เปิดตำรา รู้ทันโรค ตอนที่ 5 “โรคมือ เท้า ปาก” ภัยร้ายสุขภาพเด็ก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ในช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่หน้าฝน นอกจากพ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลรักษาสุขภาพตนเองแล้ว แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะดูแลสุขภาพลูกหลานของตัวท่านเองด้วย เพราะในหน้าฝนนี้นอกจากจะมีโรคที่เกิดขึ้นบ่อยกับผู้ใหญ่แล้ว ก็ยังมีโรคที่เกิดขึ้นบ่อยในเด็กด้วย นั่นคือ “โรคมือ เท้า ปาก”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน โรคมือ เท้า ปาก จะเจอบ่อยกว่าในฤดูกาลอื่นๆ เนื่องจากอากาศและสถานที่ต่างๆมีความชื้น และความชื้นนั่นเอง ที่เป็นสาเหตุหลักในการเกิดโรคนี้ วันนี้เรามาทำความรู้จักและเรียนรู้วิธีการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ไปพร้อมๆกันใน “เปิดตำรา รู้ทันโรค ตอน โรคมือ เท้า ปาก”

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง บอกกับทีมนิวมีเดียพีพีทีวี ถึงที่มาของโรคมือ เท้า ปาก ว่าเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กอายุไม่เกิน 10 ปี และพบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนผู้ใหญ่ยังพอพบเจออยู่บ้าง การติดต่อของโรคนั้นติดต่อค่อนข้างง่าย โดยผ่านการสัมผัส โดนน้ำลาย การกินอาหาร และการดื่มน้ำ รวมถึงการจับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้ออยู่

โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัส Coxsackievirus A16 (คอกแซคกี้ ไวรัส เอ) โดยเด็กที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้อาการจะไม่รุนแรง และสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 7-10วัน ส่วนไวรัส Enterovirus 71(เอนเทโรไวรัส) จะมีอาการคล้ายการเป็นโปลิโอ หรือ เยื้อหุ้มสมองอักเสบที่ไม่รุนแรง ส่วนที่รุนแรงมากจนอาจทำให้เด็กเสียชีวิตจะเป็นอาการสมองอักเสบ หรือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งอาจทำให้หัวใจวายได้ โดยเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี จะมีอาการรุนแรงกว่าเด็กโต

พญ.มิ่งขวัญ ยังระบุถึงอาการของโรคมือ เท้า ปาก ที่พบบ่อยว่า อาการของโรคมือ เท้า ปาก จะมีอาการคล้ายกับการเป็นไข้หวัด มีตุ่มใส แผลร้อนในเกิดในปาก หรือ มีตุ่มแดงตุ่มใส ขึ้นตามฝ่ามือ นิ้วเท้า ฝ่าเท้า หรือก้น และมีอาการไข้ 3-7 วัน และโรคดังกล่าวอาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบส่วนก้านสมอง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือ ภาวะน้ำท่วมปอด

การรักษาโรคมือ เท้า ปาก ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง แนะนำว่า ให้ผู้ป่วยทานยาลดไข้ เป็นครั้งคราว ห้ามทานยาแอสไพริน ควรดื่มน้ำให้เยอะๆ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ หากเจ็บแผลในปากให้ผู้ป่วยทานของเหลวๆ เช่น ข้าวต้มหรือโจ๊ก รวมไปถึงของหวานๆ ควรป้อนด้วยช้อน หรือ กระบอกฉีดยา บางทีอาจจะให้ผู้ป่วยอมน้ำแข็งก้อนเล็ก หรือ น้ำเย็น และไม่ควรให้ผู้ป่วยทานเผ็ด

สุดท้าย พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ เมื่อทานยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด แผลไม่หาย แผลเริ่มพุพองเป็นหนอง มีอาการเจ็บแผลในปาก จนรับประทานข้าว ดื่มน้ำไม่ได้ หรือ อาการไม่ดีขึ้นภายใน1สัปดาห์

“เวลาจามหรือไอควรเอามือปิดปาก รับประทานอาหารควรใช้ช้อนกลาง อย่าใช้แก้วน้ำร่วมกัน ล้างมือก่อนและหลังการทำกิจกรรมต่างๆ และควรหลีกเลี่ยงในการพาเด็กๆไปในสถานที่ที่มีผู้คนเยอะ เพราะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากผู้ป่วยคนอื่น”

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ