องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ ปล่อยยานสำรวจ เพื่อเริ่มทำภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์ในระยะใกล้ชิดที่สุดเท่าที่เคยมีการสำรวจมา
เมื่อช่วงเช้ามืดวันนี้ ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับช่วงประมาณ15.00 น.วันนี้ (12 ส.ค.61) ตามเวลาบ้านเรา องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ นาซา ได้ทำการปล่อยจรวด ขึ้นจากฐานปล่อยบนแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา ของสหรัฐฯ เพื่อส่งยานสำรวจ “ปาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ” (Parker Solar Probe) มุ่งหน้าขึ้นสู่ดวงอาทิตย์
โดยนาซา ได้เชิญ ศาสตราจารย์ ยูจีน ปาร์กเกอร์ นักฟิสิกส์ดวงอาทิตย์วัย 91 ปี ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งชื่อยานสำรวจ “ปาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ” มาร่วมชมการปล่อยจรวดในครั้งนี้ด้วย
ภารกิจในวันนี้ มีขึ้นท่ามกลางสภาพอากาศที่เหมาะสม หลังจากที่เมื่อวานนี้ 11 ส.ค.61 นาซาจำเป็นต้องประกาศเลื่อนการส่งยานดังกล่าวออกไปอย่างน้อย 24 ชั่วโมง โดยให้เหตุผลว่าตรวจพบปัญหาเชิงเทคนิคในนาทีสุดท้าย
สำหรับยานสำรวจ “ปาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ” จะเดินทางมุ่งหน้าสู่ชั้นบรรยากาศนอกสุดของดวงอาทิตย์ที่เราเรียกกันว่า “โคโรนา” เพื่อศึกษาลมสุริยะที่มีผลกระทบกับโลกและระบบสุริยะจักรวาล ซึ่งจะกินเวลาทั้งสิ้น 7 ปี
โดยยานจะใช้เวลา 6 สัปดาห์ เดินทางผ่านดาวศุกร์ และจะเดินทางถึงดวงอาทิตย์ในอีก 6 สัปดาห์ต่อมา โดยในช่วงที่ยานอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ที่สุด จะมีความเร็วอยู่ที่ประมาณ 7 แสนกิโลเมตรต่อชั่วโมง เทียบให้เห็นง่ายๆ คือ เร็วพอที่จะทำให้เราเดินทางจากเมืองฟิลาเดลเฟีย ของรัฐเพนซิลเวเนีย ไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซี ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 200 กิโลเมตร ได้ภายในเวลา 1 วินาที จากเดิมที่ใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆ
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้