วันนี้ (4 ก.ย. 59) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป่าสักโมเดลบนพื้นที่กว่า 600 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ห้วยกระแทกจังหวัดลพบุรี โดยเปลี่ยนจากพื้นที่นารกร้างมาเป็นหลุมขนมครกขนาดใหญ่ที่ไว้ใช้เพื่อกักเก็บน้ำเพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ อุปโภค-บริโภค ในยามหน้าแล้ง และยังสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากฝนตกหนัก เพื่อกันไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดลพบุรี ตลอดจนพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและกรุงเทพมหานคร
โดย นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เปิดเผยกับทีมข่าวว่าป่าสักโมเดลแห่งนี้ได้นำศาสตร์ของพระราชามาทำเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำ แบ่งเป็นการจัดการน้ำในพื้นที่ราบลุ่มออกแบบให้เป็นโคกหนองนาโดยขุดหนองน้ำเพื่อใช้กักเก็บน้ำ เเละนำดินที่เหลือจากการขุดมาถมเป็นที่สูงหรือเรียกว่าโคกสร้างที่อยู่อาศัยและปลูกพืชผลผลิตทางการเกษตร
และอีกหนึ่งวิธีในการจัดการน้ำบนที่ราบสูงโดยเปลี่ยนเขาหัวโล้นให้เป็นเขาหัวจุก โดยทำพื้นที่หนองน้ำบนที่ราบสูงขุดนาป็นขั้นบันได และขุดคลองไส้ไก่เพื่อให้น้ำไหลได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ป่าสักโมเดลได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อที่จะทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษาการบริหารการจัดการน้ำอย่างถูกวิธีเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับสภาพของแต่ละพื้นที่เพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยเเล้งและน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน