงส์เกทฯ ออกแถลงการณ์ว่าได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยให้นำตะกอนทองและเงินในเหมืองแร่ทองคำชาตรี มูลค่าราว 14 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือราว 320 ล้านบาท ไปขายให้กับโรงงานได้ ซึ่งในแถลงการณ์ระบุว่า “เป็นก้าวเล็ก ๆ แต่เป็นสัญญาณที่ดีในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลไทย”

ถ้าเป็นไปตามกรอบเวลาปกติ คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการน่าจะมีผลออกมาช่วงต้นปี 2564 นี้ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลให้กระบวนการตัดสินล่าช้าขึ้น สุดท้ายแล้วรัฐบาลไทยจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ บจก.คิงส์เกทฯ 22,672 ล้านบาท หรือไม่ เป็นคำถามที่ยังไม่มีใครตอบได้ สิ่งที่ทำได้คือคาดหวังว่าเงิน 389 ล้านบาทที่ใช้สำหรับการต่อสู้คดีจะคุ้มค่า และทำให้เราไม่ต้องเสียเงินหลายหมื่นล้านให้กับบริษัทต่างชาติ แทนที่จะได้นำงบประมาณส่วนนี้มาใช้ประโยชน์ภายในประเทศ

“เสรีพิศุทธ์”จี้“ประยุทธ์”รับผิดชอบปมใช้ ม.44 ปิดเหมืองทองอัครา

 

 

Bottom-PL-24 Bottom-PL-24

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ