“ไขมันทรานส์” ทำเกิดโรคหัวใจ-หลอดเลือด ส่อกระทบธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก

โดย PPTV Online

เผยแพร่

การประกาศห้ามนำเข้า ผลิต และจำหน่าย “ไขมันทรานส์” หลังข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่าเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด

ไขมันทรานส์” เป็นไขมันที่ผลิตมาจากไขมันเติมไฮโดรเจนบางส่วน ทำให้เกิดการแข็งตัว และคงทนต่ออุณหภูมิสูง เมื่อนำมาประกอบอาหาร ทำให้มีสภาพคงทนและไม่เสียง่าย พญ.ปิยะมาศ สิทธิปรีดานันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ชะลอวัย BDMS Wellness Clinic ระบุว่า ด้วยลักษณะเฉพาะของไขมันทรานส์ เมื่อบริโภคในปริมาณมาก และนาน ไขมันจะเข้าไปรบกวนกระบวน การเผาผลาญ ทำให้แอลดีแอล คอเลสเตอรอล หรือไขมันเลว สะสมมากขึ้น และเอชดีแอลคอเลสเตอรอล หรือ ไขมันดี ลดลง  ทั้งนี้ไขมันที่ไปสะสมตามผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้ตับทำงานหนัก เสี่ยงต่อโรคไขมันพอกตับหรือตับแข็ง และยังก่อให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน สาเหตุของโรคเบาหวาน


ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประมาณการว่าหากในแต่ละปีทั่วโลกลดการบริโภคไขมันทรานส์ได้ จะช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ และหลอดเลือด ได้ 500,000 คน ต่อปี

อ่านข่าวเพิ่มเติม: WHO เรียกร้องเลิกใช้ไขมันทรานส์ภายใน 5 ปี

โดยปกติ “ไขมันทรานส์” จะพบในเค้ก เบเกอรี่ ขนมปัง โดนัท คุกกี้ ที่มีส่วนผสมของครีมเทียม เนยเทียม แต่ในอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ อย่าง เฟรนซ์ฟราย ก็มีไขมันทรานส์เช่นกัน เนื่องจากน้ำมันที่ถูกทอดซ้ำ จะเกิดปฏิกิริยาระหว่างน้ำมันกับไฮโดรเจน ซึ่งเป็นกระบวนการเกิดไขมันทรานส์

ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า การที่ อย. อนุญาตให้อาหารที่มีไขมันน้อยกว่า 0.5 เปอร์เซ็นต่อหนึ่งหน่วยบริโภค สามารถเขียนฉลากโภชนาการว่าไขมัน 0 เปอร์เซ็นต์ได้ เป็นเกณฑ์มาตรฐานสากล เพราะปริมาณน้อย ไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ แต่หลังจากนี้อีก 6 เดือน จะสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์อาหารว่ามีส่วนประกอบของไขมันทรานส์หรือไม่ โดยจะเน้นที่ผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก

สภาอุตฯ คาด แบนไขมันทรานส์ ส่งผลกระทบผู้ผลิตรายย่อย

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า การประกาศห้ามผลิต จำหน่าย และนำเข้าไขมันทรานส์ จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดเล็ก ส่วนรายใหญ่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ เพราะมีเวลาในการเตรียมตัวอีก 6 เดือน แต่การยกเลิกใช้ไขมันทรานส์ จะทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมอาหารสูงขึ้น อาจทำให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องปรับสูงขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม: ภาคธุรกิจตอบรับประกาศยกเลิก “ไขมันทรานส์” แม้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

 ขณะที่ นายบุญฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในจะจับตาการขึ้นราคาของสินค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นของจำเป็น จะต้องไม่ให้เกิดผลกระทบ

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ