​11 ปี อุ้มฆ่าทนายสมชาย ไร้ศพ ไร้ความยุติธรรม เหลือเพียงความว่างเปล่า โดยพุทธิฉัตร จินดาวงศ์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




"ปิดฉากเส้นทางต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม กว่า 11 ปี ด้วยผลลัพท์ที่ไม่เกินความคาดหมาย แต่กลับทำให้หัวใจของคนจำนวนมาก ดำรงอยู่อย่างไร้ความหวัง"


อาจจะเป็นการให้นิยาม คดีการหายตัวของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ด้วยประโยคสั้นๆ ที่หลักกฎหมาย และเทคนิคทางต่อสู้คดี คงไม่อาจอธิบายได้ เพราะนี่คือภาวะทางอารมณ์ของคนส่วนใหญ่ที่ติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบรรดานักสิทธิมนุษยชนทั้งของไทยและนานาประเทศ ที่เกิดขึ้นหลังสิ้นเสียงอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ภายในห้อง 809 อาคารศาลอาญารัชดา เมื่อช่วงเช้า (29 ธ.ค. 58) ที่ผ่านมา


ภาวะทางอารมณ์ของคนนอกที่ว่าแย่ คงไม่ถึงเศษเสี้ยวของความรู้สึกในใจของทั้งนางอังคณา นีละไพจิต ภรรยาทนายสมชายและลูกสาว ที่ยังคงเดินทางมาเผชิญหน้ากับผลลัพท์ที่พอจะคาดการณ์ได้



บทสรุปคดีนี้ที่ลงเอยด้วยการยกฟ้อง ชำระมลทินให้กับนายตำรวจ 5 คนที่ตกเป็นจำเลย และยกคำร้องขอเป็นโจทก์หรือผู้เสียหายร่วมในคดีของอังคณา นีละไพจิตรและลูกสาว อาจทำให้ครอบครัวของทนายสมชายและคนรอบข้างเจ็บช้ำ แต่หากพิจาณารายละเอียดจากคำพิพากษา นับว่ามีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง ที่ทำให้รู้ว่า การอุ้มฆ่า น่าสะพรึงกลัวเพียงใด?


ประเด็นแรกที่ศาลฎีกาพิจารณา คือ คำร้องขอเป็นโจทก์และผู้เสียหายร่วมของ อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาและลูกสาวของทนายสมชาย ประเด็นนี้ในทางคดี แม้จะไม่มีผลต่อการพิจารณาความผิดของจำเลย แต่การยกคำร้องและมีคำอธิบายตามวิธีการพิจารณาความอาญาว่า สถานะทางกฎหมายของทนายสมชายยังไม่ใช่ผู้เสียชีวิต ที่ไม่สามารถเดินทางมาต่อสู้คดีด้วยตัวเอง ก็อาจเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ ที่ หากใครถูก อุ้มฆ่า นับจากนี้ญาติพี่น้องจะไม่มีสิทธิลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมแทนได้



นอกจากนั้นวิธีการพิจาณาความผิดของจำเลยในคดีนี้ ยังสะท้อนให้เห็นว่า การรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นสอบสวน นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถเอาผิดจำเลยทั้ง 5 คน ล้วนเป็นเพราะความบกพร่องในขั้นตอนนี้


โดยเฉพาะหลักฐานชิ้นสำคัญอย่างแผนผังแสดงข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของกลุ่มจำเลยทั้ง 5 คน ในวันที่ทนายสมชายหายตัวไป แม้จะปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีการติดต่อกันในหมู่กลุ่มคนที่ตกเป็นจำเลย มากถึง 75 ครั้ง และพิกัดการใช้โทรศัพย์อยู่ในเส้นทางเดียวกับการเดินทางของทนายสมชายตลอดวันนั้น แต่กลับกลายเป็นเพียงหลักฐานที่มีสถานะไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นเพียงสำเนา และไม่มีการเซ็นรับรองจากผู้เชี่ยวชาญของบริษัทที่ให้บริการ


คำถามสำคัญคือ พนักงานสอบสวนที่มีประสบการณ์ พลาดเรื่องง่ายๆอย่างนี้ได้อย่างไร?


อย่างไรก็ตาม ถ้าหลักฐานเหล่านี้สมบูรณ์ การต่อสู้ในทางคดีก็ยังต้องเจอกับช่องโหว่ของกฎหมาย ที่ไม่สามารถเอาผิดจำเลยในคดีอุ้มฆ่า ฐานฆาตกรรมได้ เนื่องจากเป็นลักษณะเฉพาะของคดีลักษณะนี้ที่ไม่มีทางจะหาศพมาเป็นหลักฐานตามข้อกำหนดของกฎหมายอาญาได้เลย



แม้ตลอดเส้นทางต่อสู้ในคดีนี้ของนางอังคณา นีละไพจิตร จะสามารถผลักดันให้ไทยลงนามในอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลมิให้ถูกบังคับให้สูญหายขององค์การสหประชาชาติได้ ซึ่งจะมีผลผูกพันให้ไทยต้องปรับแก้กฎหมายอาญาให้สามารถเอาผิดกับจำเลยคดีอุ้มฆ่าฐานฆาตกรรมได้ แม้ไม่พบศพ และจำเป็นต้องตั้งองค์กรกลางมาทำหน้ารวบรวมหลักฐาน เพราะคดีลักษณะมักมีเจ้าหน้ารัฐอย่างตำรวจและทหารเป็นจำเลย แต่ผลในทางปฏิบัติทั้งหมด ยังคงไม่มีความคืบหน้า แม้แต่น้อย


หรือเราจะนิ่งเฉย ก้มหน้า ปล่อยความเจ็บช้ำที่ยาวนานกว่าทศวรรษของผู้หญิงคนหนึ่ง สูญเปล่า!


โดย: พุทธิฉัตร จินดาวงศ์ ผู้สื่อข่าว PPTV HD

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ