ภาคอีสาน "อุบลฯ-นครพนม" รับมือมวลน้ำ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ที่จังหวัดอุบลราชธานี เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ มีน้ำท่วมขังถนนหลายสาย ขณะที่ชาวบ้านเตรียมอพยพไปอยู่ในพื้นที่ ที่ทางจังหวัดเตรียมไว้ให้ ด้านผู้ว่าฯ เตือนทุกฝ่ายรับมือมวลน้ำที่จะมาถึงในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ ก่อนไหลลงแม่น้ำโขง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศบาลเมืองวารินชำราบ เกิดน้ำท่วมขังตามถนน ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ทำให้ยานพาหนะใช้เส้นทางสัญจรได้เพียงช่องทางเดียวจาก 2 ช่องการจราจร โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้เดินเครื่องสูบน้ำที่นำมาติดตั้งไว้จำนวน 2 เครื่อง เพื่อผันน้ำออกจากผิวถนนลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อลดระดับน้ำท่วมถนนให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

นอกจากนี้  พายุฝนที่เกิดขึ้น ยังส่งผลกระทบกับชาวบ้าน ต้องอพยพหนีภัยแม่น้ำมูลล้นตลิ่ง มาพักอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพชั่วคราวบริเวณชุมชนเกตุแก้ว ข้างสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาอำเภอวารินชำราบ

ด้านนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำฝน ลดน้อยลงประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ส่วน ปริมาณ ตามลำน้ำสาขา ลำน้ำเซบก ลำเซบาย ลำน้ำโดมใหญ่ ลำน้ำชี สามารถระบายลงสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงได้ดี จึงคาดการณ์ว่าอำเภอที่มีพื้นที่ติดกับลำน้ำสาขา สถานการณ์จะคลี่คลายลง

ส่วนสถานการณ์แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลจากต้นน้ำจะไหลลงมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี จะไหลถึงจังหวัดอุบลราชธานี 9 สิงหาคมนี้ ขอให้ประชาชน เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมให้เจ้าหน้าที่ เตรียมช่วยเหลือทันที หากมีเหตุด่วนเกิดขึ้น

ส่วนที่จังหวัดนครพนม สถานการณ์น้ำท่วม ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง เนื่องจากยังมีพายุฝนตกลงมาซ้ำอีก  โดยเฉพาะลำน้ำสงคราม และลำน้ำอูน ยังอยู่ในภาวะวิกฤติ   เนื่องจากมีระดับน้ำสูงประมาณ 11 -12 เมตร  ถือว่าเป็นจุดวิกฤติเกินความจุประมาณ 1  เมตร  ทำให้ระดับน้ำท่วมขังในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม อ.นาหว้า อ.ท่าอุเทน และ อ.โพนสวรรค์ ยังทรงตัว  ส่วนพื้นที่ แถบลุ่มน้ำก่ำ อ.นาแก อ.วังยาง  อ.เรณูนคร และ อ.ธาตุพนม บางจุดระดับน้ำ เริ่มลดลง แต่ยังมีบางหมู่บ้าน ที่ ยังมีน้ำท่วมขังบ้านเรือน  คาดว่าต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5 -6 วัน หากไม่มีฝนตกซ้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้  จังหวัดนครพนม ได้ประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัยเพิ่ม จากพื้นที่ 7 อำเภอ มีอีก 3 อำเภอที่ได้รับผลกระทบ รวมเป็นทั้งหมด 10 อำเภอ จากพื้นที่ทั้งหมด 12 อำเภอ  มีพื้นที่การเกษตรนาข้าวได้รับความเสียหาย รวมกว่า 2 แสนไร่  ประชาชนได้รับความเดือดร้อน  20,612 ครัวเรือน  รวม 62,561 คน  มีถนนสัญจรได้รับความเสียหาย กว่า 60 สาย  ซึ่งอยู่ระหว่างการระดมตรวจสอบให้การช่วยเหลือ จากหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชนต่อเนื่อง 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ