นักวิชาการ-ภาคธุรกิจเห็นด้วยประกาศแบน “ไขมันทรานส์”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลัง อย.ประกาศมกราคมปีหน้า อาหารที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจะไม่มีการใช้ไขมันทรานส์ในการผลิตอีก  หลายฝ่ายออกมาสนับสนุนนโยบายนี้ เพราะกรดไขมันชนิดนี้ย่อยสลายยาก ส่งผลต่อการทำงานของตับ หากได้รับระยะยาวเสี่ยงภาวะโรคหัวใจ ขณะที่ภาคธุรกิจตอบรับเลิกใช้ไขมันทรานส์ในการผลิตทุกชนิด

วันนี้ (17 ก.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา สั่งห้ามนำเข้า ผลิต และจำหน่าย กรดไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ใช้ในการปรุงอาหาร เช่น เบเกอรี่ โดนัท เค้ก หลังปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่าไขมันทรานส์เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีผลบังคับใช้ 180 วันหลังประกาศวันที่ 13 มิถุนายน หรือประมาณต้นปี 2562

หลังประกาศนี้ออกมาทำให้นักวิชาการออกมาสนับสนุน หนึ่งในนั้นคือ รองศาสตราจารย์ วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ โดยระบุว่า ปัจจุบันไทยนำเข้าไขมันทรานส์จำนวนมากจากต่างประเทศ โดยเฉพาะฝั่งยุโรป ในขณะที่ประเทศนั้นๆ ประกาศยกเลิกการบริโภคไปแล้ว เนื่องจากมีงานวิจัยหลายชิ้นระบุชัดว่า ไขมันทรานส์แม้จะมีราคาถูก รสชาติดี เก็บได้นาน แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายด้วยการรับประทานจะย่อยยาก ส่งผลให้ตับทำงานหนัก และเอนไซม์ไม่สามารถลดคลอเรสเตอรอลได้ เมื่อปริมาณคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ขณะที่ศูนย์บริการสุขภาพ BDMS WELLNESS CENTER ได้รวบรวมอาหารที่มีไขมันทรานส์ 9 ชนิด ที่ควรหลีกเลี่ยง ประกอบด้วย ขนมขบเคี้ยว คุกกี้ แครกเกอร์ เค้ก โดนัท ลูกชิ้น เฟรนฟรายส์ นักเก็ต และแฮมเบอร์เกอร์  โดย นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เชื่อว่า ผู้ประกอบการบางส่วนเตรียมตัวมานานแล้ว บางรายอาจใช้เวลา 3-4 เดือน ก็สามารถเปลี่ยนการผลิตโดยไม่ใช้ไขมันทรานส์ได้ ส่วนตั้งแต่ ม.ค.2562 ก็ไม่จำเป็นต้องมาดูฉลาก ว่ามีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบหรือไม่ เพราะเราห้ามทั้งหมดทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ต้องไม่มีการใช้ไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบอีกต่อไป

ด้าน ห้างเทสโก้ โลตัส และ ห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์  ออกมายืนยันว่า การผลิตเบเกอรี่ทุกชนิดไม่มีไขมันทรานส์ ส่วน บริษัท แมคไทย เจ้าของร้านแมคโดนัลด์ เปิดเผยว่า สินค้าของบริษัทใช้น้ำมันปาล์มที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานปราศจากไขมันทรานส์ เพราะทำจากซัพพลายเออร์ภายในประเทศและมีการตรวจสอบคุณภาพอยู่เสมอ เช่นเดียวกับร้านเคเอฟซีที่ออกมาระบุว่า ทุกเมนูที่ผลิตออกมาจำหน่ายปราศจากไขมันทรานส์ทั้งสิ้น

ขณะนี้แบรนด์มิสเตอร์โดนัท อยู่ระหว่างการตรวจสอบและทยอยปรับเปลี่ยนวัตถุดิบและส่วนประกอบต่างๆที่จะทำให้เกิดไขมันทรานส์ ด้านบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ขนมขบเคี้ยวในเครือเป๊ปซี่โค ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวทุกชนิด ของบริษัทฯที่ผลิตในไทย ไม่ได้มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการ เติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ แต่อย่างใด

ขณะที่  รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์  โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ได้เปิดเผยข้อมูลบนเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์  ซึ่งมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไขมันทรานส์ โดยระบุว่าประกาศนี้ ถือว่าเป็นยาแรงเพราะต่อไปนี้ผู้ผลิตจะไม่สามารถทั้งผลิตและจำหน่าย อาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแม้จะอยู่ในปริมาณน้อยก็ตาม ซึ่งดีต่อผู้บริโภคที่จะไม่ต้องคอยดูที่ฉลากให้ชัดเจนอีกต่อไปถ้าห่วงเรื่องไขมันทรานส์ เนื่องจาก ฉลากสินค้าที่มัก เขียนว่า 0 gram trans fat ตรงนี้เป็นช่องว่างในการหลบเลี่ยงตรงที่ผู้ผลิตหันไปใช้ช่องโหว่เรื่อง "ไขมันทรานส์ 0 กรัม" แทน เนื่องจากถ้าในอาหารนั้น ถึงจะมีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และน่าจะมีไขมันทรานส์มาด้วย แต่ถ้ามีปริมาณน้อยกว่าตามที่แต่ละประเทศกำหนด ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ก็มีสิทธิเขียนได้ว่า 0 gram trans fat “ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ ว่าเป็น 0% คือไม่มีอยู่เลย”

ขณะที่ในส่วนของผู้ผลิต เช่น บริษัทครีมเทียม เนยเทียม มาร์การีน ก็ต้องเปลี่ยนกรรมวิธีการผลิต จากที่เคยเอาน้ำมันพืช มาผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ก็ต้องทำให้เป็นการเติมไฮโดรเจนแบบสมบูรณ์ทั้งสายโมเลกุล หรืออาจจะหันกลับไปใช้พวกเนยจริง ครีมจริง แทน ซึ่งสำหรับคนไทยราคาสินค้าอาหารกลุ่มนี้ก็คงจะแพงขึ้น เป็นต้น

ข้อมูล เฟซบุ๊ก  อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

อ่านเพิ่มเติม : เปิดค่าไขมันทรานส์ในโดนัทช็อกโกแลตหลายยี่ห้อ สูงเกินเกณฑ์ WHO

ไขมันทรานส์ในโดนัทเกินมาตรฐาน เตือนระวังโรคหลอดเลือดหัวใจ

ก.สาธารณสุข ห้ามผลิต-นำเข้า-จำหน่ายอาหารที่มี "กรดไขมันทรานส์"

WHO เรียกร้องเลิกใช้ไขมันทรานส์ภายใน 5 ปี

ภาคธุรกิจตอบรับประกาศยกเลิก “ไขมันทรานส์” แม้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น​​​​​​​

เรื่องที่คุณอาจพลาด
วิดีโอยอดนิยม

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP ประเด็นร้อน

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ