ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยร็อกกี้เฟลเลอร์ ในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ ได้ผลิตสารประกอบที่ใช้ชื่อว่า R-U 505 โดย ดอกเตอร์ ซิดนีย์ สติกแลนด์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยดังกล่าว ระบุว่าจากการทดลองในหนูพบว่าสารประกอบที่สร้างขึ้นมานี้สามารถทำลาย “ไฟบริน” ซึ่งเป็นโปรตีนที่ก่อให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน และ อะไมลอยด์ เบต้า ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีความสัมพันธ์กับโรคอัลไซเมอร์
ขณะที่ เอริน นอริส ผู้ช่วยศาสตราจารย์สายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเปิดเผยว่าการทดสอบด้วยการทำให้หนูมีอาการอัลไซเมอร์ แล้วจึงฉีดสารประกอบ R-U 505 เข้าไปในหนูกลุ่มนี้ ผลปรากฏว่าสามารถลดปริมาณการอักเสบภายในสมอง และช่วยทำให้หนูเหล่านี้ไม่มีหรือลดอาการบกพร่องในการเรียนรู้เมื่อเทียบกับหนูปกติในอายุเท่ากันและอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การผลิตสารประกอบ R-U 505 เพื่อใช้กับมนุษย์ยังอาจต้องใช้เวลาหลายสิบปี จึงจะนำมาใช้กับมนุษย์ได้ แต่ก็ถือเป็นอีกความหวังหนึ่งในการช่วยผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่คาดว่าจะมีมากถึง 130 ล้านคน ในปี 2050 ซึ่งการทดสอบยารักษาอาการอัลไซเมอร์ยังคงล้มเหลว ขณะที่บริษัทยาบางแห่งได้ยกเลิกกระบวนการวิจัยและพัฒนายาเพื่อรักษาโรคดังกล่าวไปแล้ว