วันนี้ (2 ก.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระยะทาง 763 เมตรจากปากถ้ำ คือ เส้นทางที่ทีมงานของผู้ช่วยศาสตราจารย์อัษฎางค์ โปราณานนท์ เคยเข้าไปสำรวจในช่วงปี 2537-2538 แม้จุดที่สำรวจจะห่างไกลจากบริเวณที่เรียกว่าหาดพัทยา พื้นที่ ๆ ถูกคาดการณ์ว่าเป็นจุดที่ผู้สูญหายทั้ง 13 คน จะไปพักคอยอยู่ แต่รายละเอียดของแผนที่จากการสำรวจอาจทำให้เห็นสภาพพื้นที่ในถ้ำมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากปากทางเข้าหลังเดินผ่านศาลเจ้าแม่นางนอน จะเข้าสู่พื้นที่ที่ถูกเรียกว่า “เขาพระสุเมรุ” ถัดไปประมาณ 100 เมตร เป็นจุดที่เรียกว่าท้องฟ้าจำลอง, ประตูสุขเกษมเมืองเพชร, ถ้ำกระดูก, เจดีย์ทราย, ลานเพลิน, นครลอยฟ้า และเมืองลับแล แต่ละจุดแม้จะห่างกันไม่มากนัก แต่ตลอดการสำรวจจากปากถ้ำถึงเมืองลับแล ในช่วงฤดูแล้งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงในการเดินทาง
โดยในรายงานการศึกษา ระบุชัดเจนว่า การเดินสำรวจเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะมีทั้งหลุมขรุขระ และทางลาดชัน ทีมศึกษา กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนการเข้าไปในถ้ำทำได้เพียงระยะ 300 เมตรจากปากถ้ำเท่านั้นเพราะมีน้ำท่วมเต็มพื้นที่ ด้านรองศาสตราจารย์ รวี หาญเผชิญ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในทีมสำรวจขณะนั้นซึ่งเป็นผู้จัดทำแผนที่ ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวพีพีทีวีว่า เส้นทางภายในถ้ำมีลักษณะวกวน ทำให้หลงทางได้ง่าย
ขณะที่สอดคล้องกับภาพนิ่งที่ผู้สื่อข่าวได้รับจาก รองศาสตร์ตราจารย์ นาฏสุดา ภูมิจำนงค์ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิชาการที่นำข้อมูลวิจัยที่มีอยู่ไปต่อยอดเข้าสำรวจถ้ำหลวงฯ ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรกจากปากถ้ำ เมื่อเดือน มีนาคม 2559 จากภาพพบว่า ในถ้ำนอกจากจะมีหินงอก หินย้อย ยังพบว่าพื้นที่ค่อนข้างแคบสลับ และมีน้ำไหลตามผนังถ้ำเกือบเวลา ในมุมมองของ รองศาสตร์ตราจารย์ นาฏสุดา มองว่า ถ้ำหลวงฯมีความสวยงาม แต่แฝงไปด้วยอันตราย
นอกจากนี้สภาพภูมิอากาศในถ้ำ แม้ช่วงสำรวจจะเป็นฤดูแล้วที่มีสภาพอากาศร้อน แต่พบว่าอุณภูมิต่ำ และมีความชื้นสูง เพราะผนังถ้ำเปียกอยู่ตลอดเวลา เมื่อสังเกตผนังถ้ำ พบคราบน้ำที่คาดว่าท่วมในฤดูฝนสูงถึง 4-5 เมตร