“ไขมันทรานส์” คืออะไร ถึงคร่าคนได้ทั้งโลก 5 แสนคนต่อปี


โดย Kochaphan Suksujit

เผยแพร่




“ไขมันทรานส์” เป็นเหมือนภัยเงียบที่แฝงอยู่กับพฤติกรรมการกินของคนไทย เพราะส่วนใหญ่อยู่ในอาหาร ขนม คุกกี้ เบเกอรี่ ขนมปังปิ้ง ที่ใช้มาการีนเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งเพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่าหลายเท่า แต่กลับสร้างโรคร้ายให้กับร่างกายอย่างเงียบๆ ซึ่งฆาตรกรร้ายนี้กำลังจะหมดไปภายใน 6 เดือนนับจากนี้ ด้านนักวิชาการ-แพทย์ ย้ำ ฉลากสินค้าแม้จะ เขียนว่า "0 เปอร์เซ็นต์ trans fat " ไม่ได้หมายถึงไม่มีไขมันทรานส์เลย"

กรด “ไขมันทรานส์”  (Trans Fatty Acids) คือ ...

ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ 13 ก.ค. 2561 บอกว่า...

ไขมันทรานส์ คือ น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) คือถูกสร้างขึ้นจากน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการที่ใช้ไฮโดรเจน เพื่อให้น้ำมันกลายมาเป็นไขมันแข็ง

จะพบเจอ “ไขมันทรานส์” ได้ที่...

เนยขาว เนยเทียม คุ้กกี้ โดนัท วิปครีม ขนมขบเคี้ยว และอาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ มันฝรั่งทอด ขนมปัง เค้ก และของทอดต่าง ๆ ฯลฯ

“ไขมันทรานส์” ทำไมถึงอันตราย...

เพราะ ... ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด เส้นเลือดอุดตันในสมอง

อ่านข่าวไขมันทรานส์เพิ่มเติม >>> แพทย์ชี้อาหารทอดซ้ำมี "ไขมันทรานส์" แนะประชาชนเลี่ยงบริโภค

“ไขมันทรานส์” เป็นฆาตกรเงียบที่โลกต้องหยุด

องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องทั่วโลกยกเลิกการใช้ไขมันทรานส์ในอาหารภายในปี 2023 หวังลดการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือด และหัวใจ โดยแนะนำแบบเป็นขั้นตอนสำหรับรัฐบาลทั่วโลกในการกำจัดกรดไขมันทรานส์ คือเอาออกจากสายการผลิตอาหารทั่วโลก

อ่านข่าวไขมันทรานส์เพิ่มเติม >>> ภาคธุรกิจตอบรับประกาศยกเลิก “ไขมันทรานส์” แม้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

เรียกว่า รีเพลซ” (REPLACE)”  คือ ...

ยุทธศาสตร์ 6 ขั้นตอนที่จะสามารถกำจัดไขมันทรานส์ได้อย่าง รวดเร็ว หมดจด ยั่งยืน

     1. RE มาจากคำว่า Review หมายถึง การตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของไขมันทรานส์ เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายตามความเหมาะสม                                                  

     2. P มาจากคำว่า Promote หมายถึง สนับสนุนการใช้ไขมันประเภทอื่นแทนไขมันทรานส์

     3. L มาจากคำว่า Legislate หมายถึง การออกกฎหมายข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อกำจัดไขมันทรานส์

     4. A มาจากคำว่า Assess หมายถึง คอยตรวจสอบปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหาร และปริมาณการบริโภคไขมันทรานส์ของประชาชน

     5. C  มาจากคำว่า Create หมายถึง การสร้างความตระหนักถึงผลเสียที่ไขมันทรานส์มีต่อสุขภาพ ทั้งในทางภาครัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชน

     6. E มาจากคำว่า Enforce หมายถึง การบังคับใช้กฎหมายข้อบังคับต่างๆ

คร่าชีวิตคนกว่า “ครึ่งล้าน”

ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดและหัวใจเนื่องจากการบริโภคไขมันทรานส์ “มากกว่า 5 แสนคน”

 

สาเหตุที่ผู้ผลิต กลุ่มธุรกิจอาหาร นิยมใช้ “ไขมันทรานส์” เพราะ...

“ราคาถูก” “เก็บได้นานกว่าน้ำมันตามธรรมชาติ” รวมทั้งสามารถ “นำกลับมาให้ความร้อนได้หลายๆ ครั้ง” แม้ว่าจะมีตัวเลือกอื่นที่ดีต่อสุขภาพ และสามารถใช้ได้โดยไม่กระทบกับรสชาติและราคาของอาหารอยู่แล้วก็ตาม

ความตื่นตัวในการหยุดบริโภค “ไขมันทรานส์”

อ่านข่าวไขมันทรานส์เพิ่มเติม >>> WHO เรียกร้องเลิกใช้ไขมันทรานส์ภายใน 5 ปี

องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าว่าจะสามารถกำจัดไขมันทรานส์ออกจากอุตสาหกรรมผลิตอาหารได้ภายในปี 2023 หรือ 5 ปีข้างหน้า ภายใต้คำแนะนำนี้

“ประเทศเดนมาร์ก” คือต้นแบบยกเลิกไขมันทรานส์ เพราะ...มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจลดลงอย่างรวดเร็วและเป็นประเทศนำร่องในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตโรคหลอดเลือดหัวใจลดลงถึง 70% อย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ตื่นตัวในเรื่องนี้ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา อังกฤษ สหรัฐฯ  โดยสหรัฐฯ กำหนดด้วยว่าอาหารที่ผลิตในกระบวนการอุตสาหกรรมที่จะเอามาขายในสหรัฐฯบนฉลากจะต้องระบุว่ามี "ไขมันทรานส์สัดส่วนเท่าไหร่ให้ชัดเจน"

สำหรับเมืองไทย...

ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ล่าสุดประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย “ไขมันทรานส์” มีผลบังคับใช้อีก 180 วัน เผยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ระบุว่า ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils)

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย

ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งนี้ อาหารที่มีกรดไขมันทรานส์อยู่มาก เช่น เนยขาว เนยเทียม คุ้กกี้ โดนัท วิปครีม ขนมขบเคี้ยว และอาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2561 

นักวิชาการ-แพทย์ ย้ำฉลากสินค้าที่มัก เขียนว่า 0 gram trans fat "ไม่ได้หมายถึงไม่มีไขมันทรานส์เลย"

ขณะที่  รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์  โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ได้เปิดเผยข้อมูลบนเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์  ซึ่งมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไขมันทรานส์ โดยระบุว่าประกาศนี้ ถือว่าเป็นยาแรงเพราะต่อไปนี้ผู้ผลิตจะไม่สามารถทั้งผลิตและจำหน่าย อาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแม้จะอยู่ในปริมาณน้อยก็ตาม ซึ่งดีต่อผู้บริโภคที่จะไม่ต้องคอยดูที่ฉลากให้ชัดเจนอีกต่อไปถ้าห่วงเรื่องไขมันทรานส์ เนื่องจาก ฉลากสินค้าที่มัก เขียนว่า 0 gram trans fat ตรงนี้เป็นช่องว่างในการหลบเลี่ยงตรงที่ผู้ผลิตหันไปใช้ช่องโหว่เรื่อง "ไขมันทรานส์ 0 กรัม" แทน เนื่องจากถ้าในอาหารนั้น ถึงจะมีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และน่าจะมีไขมันทรานส์มาด้วย แต่ถ้ามีปริมาณน้อยกว่าตามที่แต่ละประเทศกำหนด ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ก็มีสิทธิเขียนได้ว่า 0 gram trans fat “ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ ว่าเป็น 0% คือไม่มีอยู่เลย”

สอดคล้องกับ พญ.ปิยะมาศ สิทธิปรีดานันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ชะลอวัย ประจำ BDMS Wellness Clinic บอกว่า ไขมัน 0% ไม่ได้หมายความว่าไม่มีไขมันทรานส์ หรือไขมันชนิดอื่น เพราะตามกฎหมายขององค์การอาหารและยาระบุว่า "หากมีไขมันต่ำกว่า 0.5% สามารถระบุว่าเป็น 0% ได้" และไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเขียนระบุว่าในอาหารมีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบกี่เปอร์เซ็นต์

มูลนิธิผู้บริโภค ออก เตือน “โดนัทในเมืองไทย 8 ยี่ห้อ” ไขมัน ทรานส์สูงเกินเกณฑ์

โดยเปิดเผยผลทดสอบไขมันทรานส์จากโดนัทช็อกโกแลต 13 ยี่ห้อ พบ 8 ยี่ห้อ พบว่ามีปริมาณไขมันทรานส์สูงเกินเกณฑ์องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด คือ เกินกว่า 0.5 กรัมหน่วยบริโภค โดย รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ระบุว่า การบริโภคไขมันทรานส์เกินกว่า 2.2 กรัมต่อวัน สามารถเพิ่มระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และทำให้ระดับไขมันดี (HDL) ลดลง ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจ และความดัน

นับจากนี้ อีก 180 วัน ต้องติดตามดูว่า ไขมันทรานส์จะหมดไปจากเมืองไทยหรือไม่

ขอบคุณข้อมูล สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, องค์การอนามัยโลก, เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

ภาพ AFP

 

อ่านเพิ่มเติมเรื่องของ "ไขมันทรานส์"

ก.สาธารณสุข ห้ามผลิต-นำเข้า-จำหน่ายอาหารที่มี "กรดไขมันทรานส์"

ไขมันทรานส์ในโดนัทเกินมาตรฐาน เตือนระวังโรคหลอดเลือดหัวใจ
 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ