โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนกลายเป็นเหมือนอวัยวะชิ้นที่ 33 ของใครหลายคน เพราะตอบโจทย์ผู้ใช้ให้เข้าถึงสังคมออนไลน์ หลายคนมองว่า โลกโซเชียลคือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน อย่างเช่นปรากฏการณ์ติดแฮทแท็กไลน์ล่มระบมใจ หลังแอพพลิเคชันไลน์ใช้งานไม่ได้ในเวลาสั้นๆ นักวิชาการด้านเทคโนโลยีมองว่าปัจจัยที่ทำให้คนเสพติด เกิดจากผู้ใช้รู้สึกมีตัวตนบนโลกการสื่อสารไร้พรมแดน ประกอบกับคนรอบข้างที่ต่างก็ใช้ จึงเสมือนเป็นการบังคับโดยอ้อมให้ทุกคนต้องรับรู้ความเคลื่อนไหว หากไม่ต้องการตกข่าว
เมื่อแนวโน้มการเสพติดโซเชียลเริ่มรุนแรงจนส่งผลต่อสุขภาพจิตมากขึ้น ทำให้องค์การอนามัยโลกเตรียมประกาศขึ้นทะเบียนอาการติดโซเชียลเป็นโรคทางจิตเวชภายใน 1-2 ปี โดยระบุว่าหากใครใช้งานโซเชียลติดต่อกันเกิน 3 ชั่วโมง โดยไม่พัก ถือเป็นอาการเริ่มต้น ผู้ใช้หลายรายเผยว่าแต่ละวันใช้งานสื่อโซเชียลหลายชั่วโมง และยอมรับว่าบางครั้งก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน แต่ไม่เชื่อว่าแค่ติดโซเชียลจะถึงขั้นเข้าข่ายโรคจิตเวช
แม้องค์การอนามัยโลกจะยังไม่ประกาศชัด แต่นักวิชาการด้านเทคโนโลยีที่มองว่าถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้คนหันมาตระหนักว่า ตัวเองเล่นโซเชียลเกินความพอดีหรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขว่าองค์การอนามัยโลกจะต้องกำหนดเกณฑ์ให้ชัด ว่าแค่ไหนถึงเรียกว่าเข้าข่ายอาการจิตเวช
หลายคนมองว่าระยะเวลาการใช้อาจไม่ใช่ตัวแปรสำคัญที่จะตัดสินได้ว่า เป็นอาการติดโซเชียลหรือไม่ เพราะตอบไม่ได้ว่าใช้เพราะความจำเป็นหรือใช้เพราะติด จึงอยากให้องค์การอนามัยโลกกำหนดนิยาม หรืออาการติดโซเชียลให้ชัดก่อนประกาศว่าใครเข้าข่ายอาการทางจิตเวช
สุวิช เพียรพานิชสกุล ถ่ายภาพ
ปรารถนา พรมพิทักษ์ รายงาน