ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีของครูเกษียณอายุราชการรายหนึ่งใน จังหวัดอ่างทอง ถูกหญิงสาวแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร โทรศัพท์เข้ามาแจ้งว่ามีเงินค้างจ่ายบัตรเครดิต พร้อมกับมีชายที่แอบอ้างเป็นตำรวจปราบปรามการฟอกเงิน ข่มขู่ให้ทำตามคำบอก ไม่เช่นนั้นจะดำเนินคดีและอายัดบัญชีทั้งหมด ทำให้ครูเกษียณอายุราชการต้องรีบไปกดตู้เอทีเอ็มที่เป็นเมนูภาษาอังกฤษ โดยทำตามคำบอกทั้งหมดผ่านทางโทรศัพท์ แต่กลับพบว่าเป็นการโอนเงิน หลังจากกดไปแล้ว 5 ครั้ง สุดท้ายโทรศัพท์ถูกตัดสายและติดต่อไม่ได้
ทีมข่าวนิวมีเดีย PPTV ได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับกลโกงทางโทรศัพท์ จากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้เกิดความเข้าใจ รู้เท่าทัน และป้องกันไม่ให้มีผู้หลงตกเป็นเหยื่อให้กับมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พบว่า มิจฉาชีพจะสุ่มเบอร์เพื่อโทรศัพท์ไปหาเหยื่อ และแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ หลอกให้เหยื่อทำรายการที่ตู้เอทีเอ็มเป็นเมนูภาษาอังกฤษ ซึ่งมิจฉาชีพอาศัยความกลัว ความโลภ และความรู้ไม่เท่าทันของเหยื่อ โดยข้ออ้างที่มักใช้หลอกเหยื่อ อย่างแรกคือ บัญชีเงินฝากถูกอายัดหรือหนี้บัตรเครดิต จะสามารถสร้างความตกใจและชักจูงให้เหยื่อโอนเงินได้ง่าย
ขณะเดียวกัน ยังอ้างถึงบัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน โดยจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดมาตรวจสอบ รวมถึง เงินคืนภาษี มิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าสรรพากร หลอกให้เหยื่อรับภาษีคืน ซึ่งจะต้องยืนยันผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือการออกอุบาย โชคดีรับรางวัลใหญ่ หลังจากหลอกสำเร็จแล้ว จะให้เหยื่อโอนเงินค่าภาษีให้ และการล้วงข้อมูลส่วนตัวหาย มิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน หลอกถามข้อมูลส่วนตัว แล้วนำไปปลอมแปลงเอกสารทางการเงินของเหยื่อนั้นเอง
นอกจากนี้ เมื่อเกิดการโอนเงินผิด หลังจากมิจฉาชีพมีข้อมูลของเหยื่อมากพอแล้ว จะโทรศัพท์ไปยังสถาบันการเงินที่เหยื่อใช้บริการ เพื่อขอรับการอนุมัติใช้เงินสินเชื่อผ่านทางโทรศัพท์ เมื่อสถาบันการเงินโอนเงินสินเชื่อเข้าบัญชีเงินฝากของเหยื่อแล้ว มิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปหลอกเหยื่อโดยอ้างว่าโอนเงินผิด เพื่อให้เหยื่อโอนเงินไปให้มิจฉาชีพ ซึ่งเหยื่อจะไม่ทราบเลยว่าแท้จริงแล้วเป็นเงินสินเชื่อในนามตนเอง
ทั้งนี้ การป้องคือ หากรับโทรศัพท์จากบุคคลที่ไม่รู้จัก ควรตรวจสอบทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ควรโลภอยากได้เงินรางวัล และไม่ควรให้ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินแก่บุคคลอื่น เพราะส่วนราชการและสถาบันการเงินไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลวนตัวลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์ นอกจากนี้ต้องไม่ทำรายการที่ตู้เอทีเอ็มหรือเครื่องฝากเงินอัตโนมัติตามคำบอกของผู้อื่น ควรสอบถามข้อเท็จจริงกับสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึงหรือใช้บริการ โดยหากได้รับแจ้งว่ามีผู้โอนเงินผิดเข้าบัญชี ควรสอบถามสถาบันการเงินถึงที่มาของเงิน ถ้าหากเป็นเงินที่มีการโอนผิดเข้ามาจริง จะต้องให้สถาบันการเงินเป็นผู้ดำเนินการโอนเงินคืนเท่านั้น
สิ่งที่ควรทำเมื่อตกเป็นเหยื่อ มีดังนี้ รวบรวมหลักฐานและข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าของสถาบันการเงินเพื่อระงับการโอนและการถอนเงิน หากไม่สามารถระงับการโอนเงินได้ ให้รวบรวมหลักฐานและข้อมูลต่าง ๆ แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งลงบันทึกประจำวัน ณ ท้องที่เกิดเหตุ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการระงับการถอนเงินออกจากบัญชีที่โอนไป และแจ้งระงับการถอนเงินออกจากบัญชีที่โอนไปกับสถาบันการเงินที่ใช้บริการ โดยสถาบันการเงินจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน จึงจะสามารถคืนเงินได้ นอกจากนี้แจ้งเบาะแสไปยัง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
ขอบคุณข้อมูลจาก : “ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย”