เอกชนนำร่องนวัตกรรมเรือไม่จม ลดการสูญเสียจากเหตุอุบัติภัย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อุบัติเหตุเรือล่มของไทยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นมาแล้วถึง 6 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่การวางแนวทางป้องกันการสูญเสียชีวิต ด้วยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยี เข้ามาช่วยให้ “เรือโดยสาร ไม่มีทางจม เมื่อเกิดอุบัติภัย” เพื่อช่วยลดการสูญเสียชีวิต

เจ้าหน้าที่จำลองวิดน้ำเข้าท้องเรือโดยสารอลูมิเนียม ขนาด 19 เมตร ของบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น เพื่อจำลองสร้างเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อมีมวลน้ำเข้ามาเต็มเรือ เสี่ยงต่อเหตุการณ์เรือล่ม ซึ่งปรากฎว่าเรือลำนี้ สามารถรักษาระดับน้ำที่ทะลักเข้ามา ในระดับข้อเท้าของผู้โดยสารเท่านั้น รวมถึงยังสามารถลอยตัวอยู่ในระดับผิวน้ำอย่างคงที่ แม้จะมีสัมภาระและผู้โดยสารเต็มที่ 86 รายภายในเรือ  ต่างจากเรือไฟเบอร์กลาส ที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวนิยมใช้ ที่จะจมลงน้ำเพียงไม่กี่นาทีหลังเกิดอุบัติเหตุ

หลักการทำงานของเรือไม่จม หรือเรือโดยสารอลูมิเนียม คือระบบช่วยการลอยตัว ด้วยการฉีดโฟมพิเศษที่มีความหนาแน่น บริเวณใต้ท้องเรือ 13 ลูกบาศก์เมตร ทำให้เรือลอยตัวระดับผิวน้ำได้อย่างคงที่ รับน้ำหนักได้ถึง 3 เท่าตัวของเรือ

อีก 1 จุดแข็งของเรือลำนี้ คือการใช้วัสดุอลูมิเนียม 5083 ที่ทนทานการกัดเซาะจากคลื่นทะเล ขึ้นรูปหล่อแบบโครงสร้างชิ้นเดียว ช่วยลดการแตกหักระหว่างเกิดอุบัติเหตุ อายุการใช้งานนานถึง 30 ปี ปัจจุบันเริ่มมีคำสั่งซื้อกว่า 10 ลำ และทางบริษัทฯ จะทยอยเปิดตัวเรือตรวจการ เรือลาดตระเวน เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย หน่วยงานราชการและผู้ประกอบการท่องเที่ยว

ที่ผ่านมาสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ได้ช่วยสนับสนุนเงินทุนในการคิดค้นนวัตกรรมเรือไม่จม จำนวน  2 ล้าน 7 แสน 9 หมื่นบาท เพื่อหวังยกระดับการบริการด้านท่องเที่ยวไทย ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะในแต่ละปี การท่องเที่ยวของไทยสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 2.5 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นสัดส่วนธุรกิจการเดินทางถึง 27 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนั้นนายประดิษฐ์ รังสูงเนิน ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า แม้ภาครัฐจะยังไม่สามารถออกกฎหมายเพื่อบังคับผู้ประกอบการในการเลือกใช้พาหนะที่มีคุณภาพสูงได้ แต่ก็ออกกฎระเบียบเพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยทางน้ำให้รัดกุมมากขึ้น พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ให้ใช้เรือและอุปกรณ์กู้ชีพให้ตรงประเภท เพื่อลดความสูญเสียให้มากที่สุด

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ