จากข้อมูลทางการตลาดของเพจลงทุนแมน ระบุว่า มูลค่าตลาดของโดนัทปี 2016 ของไทยอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท เติบโตปีละประมาณ 7-10% โดยมิสเตอร์โดนัท (Mister Donut) มี 340 สาขา ส่วนแบ่งตลาด 60% บริหารโดยบริษัท Central Restaurant Group, ดังกิ้น โดนัท (Dunkin Donuts) มี 295 สาขา ส่วนแบ่งตลาด 20% บริหารโดยบริษัท มัดแมน (MM), คริสปีครีม (Krispy Kreme) มี 26 สาขา ส่วนแบ่งตลาด 10% บริหารโดยบริษัท KDN ของตระกูลมหากิจศิริ แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงนิยมรับประทานโดนัทเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นของว่างที่สามารถหาซื้อมารับประทานได้ง่าย และมีรสชาติอร่อยถูกปากผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย
แต่จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดย รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยผลทดสอบไขมันทรานส์ในโดนัทช็อกโกแลต ที่ทำการเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 13 ยี่ห้อที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำการทดสอบ พบว่าโดนัทช็อกโกแลตจำนวน 8 ยี่ห้อ มีปริมาณไขมันทรานส์สูงเกินเกณฑ์องค์การอนามัยโลกกำหนด คือ เกินกว่า 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
โดยมีผลการทดสอบไขมันทรานส์ดังนี้ 1.ซับไลม์โดนัท (Sublime Doughnuts โดนัท ดาร์กช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 4.5913 กรัมต่อชิ้น 2.ฟู้ดส์แลนด์ (Foodland โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 3.0484 กรัมต่อชิ้น 3.ดังกิ้น โดนัท(Dunkin Donuts ช็อกโกแลต ฟลาวเวอร์) มีปริมาณไขมันทรานส์ 2.7553 กรัมต่อชิ้น 4.เทสโก้ โลตัส(โดนัทรวมรส รสช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 1.7449 กรัมต่อชิ้น 5.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.9560 กรัมต่อชิ้น 6.มิสเตอร์โดนัท (mister Donut ChocRing Classic)มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.8690 กรัมต่อชิ้น 7.เอ็น.เค.โดนัท (NK Donut ริงจิ๋ว ช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.8626 กรัมต่อชิ้น 8.ยามาซากิ(Yamazaki โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.7542 กรัมต่อชิ้น 9.คริสปี้ครีม (Krispy Keene Doughnuts ช็อกโกแลต ไอซ์ เกลซ) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.2067 กรัมต่อชิ้น 10.เบรดทอล์ค(BreadTalk โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.2029 กรัมต่อชิ้น 11.แซง-เอ-ตัวล (Saint Etoile โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.1272 กรัมต่อชิ้น 12.เฟลเวอร์ ฟิลด์(Flavor Field โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.0824 กรัมต่อชิ้น และ13.แด๊ดดี้ โด(Daddy Dough ดับเบิ้ล ช็อค) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.0729 กรัมต่อชิ้น
รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า การบริโภคไขมันทรานส์เกินกว่า 2.2 กรัมต่อวัน สามารถเพิ่มระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และทำให้ระดับไขมันดี (HDL) ลดลง ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจและความดัน รวมถึงอาจทำให้มีการอักเสบของผนังหลอดเลือด ซึ่งทำให้หลอดเลือดตีบได้ง่าย ผู้บริโภคจึงควรพิจารณาในการเลือกรับประทานโดนัทในปริมาณที่เหมาะสม
ทั้งนี้ การออกกำลังกายไม่สามารถช่วยให้ไขมันทรานส์สลายไปได้ ไขมันเป็นโมเลกุลของสาร ในลักษณะของสิ่งแปลกปลอม ทำให้ตับต้องทำงานหนัก และอาจนำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับได้
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เคยให้ข้อมูลว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างประกาศ กำหนดห้ามนำส่วนประกอบอาหารที่มีไขมันทรานส์มาผลิตอาหาร หรือ ห้ามเติมไฮโดรเจนลงในกระบวนผลิตน้ำมัน จึงอยากให้ทาง อย. เร่งดำเนินการนำเรื่องนี้ไปพิจารณาและออกเป็นกฎหมายบังคับใช้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ขณะที่ ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายแหล่งการเกิดของไขมันทรานส์ ว่า เกิดได้จาก 3 ที่มาด้วยกันคือ 1.แหล่งธรรมชาติ จากนม เนย ที่มีไขมันมาก ก็จะยิ่งมีโอกาสเกิดไขมันทรานส์ได้มาก เนื้อสัตว์ติดมัน เช่น เนื้อวัว ควาย แกะ และแพะ เป็นต้น 2.น้ำมันพืช ที่มีกระบวนการทำให้เกิดความร้อนให้เป็นน้ำมันบริสุทธิ์ และ 3. น้ำมันซึ่งผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน partially hydrogenated oils หรือ PHOs ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ของไขมันทรานส์สังเคราะห์
ทั้งนี้ แต่เดิมกระบวนการทอดอาหารให้มีความกรอบอร่อย จะทำโดยการใช้น้ำมันหมู และน้ำมันมะพร้าวในการทอดให้กรอบ แต่ต่อมาชาวต่างชาติได้มองว่าน้ำมันสัตว์มีราคาสูง และโคเลสเตอรอลจำนวนมาก ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ใช้วิธีการทางเคมี นั่นก็คือน้ำมันที่ผ่านกรรมวิธี หรือน้ำมันที่ถูกเติมด้วยไฮโดรเจนมาทดแทน ทั้งการทำเบเกอรี่ ไก่ทอด และของทอดอีกหลายชนิด และวิธีการแบบนี้ก็แพร่หลายในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย
ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกา ได้ออกประกาศให้อาหารที่จำหน่ายในประเทศ ต้องระบุปริมาณกรดไขมันทรานส์บนฉลากโภชนาการ โดยกำหนดให้มีปริมาณไขมันทรานส์ต้องน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค รวมถึงประเทศอื่นทั่วโลกได้มีการระบุปริมาณไขมันทรานส์ลงบนฉลากอาหารเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการเลือกซื้อด้วยตัวเอง แต่ในประเทศไทยยังไม่ได้มีกฎหมายบังคับใช้อย่างชัดเจน ทำให้ยังมีผู้ประกอบการบางส่วนยังไม่เปลี่ยนวิธีการผลิต และยังคงใช้ไขมันทรานส์ในการผลิตอาหารอยู่ ขณะที่บางส่วนได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนวิธีการโดยใช้กระบวนการอื่นๆทดแทนแล้ว
อ่านเพิ่มเติม : นักวิชาการ-ภาคธุรกิจเห็นด้วยประกาศแบน “ไขมันทรานส์”
ไขมันทรานส์ในโดนัทเกินมาตรฐาน เตือนระวังโรคหลอดเลือดหัวใจ
ก.สาธารณสุข ห้ามผลิต-นำเข้า-จำหน่ายอาหารที่มี "กรดไขมันทรานส์"
WHO เรียกร้องเลิกใช้ไขมันทรานส์ภายใน 5 ปี
ภาคธุรกิจตอบรับประกาศยกเลิก “ไขมันทรานส์” แม้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด