น้ำท่วมอีสานหลายพื้นที่ยังไม่คลี่คลาย จับตาพิเศษ “เขื่อนอุบลรัตน์”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สถานการณ์น้ำในภาคอีสานยังคงต้องเฝ้าระวัง เพราะยังเหลือเวลาอีก 2 เดือนสำหรับช่วงฤดูฝนนี้ แต่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่นั้นมีปริมาณสูงเกินกว่าระดับกักเก็บแล้ว อย่างเช่นเขื่อนอุบลรัตน์ ที่กรมชลประทานยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะไม่พอรองรับปริมาณน้ำฝนช่วง 2 เดือนนี้ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะที่ท้ายเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ยังต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงอาหารเข้าไปช่วย

วันนี้ (8 ส.ค.60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดสกลนคร เจ้าหน้าที่ใช้เฮลิคอปเตอร์และเรือลำเลียงความช่วยเหลือส่งให้ชาวบ้านในบ้านคอกใหญ่ อำเภอพรรณนานิคม ที่ยังคงถูกน้ำท่วมสูง เป็นผลมาจากปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้ำอูนยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำกักเก็บกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 125% ของความจุเขื่อน ทำให้น้ำล้นสปิลเวย์ลงสู่ลำน้ำอูนจำนวนมาก เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ยังคงประกาศเตือนชาวบ้านท้ายเขื่อนให้เฝ้าระวังสถานการณ์ใกล้ชิด  ส่วนในเขตอำเภอเมือง หมู่บ้านดอนแคน ต.หนองลาด น้ำยังคงท่วมบ้านเรือนประชาชน สถานที่ราชการ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน ศูนย์เด็กเล็ก โดยเฉพาะโรงเรียนบ้านดอนแคนผดุงราษฎร์ผดุงวิทย์ เปิดสอนชั้นอนุบาล จนถึงชั้น ม.3 น้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ห้องสมุด อุปกรณ์การเรียนเสียหายทั้งหมด ไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ นักเรียนกว่า 300 คนต้องหยุดการเรียน

จากการสอบถามชาวบ้านบอกว่าน้ำอูนลดระดับอย่างล่าช้าเนื่องจากมีน้ำจากเขื่อนน้ำอูนที่ล้นสปิลเวย์ไหลลงมาสมทบอย่างต่อเนื่อง กรรมการหมู่บ้านต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกลชิดหากมีฝนตกลงมาปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นอีกหากไม่ปลอดภัยจะประกาศอพยพทันที อย่างไรก็ตามคาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่าน้ำจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติแล้วชาวบ้านจะเร่งเข้าฟื้นฟูอาคารเรียน

ขณะที่ลุ่มน้ำสงคราม ในอำเภอศรีสงคราม และอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ยังมีน้ำไหลลงมาสมทบต่อเนื่อง และเอ่อล้นพื้นที่การเกษตร รวมถึงชุมชน โดยเฉพาะต.นาคูณใหญ่ ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านนานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว  ส่วนกระแสน้ำไหลเชี่ยว กัดเซาะบ้านที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำสงคราม จนดินสไลด์ตัว ทำให้บริเวณที่เป็นครัวจมหายไปในแม่น้ำ เจ้าของบ้านต้องรีบอพยพสิ่งของไปอยู่ในที่ปลอดภัย

สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งปล่อยน้ำลงมาที่แม้น้ำพอง ลงสู่แม่น้ำชี เมื่อดูค่าเฉลี่ยการกักเก็บน้ำในแต่ละปีของเขื่อนอุบลรัตน์ เห็นชัดเจนว่าปริมาตรน้ำกักเก็บของปีนี้สูงกว่า และมาเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของตัวเลขตลอด 10 ปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันอย่างชัดเจน ซึ่งระดับน้ำกักเก็บสูงสุดของเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ที่ 182 เมตร แต่ปัจจุบันระดับน้ำขึ้นมาแตะอยู่ที่ 179.5 เมตรแล้ว เหลืออีกเพียง 2 เมตร 50 เซนติเมตร น้ำจะล้นสปีลเวย์  ทาง กฟผ.จึงมีความเห็นว่า จำเป็นต้องเร่งพร่องน้ำออก เพราะยังต้องรับน้ำในฤดูฝนอีกประมาณ 2 เดือน ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากที่น้ำจะเต็มหรือล้นเขื่อน โดยตอนนี้เขื่อนปล่อยน้ำประมาณวันละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีน้ำเข้าเขื่อนวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ทาง กฟผ.ก็ยอมรับว่า ไม่สามารถปล่อยน้ำเพิ่มได้ในเวลานี้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำที่น้ำท่วมอยู่แล้ว อย่างจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นี่จึงเป็นเหตุผลให้ที่ประชุมกรมชลประทานและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ต้องจับตาเขื่อนอุบลรัตน์เป็นพิเศษ

แม้การเพิ่มอัตราพร่องน้ำออกจากเขื่อนอุบลรัตน์ยังทำไม่ได้ตอนนี้ แต่หากมีฝนตกลงลงมาเพิ่ม และระดับน้ำกักเก็บขึ้นไปแตะขอบสูงสุดที่ 182 เมตร กองจัดการทรัพยากรน้ำ กฟผ. ระบุว่า จะมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆปากเขื่อนได้รับผลกระทบราวหนึ่งหมื่นคน

นอกจากเขื่อนอุบลรัตน์แล้ว วันนี้กรมชลประทานได้ออกประกาศเร่งระบายน้ำที่เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเพิ่มเติม หลังจากมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมาก ซึ่งกรมชลประทานชี้แจงว่าจะทำระดับน้ำในแม่น้ำแควยกระดาบสูงขึ้นประมาณ 90 เซนติเมตร แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน  ส่วนที่เขื่อนลำปาว ซึ่งจะปล่อยน้ำลงมาที่แม่น้ำชีเช่นกัน ในวันนี้มีปริมาตรน้ำเก็บกักที่ 88 เปอร์เซ็นต์

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ