รองเลขาฯแพทยสภาเปิดปัญหาปริมาณแพทย์กับการปฏิรูประบบสาธารณสุข


โดย PPTV Online

เผยแพร่




"พล.อ.ต.นพ.อิทธพร" รองเลขาธิการแพทยสภาเปิดปัญหาปริมาณแพทย์กับการปฏิรูประบบสาธารณสุข

 

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา และตุลาการศาลทหารกลาง กระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก Ittaporn Kanacharoen ตั้งคำถามถึงปริมาณแพทย์ ปัญหาบุคลากรกับความท้าทายของการปฏิรูประบบสาธารณสุขยุคปัจจุบัน แจงล้วนเป็นประเด็นที่น่าสนใจของรัฐบาล โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุข คุณภาพแพทย์ และการปรับระบบสาธารณสุขให้เข้ากับยุคดิจิทัล ทุกเรื่องล้วนเป็นเรื่องน่าคิด ข้อความมีดังต่อไปนี้ Ittaporn Kanacharoen

 

‪#‎เรื่องน่าคิดตอนที่‬ 1 : สถิติจำนวนแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนกับแพทยสภา กับปัญหาวันนี้

 

เพราะมีคนลงสถิติที่คลาดเคลื่อนบ่อยๆ ..ผมเลยขอเอาเลขจริงมาให้ดูครับ..พอดูแล้วขอ comment ด้วยเลย ‪#‎คำเตือน‬ : เรื่องยาวครับ

 

1.จำนวนแพทย์กลางปีผ่านมา 52,286คน (2558)

 

2.จำนวนแพทย์ที่มีชีวิต 50,492 คน (มิย.58)
โดยมีนักศึกษาจบใหม่ปีละ 2,600-2800 คนต่อปี
คิดประชากร 65.125 ล้านคน ตามประกาศทะเบียนราษฎร์
ลงใน ราชกิจจานุเบกษา http://bit.ly/1MIgUcq

 

3.สัดส่วนแพทย์มีชีวิตปัจจุบัน มีใบอนุญาต และอยู่ในประเทศ 47,293 คน
3.1 แพทย์ 7.26 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน หรือ
3.2 แพทย์ 1 คน ต่อ ประชากร 1,377 คน

 

4.จำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 30,650 คน (80สาขา โดย1คนอาจมากกว่า1ใบ)
4.1 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 4.71 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน หรือ
4.2 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 1 คน ต่อ ประชากร 2,124 คน

 

5.ประมาณการปี 2020
5.1 จำนวนแพทย์ ประมาณ 58,000 คน (จาก21คณะแพทย์ และ ต่างประเทศ)
5.2 ประชากรไทย ประมาณการ 67 ล้านคน
5.3 แพทย์ 8.65 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน หรือ
5.4 แพทย์ 1 คน ต่อ ประชากร 1,155 คน

 

6. แพทย์ที่อยู่ในภาคเอกชนมีรายงานเมื่อปี พ.ศ.2555
http://bit.ly/1Ls22wP

6.1 แพทย์ประจำในภาคเอกชน 6,442 คน (12% แพทย์ทั้งหมด)
6.2 แพทย์ บางช่วงเวลาในเอกชน (นอกเวลา) 15,996 คน (31.6%แพทย์ทั้งหมด ส่วนใหญ่ทำงานในราชการ)

6.3 ข้อมูลแพทย์สภาพบแพทย์ที่เกษียณแล้ว 5,802 คน และที่ยังไม่เกษียณ 41,491 คน

6.4 ประมาณการแพทย์ในระบบรัฐ ราว 34,000 คน (เอกชนราว 7,000 คน)

 

แพทย์ภาครัฐ 34,000 คน แบ่งเป็นทำงานใน สธ.1(สำนักปลัด-ต่างจังหวัด 16,682คน ส่งเรียน 2,539คน http://203.157.240.14/gis/main/ ) สธ.2 (ส่วนกลางและกรมอื่นๆ) มหาวิทยาลัย(ศธ. 20แห่ง) กห.(3เหล่าทัพ) ตร. กทม. ท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และ รัฐอื่นๆ..และในรูปแบบแพทย์ประจำบ้าน และ แพทย์ประจำบ้านต่อยอดอีกราว 6,000 คน (มีทั้งข้าราชการและทุนอิสระ)

 

7.การผลิตแพทย์ ผ่าน โรงเรียนแพทย์ปัจจุบัน 2,800 คนต่อปี (เรียน6ปี) โดยเป็น โรงเรียนแพทย์ของรัฐบาล 2,630 คนต่อปี และ เอกชน 170 คนต่อปี (ปีนี้มีปัญหา มหาวิทยาลัยสยามที่ดูแล 50คนต่อปี งดรับชั่วคราว อาจมีผลให้ลดลง 50คนในอีก 6 ปีข้างหน้า) และมีต่างประเทศมาสมัครสอบปีละ มากกว่า100 คน การมีหมอมากขึ้นย่อมดีแน่ๆ..

 

‪#‎ประเด็นที่น่าสนใจจากตัวเลขคือ‬

 

1.คนเพิ่มกระทบการวางแผนบรรจุข้าราชการ ที่เพิ่มปีละ1,800-2,000 คน (จากที่จบ 2,800 คน) การกระจาย การกลับมาเรียนต่อ น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของระบบ สาธารณสุขไทย ในยุคมีตำแหน่งข้าราชการและงบประมาณจำกัด ขณะที่จริงๆยังขาดแคลนบุคลากร ไม่ใช่เพียงแต่แพทย์ ยังรวมถึง "พยาบาล"ที่สถานะการณ์หนักกว่ามาก..จะวางระบบอย่างไร?

 

2.คนเพิ่มกระทบ งบประมาณค่าตอบแทน กรณีแพทย์จบใหม่ กระทรวงสาธารณสุขต้องเตรียมตำแหน่งบรรจุบุคลากรแพทย์ใหม่ ถ้ารับปีละ ราว 2,000 คน เฉลี่ยค่าตอบแทนราว 50,000 บาทต่อคนต่อเดือน (เงินเดือน 19,150 บาท ค่าเวร 25,000 บบาท +ค่าเบี้ยกันดาร +พตส.+รพช. รวมราว 50,000-80,000บาท สธ.ต้องจ่ายเพิ่มปีละราว1,200 ล้านบาท (ของจริงสูงกว่านี้) ใน 5 ปีเพิ่มเป็นปีละ 6,000 ล้านบาท โดยยังไม่นับ พยาบาล และวิชาชีพอื่นที่ต้องทำงานด้วยกัน จะดำเนินการได้อย่างไร? หรือลด หรือ ยกเลิกใช้ทุน?

 

3.คนลาออก! ปัญหาการลาออกของแพทย์ใช้ทุนเพื่อกลับมาเรียน ทั้ง ODOD และ CPIRD ทั้งที่รัฐจ่ายค่าตอบแทนสูง ให้มากกว่าเดิมมาก แต่หมอต้องการเรียนมากกว่า ..ลาออกและยอมใช้ทุนเป็นล้าน ทั้งที่คิดว่าไม่ควรมี กลับเริ่มมีให้เห็นในปีนี้ จะทำอย่างไร?

 

4.ปัญหาเร่งผลิต เอาใจสถิติ หากเอาตัวเลข WHO มาเพิ่มสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร ให้เท่าทันประเทศที่เจริญแล้วจะเป็นโจทย์ใหญ่..วันนี้เราเร่งผลิตแพทย์มาก จนน่าเป็นห่วงเรื่องคุณภาพ และพบมีปัญหาตามมาหลายแบบ ทั้งในหลักสูตรปกติ และโครงการเพื่อชาวชนบท อาทิ การรับเด็ก ODOD ที่บังคับห้ามเรียนต่อพร้อมเพื่อนโดยน้องๆไม่เข้าใจตอนสมัคร ต้องมาลาออกภายหลัง การที่เด็กไทยส่วนหนึ่งที่เป็นคนเก่งมีความรู้ดี แยกไปเรียนอินเตอร์ แต่สอบเข้าแพทย์ไทยไม่ได้ ต้องไปต่างประเทศ จนบางคนประสบปัญหาปรับตัวต้องretire หรือกลายเป็นแพทย์ในต่างประเทศไม่กลับไทยเลย ซึ่งทำให้ตัวเลือกเข้าเรียนมีน้อยลง สวนกับความต้องการประเทศที่ต้องการเก็บคนเก่งไว้..เป็นต้น น่าคิดว่าทิศทางของกำลังพลสาธารณสุขภาครัฐ ว่าจริงๆแล้วควรจะเป็นอย่างไร?

 

5.ปัญหาการจัดการบุคลากร ที่ ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขต้องการแยกจาก กพ. มาเป็น กสธ.เพื่อจัดการระบบบุคลากรด้วยตนเอง จะเอาอย่างไร?

 

6.ข้อเสนอการแยกงบประมาณบุคลากรออกจากงบรักษาพยาบาลของ สปสช. จะมีประโยชน์ไหม เป็นไปได้ไหม?

 

7. จากข้อขัดแย้ง แพทย์กับ เครือข่ายผู้ป่วย เพราะปัญหาความผิดพลาดภาครัฐ ส่วนหนึ่งจากความขาดแคลนแพทย์ พยาบาล ของรัฐทำให้ ภาระงานที่หนัก นำไปสู่การพลาดในการทำงาน จนบุคลากรถูกฟ้องร้อง และเครือข่ายฯเรียกร้องการคุ้มครองผู้เสียหาย ในการออกกฎหมายตั้งกองทุนใหม่ จะเห็นอย่างไร และจะทำอย่างไร? แก้ต้นเหตุก่อน เรื่องให้คน พอเพียงจะเป็นไปได้ไหม?

 

8.ปัญหาการขยายตัวของ คลินิกความงาม หมอต่างชาติมาไทย หมอเถื่อน และ การบริการต่างชาติใน medical hub หลัง AEC ในสภาวะสังคมยุคใหม่ที่ไร้พรมแดน ที่ทั้งแพทย์ และคนไข้เป็นประชากรโลก ข้ามแดนถึงกันได้หมด ควรวางนโยบายอย่างไร? ให้เกิดประโยชน์ลงตัวร่วมกัน และคุ้มครองประชาชน

 

9.การปรับระบบสาธารณสุข กำลังคน วิธีการทำงาน ให้เหมาะสมกับประชาชนยุคใหม่ Digital Humanity ที่อยู่ในโลกชีวิตจริง และโลกเสมือนของ Cyber พร้อมๆกัน ความกว้างไกล รวดเร็ว มีข้อมูลหลากหลาย และ บนพาวเวอร์ของการแชร์ ดังตัวอย่างมีทั้ง ความรู้ และโรคต่างๆที่แชร์กัน ทั้งถูกและผิด การร้องเรียน ถึงการชื่นชม ซึ่งเรื่องทางสาธารณสุข มีเกิดขึ้นรายวัน ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาบุคลากร...และการเข้าสู่สังคมดิจิตอลระยะที่สอง ระบบจะดำเนินการอย่างไร?

 

...นั่นเป็นความท้าทายของการปฏิรูประบบสาธารณสุข ในยุคปัจจุบัน ที่มองเห็นจากตัวเลขบุคลากรที่มี และอนาคตที่จะมาโยงไปถึง ทุกเรื่องผมคิดว่าล้วนเป็นประเด็นน่าสนใจของรัฐบาลวันนี้ครับ

 

 

 

 

ทั้งนี้ประเด็นปัญหานี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ทีมข่าว "PPTV HD" จะติดตามและนำเสนอต่อไป

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ